ครม. เห็นชอบกรอบใช้มิติวัฒนธรรม ยกระดับความสัมพันธ์-ความร่วมมือกลุ่มประเทศอาเซียน

ข่าวทั่วไป Thursday August 25, 2016 13:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ( รมว.วธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบรับรองเอกสารผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะ (ASEAN Ministers Responsible for Culture and Arts - AMCA) ครั้งที่ 7 ระหว่างวันที่ 24–25 สิงหาคม 2559 ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน บรูไนดารุสซาลาม ตามที่ วธ. เสนอ เนื่องจาก วธ. ได้รับหนังสือเชิญจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เยาวชน และกีฬา บรูไนดารุสซาลาม เข้าร่วมการประชุม AMCA ครั้งที่ 7 เพื่อร่วมกันกำหนดนโยบายความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและศิลปะในภูมิภาค อันนำไปสู่การสร้างความเข้าใจอันดีและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในหมู่ประชาชนของอาเซียนรวมถึงการพัฒนาของภูมิภาค การเสนอแนะประเด็นปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาวัฒนธรรมและแนวทางการแก้ไข โดยการประชุม AMCA ซึ่งจัดขึ้นทุก 2 ปี ทั้งนี้ในการประชุมดังกล่าวมีการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับประเทศคู่เจรจา อาทิ ประชุมรัฐมนตรีวัฒนธรรมอาเซียนและประเทศคู่เจรจา+3 (AMCA+3) ครั้งที่ 7 การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะและจีน (AMCA+China) ครั้งที่ 3 การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะและญี่ปุ่น (AMCA+Japan) ครั้งที่ 2 และการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะและสาธารณรัฐเกาหลี (AMCA+Republic of Korea)ครั้งที่ ๓และประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านวัฒนธรรมและศิลปะครั้งที่ 12 เป็นต้น นายวีระ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้เหตุผลที่ วธ. ต้องเสนอให้ที่ประชุม ครม. เห็นชอบเนื่องจากจะต้องรับรองและเห็นชอบร่างปฏิญญาบันดาร์เสรีเบกาวันว่าด้วยวัฒนธรรมและศิลปะเพื่อการส่งเสริมอัตลักษณ์อาเซียนสู่ประชาคมอาเซียนที่มีพลวัตและปรองดอง และร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือด้านมรดกทางวัฒนธรรมในอาเซียนทั้งสองฉบับสำหรับการประชุม AMCA ครั้งที่ 7 โดยมีสาระสำคัญ อาทิ ร่างปฏิญญาบันดาร์เสรีเบกาวันฯ มุ่งเน้นบทบาทของวัฒนธรรมไม่ว่าจะเป็นมรดกทางวัฒนธรรม อุตสาหกรรมเชิงวัฒนธรรมและสร้างสรรค์และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ถือเป็นปัจจัยและตัวขับเคลื่อนที่สำคัญในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของการพัฒนาที่ยั่งยืน และกำหนดให้วัฒนธรรมเป็นหัวใจสำคัญในวาระด้านการพัฒนาในระดับโลก โดยให้สอดคล้องกับวาระเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ พ.ศ. 2573 รวมถึงการยืนยันความสำคัญของความตระหนักรู้และความเข้าใจข้อแตกต่างทางวัฒนธรรมว่าด้วยพื้นฐานทางวัฒนธรรมของประเทศสมาชิกอาเซียนซึ่งมีธรรมชาติอันหลากหลาย เพื่อสร้างรากฐานการสื่อสารและเพิ่มพูนความเข้าใจในเรื่องค่านิยม ความเชื่อ มุมมอง และขันติธรรมด้านวัฒนธรรม อันเป็นหัวใจสำคัญของอัตลักษณ์ด้านวัฒนธรรมและศิลปะของอาเซียน รวมทั้งความสอดคล้องทางสังคมและความสำเร็จเชิงเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือกับองค์กรอาเซียนเฉพาะสาขา เพื่อรับมือกับประเด็นที่มีลักษณะคาบเกี่ยวระหว่างสาขาซึ่งเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและศิลปะ อาทิวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และประเด็นที่สำคัญที่สุดคือการเน้นย้ำความสำคัญของวัฒนธรรมและประโยชน์ของวัฒนธรรมต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประชาคมอาเซียน ส่วนสาระสำคัญของร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ฯ มุ่งเน้นการหารือแผนยุทธศาสตร์ด้านวัฒนธรรมและศิลปะ พ.ศ. 2559 – 2568 และการพัฒนาแผนการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมในอาเซียน ซึ่งจะวางมรดกทางวัฒนธรรมให้เป็นหัวใจหลักของการดำเนินการสร้างประชาคมอาเซียนและเชื่อมโยงเข้าด้วยกันเพื่อผลประโยชน์ของคนรุ่นหลัง ผ่านการพัฒนาและเสริมสร้างความร่วมมือทางวัฒนธรรมทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการปกป้องคุ้มครอง การอนุรักษ์ และการส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรม เป็นเสมือนกุญแจที่จะใช้ต่อต้านการคุมคามต่างๆ และเป็นกลไกการเสริมสร้างความร่วมมือด้านมรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาค

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ