กรมประมงขานรับนโยบายรมว.กษ. สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ส่งผู้สังเกตการณ์ลงเรือเพื่อยกระดับประมงไทยสู่ความยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Monday July 11, 2016 16:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ก.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 ณ ท่าเรือท่าจีนยูเนี่ยนพอร์ท จังหวัดสมุทรสาครนายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายมีศักดิ์ ภักดีคง รองอธิบดีกรมประมงและคณะผู้บริหารฯได้เดินทางไปตรวจความพร้อมของการออกปฎิบัติหน้าที่ของผู้สังเกตการณ์บนเรือ (Observer Onboard) จำนวน 2 คน ที่จะออกเดินทางไปกับเรือขนถ่ายสัตว์น้ำเพื่อติดตามตรวจสอบและสังเกตการณ์การบนเรือขนถ่ายสัตว์น้ำมิสซูรี่และเรือประมง ระหว่างวันที่5 กรกฎาคม – 30 กันยายน 2559 รวมระยะเวลาการปฏิบัติงานทั้งสิ้นจำนวน 87 วัน ทั้งนี้การปฎิบัติหน้าที่ของผู้สังเกตการณ์ฯ เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการดูแลและควบคุมการทำการประมงเพื่อสนับสนุนการทำประมงอย่างมีความรับผิดชอบ และนำไปสู่การบริหารจัดการให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรประมง ทั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอกฉัตรชัย สาลิกัลยะ และประกาศของกรมประมงเรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การจัดให้มีผู้สังเกตการณ์ประจำอยู่ในเรือประมงสำหรับผู้ได้รับอนุญาตให้ทำการประมงนอกน่านน้ำไทย พ.ศ. 2558 นับเป็นครั้งแรกของการออกปฎิบัติการจริงของผู้สังเกตการณ์บนเรือประมง หลังจากที่ได้ผ่านการฝึกอบรมเชิงปฎิบัติการหลักสูตร การสร้างผู้สังเกตการณ์บนเรือ (Fisheries Observer Onboard Program) นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอกฉัตรชัย สาลิกัลยะ การส่งผู้สังเกตการณ์ในวันนี้เป็นการยกระดับมาตรฐานการทำประมงนอกน่านน้ำของไทยในเขตทะเลหลวงให้เป็นมาตรฐานสากล นายมีศักดิ์ ภักดีคง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับคุณสมบัติของผู้สังเกตการณ์บนเรือประมงจะต้องเป็นผู้มีพื้นฐานความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์ ด้านการทำประมง ด้านเรือและการเดินเรือ รวมถึงด้านกฎหมาย กฎระเบียบ และข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากผู้สังเกตการณ์จะต้องเป็นผู้ศึกษาและบันทึกข้อมูลการทำประมงที่สำคัญ อาทิ ชนิดและขนาดของสัตว์น้ำที่จับได้ ชนิดของเครื่องมือที่ใช้ในการทำประมง เป็นต้น ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะทำให้สามารถทราบถึงอัตราการจับสัตว์น้ำ การลงแรงต่อหน่วยการประมง (CPUE) ซึ่งจะนำไปสู่การบริหารจัดการทำประมง (Fisheries Management) เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป ขณะนี้มีผู้ประกอบการเรือประมงที่ได้รับใบอนุญาตให้ทำการประมงนอกน่านน้ำแจ้งความประสงค์ขอให้กรมประมงจัดส่งผู้สังเกตการณ์ฯ เพื่อทำหน้าที่สังเกตการณ์การทำประมงและการขนถ่ายสัตว์น้ำบนเรือประมงจำนวน 7 ลำ ในการนี้กรมประมงจึงได้จัดส่งผู้สังเกตการณ์ฯ จำนวน 2 คน คือนายพัสนัย วงษ์ไทย และนายณวัสพล หาชิต ออกปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวในครั้งนี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ