น้ำแข็งเพื่อการผ่าตัดเปิดช่องอก ฝีมือเด็กวิศวะเครื่องกล มจธ.

ข่าวทั่วไป Thursday June 30, 2016 15:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 มิ.ย.--มจธ. นักศึกษาระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ผลิต Sterile Surgical Slush Machine ซึ่งคือเครื่องทำน้ำแข็งสำหรับใช้ในการผ่าตัดสำเร็จ โดยผลงานดังกล่าวเป็นโครงงานระดับปริญญาตรีปีสุดท้ายของนายธนัช จิวโพธิ์เจริญ นายเอกพล จิตวิริยะ และนายชาครีย์ บ่ายเมืองจาก FUTURE Lab. ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. ศ.ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานเปิดเผยว่า การผ่าตัดหัวใจโดยการเปิดช่องอกของผู้ป่วย จำเป็นต้องใช้น้ำแข็งซึ่งได้จากการแช่น้ำเกลือที่ใช้ทางการแพทย์อย่างน้อย3 ชั่วโมง เมื่อจะใช้ต้องนำออกมาไว้ในอุณหภูมิห้องก่อน 1 ชั่วโมงแล้วจึงนำมาทุบด้วยของแข็งให้ละเอียดก่อนใส่ลงไปที่หัวใจเพื่อรักษาหัวใจให้สดและไม่ให้กล้ามเนื้อหัวใจได้รับผลกระทบขณะหัวใจหยุดเต้นระหว่างการผ่าตัด ซึ่งแพทย์ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูงในการใช้น้ำแข็งที่ผ่านการทุบ เพราะบางครั้งอาจมีความแหลมคมหรือมีเศษพลาสติกติดมาด้วย เมื่อพบประเด็นปัญหาดังกล่าว อ.สมชาย จึงนำมาเป็นโจทย์ให้กับนักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 ในการแก้ไขปัญหา "โจทย์คือเราจะทำน้ำแข็งเพื่อใช้ในการผ่าตัดจากน้ำเกลือได้อย่างไร โดยที่เราไม่ต้องไปสัมผัสกับน้ำแข็ง หรือให้ผ่านกระบวนการต่างๆน้อยที่สุด เพื่อความสะอาด ปลอดภัย และสะดวก" ซึ่งกว่าจะสำเร็จก็ต้องผ่านการพัฒนาอุปกรณ์ด้วยวิธีต่างๆ โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ถึง 3 รุ่นติดต่อกัน จนประสบความสำเร็จในรุ่นที่ 3 นี้ ด้านทีมนักศึกษาอธิบายว่า ได้ทำการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจากรุ่นพี่ พร้อมกับนำข้อมูลจากห้องผ่าตัดของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มาวิเคราะห์ปัญหา โดยใช้เวลา 1 ปีในการประดิษฐ์ โดยเครื่องทำน้ำแข็งดังกล่าว ประกอบด้วยชุดอุปกรณ์หลักๆ เพียง 2 อย่าง คือ ระบบทำความเย็นและอุปกรณ์ทำให้ภาชนะใส่น้ำเกลือเคลื่อนที่ ขั้นตอนการใช้งาน จะนำแผ่นพลาสติกที่ผ่านการฆ่าเชื้อมารองถาดทรงโดม จากนั้นจึงใส่น้ำเกลือปริมาตร 1,000 cc ลงไป แล้วเริ่มเดินเครื่องเท่านี้เครื่องก็สามารถทำน้ำแข็งจากน้ำเกลือให้ออกมาในรูปของเกล็ดน้ำแข็งกึ่งของเหลว (Slush) โดยใช้เวลาเพียง 20-30 นาที จุดเด่นอยู่ที่น้ำเกลือไม่ต้องสัมผัสกับอุปกรณ์การกวนใดๆ ทำให้มีความสะอาด ปลอดภัย และง่ายต่อการนำไปใช้งานของแพทย์ ด้วยต้นทุนการประดิษฐ์เพียงหลักหมื่นเท่านั้น ทั้งนี้ผลงาน Sterile Surgical Slush Machine ของนักศึกษาทั้งสามคน ล่าสุดได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งจากเวทีการแข่งขัน "Biomedical Engineering Innovation 2016, Improve Quality of Life and Healthcare เมื่อวันที่ 2-3เมษายน 2559 ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ