สานพลัง 12 องค์กร รัฐ - เอกชน ขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม และ SMEs ไทยสู่ยุค Digital Economy อย่างเป็นรูปธรรม

ข่าวทั่วไป Thursday August 25, 2016 11:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--ส.อ.ท. สานพลัง 12 องค์กร รัฐ - เอกชน ขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม และ SMEs ไทยสู่ยุค Digital Economy อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านโครงการ"การจัดเก็บฐานข้อมูลและการเชื่อมโยงข้อมูลสินค้าของประเทศ" กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สานพลัง 12 องค์กร ภาครัฐ และเอกชน ขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม และ SMEs ไทย ผ่านโครงการ "การจัดเก็บฐานข้อมูลและการเชื่อมโยงข้อมูลสินค้าของประเทศ (National Product Catalogue)" และพิธีลงนามข้อตกลงภายใต้โครงการศึกษาแนวทางการเชื่อมโยงข้อมูลสินค้าและกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับสินค้า (Traceability) เมื่อวันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม 2559 ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม B โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว กรุงเทพฯ เพื่อช่วยขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมและ SME ของประเทศไทย ให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า จากนโยบายการพัฒนาประเทศเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ของภาครัฐ ซึ่งมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาประเทศในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการให้บริการ เพื่อให้สามารถรองรับกับการพัฒนาเข้าสู่เศรษฐกิจยุคสมัยใหม่นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ "โครงการจัดเก็บฐานข้อมูลและการเชื่อมโยงข้อมูลของประเทศ (National Product Catalogue) เป็นหนึ่งในโครงการที่ริเริ่มขึ้นเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และเจ้าของสินค้า สามารถเก็บข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถนำไปใช้ต่อยอดติดตาม และตรวจสอบย้อนกลับ หรือ Traceability สินค้าได้ ซึ่งในปัจจุบันสินค้าต่างๆ ได้ถูกผลิตออกมาเพื่อจัดจำหน่ายอย่างมากมาย ทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค แต่ในประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานหรือองค์กรใดที่ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลสินค้าให้เป็นระบบระเบียบอย่างชัดเจน ทำให้เกิดปัญหาสินค้าลอกเลียนแบบ สินค้าที่ไม่มีการรับรองจากหน่วยงานภาครัฐ ดังนั้นจึงได้ดำเนินการโครงการดังกล่าวเพื่อรวบรวมข้อมูลและรายละเอียดสินค้าต่างๆ เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลสินค้าให้มีความน่าเชื่อถือ สามารถใช้อ้างอิงข้อมูลหรือเชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพัฒนาต่อยอดระบบต้นแบบในการพัฒนาการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการติดตามตรวจสอบย้อนกลับสินค้าและบริการได้ตลอดห่วงโซ่ อีกทั้งผู้ประกอบการ ICT สามารถใช้แนวทางการพัฒนาระบบต้นแบบในการพัฒนาระบบให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคสามารถติดตามตรวจสอบเส้นทางการผลิตและการจัดจำหน่ายของสินค้าตลอดห่วงโซ่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการการผลิตและการจัดการสินค้าให้กับผู้ประกอบการอย่างเป็นรูปธรรม "จากที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายการพัฒนาประเทศเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ซึ่งมุ่งเน้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของไทยให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศและสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้แก่ประเทศด้วยนโยบาย Thailand 4.0 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้ตระหนักถึงความสำคัญ ของนโยบายดังกล่าว จึงได้จัดทำโครงการศึกษาแนวทางการเชื่อมโยงข้อมูลสินค้าและกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับสินค้า (Traceability) ขึ้น เพื่อร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในการจัดทำมาตรฐานและการจัดเก็บข้อมูลสินค้าของประเทศ (National Product Catalogue) ตามมาตรฐานสากลที่มีความถูกต้องและมีความน่าเชื่อถือ รวมทั้งเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ ในการตรวจสอบข้อมูลมาตรฐานสินค้าเพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคและการสร้างมาตรฐานคุณภาพสินค้าไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยวัตถุประสงค์การจัดทำโครงการนี้มี 2 มิติ คือ ด้านหน่วยงานร่วมที่ทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือในการพัฒนาแนวทางเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลสินค้าของประเทศ ทั้ง 12 หน่วยงาน เพื่อสร้างความร่วมมือกันในการที่จะเชื่อมโยงระบบการจัดเก็บข้อมูลที่เดิมมีของแต่ละหน่วยงานอยู่แล้วนั้น มาประสานร่วมมือกันจัดทำมาตรฐานกลางของข้อมูลสินค้าระดับประเทศที่สามารถอ้างอิงถึงแหล่งข้อมูลที่มีความถูกต้องจากแนวทางในการศึกษาและออกแบบการเชื่อมโยงข้อมูลสินค้าอุปโภคและบริโภคกับระบบตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ และระบบ Point of sale เพื่อให้ได้ข้อมูลสินค้าอุปโภคและบริโภคที่สามารถนำไปต่อยอด ติดตามและตรวจสอบย้อนกลับได้ อีกหนึ่งมิติที่สำคัญคือ สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการถึงความสำคัญและประโยชน์ในการจัดเก็บข้อมูลสินค้าตามมาตรฐานสากล เพื่อสร้างโอกาสในการขยายตลาดต่อไป" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า โครงการ "การจัดเก็บฐานข้อมูลและการเชื่อมโยงข้อมูลสินค้าของประเทศ (National Product Catalogue)" จะเป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะช่วยผู้ประกอบการในการปรับตัวให้รองรับการแข่งขันทางการค้าของโลกใน 4 ด้าน คือ 1. ช่วยผู้ประกอบการรองรับการค้ายุคดิจิทัล โดยโครงการดังกล่าวจะช่วยจัดทำฐานข้อมูลกลางสินค้าขึ้นแล้วให้ผู้ประกอบการใส่ข้อมูลสินค้า พร้อมรูปภาพ คุณลักษณะสินค้า ณ จุดเดียว เพื่อให้บรรดาห้างร้าน ร้านค้า และระบบอีคอมเมิร์ชทั้งหลายมาเชื่อมต่อข้อมูลได้ทันที ทำให้เพิ่มโอกาสแก่ผู้ประกอบการในการขายได้อีกมหาศาล 2. ช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค โดยโครงการนี้จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถใช้แอพพลิเคชั่นบนระบบสมาร์ทโฟนสแกนที่บาร์โค้ดข้างกล่องสินค้า เพื่อให้สามารถตรวจสอบการได้รับอนุญาติจากหน่วยงานต่างๆ ได้ทันที ถ้าหากพบว่าไม่มีข้อมูลรับอนุญาตจากหน่วยงานแต่ยังมีการพิมพ์ฉลากใบอนุญาติบนกล่องผลิตภัณฑ์สินค้าก็สันนิษฐานได้ว่าอาจจะเป็นสินค้าปลอม ผู้บริโภคก็สามารถรายงานพร้อมแจ้งตำแหน่งสถานที่ซื้อโดยระบบ GPS ไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบได้ทันที ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐสามารถตรวจสอบแหล่งจำหน่ายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานง่ายยิ่งขึ้น 3. ช่วยรองรับมาตรฐานสากลในการสอบย้อนกลับสินค้า และ 4.ช่วยการบูรณาการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นอีกหนึ่งผลงานที่รัฐบาลมีการบูรณาการข้อมูลและความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนตามนโยบายประชารัฐ ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ทั้งผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศที่จะสามารถตรวจสอบการรับรองมาตรฐานสินค้าและร้องเรียนกรณีสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ผู้ผลิตสินค้าเองก็ได้ประโยชน์จากการเผยแพร่ข้อมูลสินค้าที่เป็นประโยชน์ต่อการขายสินค้า การใช้งานสินค้าอย่างถูกวิธี การประชาสัมพันธ์มาตรฐานต่างๆที่สินค้าได้รับ ส่วนภาครัฐก็ได้ประโยชน์จากการให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจก่อนการซื้อสินค้า ลดปัญหาการร้องเรียนในภายหลัง ด้าน นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้รับมอบหมายจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในการจัดเก็บฐานข้อมูลกลางของสินค้าของประเทศ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานจากภาครัฐ และภาคเอกชนหลากหลายหน่วยงาน ในการจัดทำมาตรฐานและการจัดเก็บข้อมูลสินค้าของประเทศ (National Product Catalogue) ตามมาตรฐานสากลที่มีความถูกต้องและมีความน่าเชื่อถือ เพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภค ภายใต้โครงการศึกษาแนวทางการเชื่อโยงข้อมูลสินค้าและกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับสินค้า (Traceability) ซึ่งที่ผ่านมา ทางสภาอุตสาหกรรมฯ ได้ดำเนินการจัดประชุมสัมมนาเพื่อระดมสมองระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการ เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา เพื่อหาแนวทางในการจัดเก็บฐานข้อมูลกลางของสินค้าของประเทศ (National Product Catalogue)ภายใต้โครงการศึกษาแนวทางการเชื่อมโยงข้อมูลสินค้าและกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับสินค้า (Traceability) โดยรวบรวมข้อคิดเห็นต่างๆ เพื่อนำมาสรุปและเป็นแนวทางการดำเนินงานภายใต้โครงการนี้ให้ประสบผลสำเร็จต่อไป อย่างไรก็ตาม โครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือเป็ยอย่างดี ทั้งจากภาครัฐ และเอกชน จาก 12 องค์กร ประกอบด้วย กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย สำนักนายกรัฐมนตรี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่ง-ประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย และสมาคมผู้ค้าปลีกไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดตัวโครงการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ถึงความสำคัญและประโยชน์ในการจัดเก็บข้อมูลสินค้าตามมาตรฐานสากล เพื่อสร้างโอกาสในการขยายตลาด เพื่อสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเชื่อมโยงกับระบบการจัดเก็บข้อมูลที่มีมาตรฐานสามารถอ้างอิงถึงแหล่งข้อมูลที่มีความถูกต้องได้ สร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการและตระหนักถึงความสำคัญในการจัดทำข้อมูลสินค้าที่ได้มาตรฐานสากล เพื่อที่สามารถนำไปพัฒนากระบวนการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานสินค้าของตนได้ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคที่สามารถทราบถึงข้อมูลที่มาของสินค้าที่ตนเองบริโภคได้ โดยหากเกิดอันตรายอันเนื่องมาจากการบริโภคสินค้านั้นก็สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของสินค้าหรือตรวจสอบจากแหล่งกำเนิดไปจนถึงผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายได้ รวมถึงเพื่อสร้างเครือข่ายให้กับผู้ประกอบการ และผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี ข้อมูลที่สำคัญด้านมาตรฐานสินค้า เพื่อสร้างศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งในอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม นอกจากการจัดงานเปิดตัวโครงการ "การจัดเก็บฐานข้อมูลและการเชื่อมโยงข้อมูลสินค้าของประเทศ (National Product Catalogue)" และพิธีลงนามข้อตกลงภายใต้โครงการศึกษาแนวทางการเชื่อมโยงข้อมูลสินค้าและกระบวนการตรวจสอบย้อนกลับสินค้า(Traceability) แล้ว ภายในงานยังจัดให้มีการบรรยาย ในหัวข้อ "National Product Catalogue for Thailand digital supply" การเสวนาพิเศษในหัวข้อ "ประโยชน์ของฐานข้อมูลกลางของสินค้าต่อการพัฒนา Digital Economy" และการบรรยายในหัวข้อ "ระบบ e-Market และ e-Bidding กับอนาคตการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ"ด้วย...

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ