ประมง..แจ้งเตือน ฝนหนัก อากาศแปรปรวน หวั่น ! โรคระบาดปลา เกษตรกรเฝ้าระวังสัตว์น้ำใกล้ชิด ชาวเรือเพิ่มความระมัดระวัง เรือเล็กงดออกจากฝั่ง

ข่าวทั่วไป Friday August 26, 2016 10:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--กรมประมง จากพยากรณ์อากาศกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือนว่าในช่วงตั้งแต่วันที่ 23 -27 สิงหาคม 2559 ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น มีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนภาคตะวันออก และภาคใต้ จึงขอให้ประชาชนในเขตพื้นที่ดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนัก และฝนที่ตกสะสมไว้ด้วย สำหรับชาวเรือบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยตอนบนควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด นายมีศักดิ์ ภักดีคง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ในช่วงนี้ที่ประเทศไทยเริ่มย่างเข้าสู่ช่วงฤดูมรสุม และมีคำประกาศแจ้งเตือนของกรมอุตุนิยมวิทยาทั้งในเรื่องของปริมาณฝนที่ตกหนักและสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้คุณภาพน้ำมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งอุณหภูมิของน้ำที่แตกต่างกันมากในรอบวัน ความเป็นกรดเป็นด่าง ความขุ่นของน้ำ ซึ่งมีผลต่อกระทบต่อคุณสมบัติน้ำทั้งด้านชีวภาพ กายภาพ และเคมีภาพ ลักษณะเช่นนี้จะส่งผลให้สัตว์น้ำปรับตัวไม่ทันมีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมาก เพราะปลาเป็นสัตว์เลือดเย็น อุณหภูมิของร่างกายเปลี่ยนแปลงไปตามอุณหภูมิของน้ำ ซึ่งในการปรับตัวต้องนำพลังงานที่ได้จากการเผาผลาญอาหารมาใช้ ทำให้พลังงานที่จะนำไปใช้ในการเจริญเติบโตหรือสร้างระบบภูมิคุ้มกันลดน้อยลง ด้วยเหตุนี้ส่งผลทำให้ ปลาอ่อนแอ ป่วยและติดโรคตายได้ง่าย ประกอบกับเมื่อฝนตกหนักก็จะมีการพัดพาน้ำที่เน่าเสียและสารเคมีต่างๆ ที่อาจเป็นพิษภัยต่อสัตว์น้ำ อีกทั้งทางด้านน้ำทะเลก็อาจเกิดปรากฏการน้ำจืดหลากลงทะเลรวมถึงโรคสัตว์น้ำชายฝั่งซึ่งจะเป็นสาเหตุให้ปลาที่เลี้ยงในกระชังและหอยทะเลตายเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นขอแนะนำให้เกษตรกรเตรียมการป้องกัน ดังนี้ ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด 1. เมื่ออากาศมืดครึ้มยาวนาน 2-3 วัน หรือหลังฝนหยุดตก ควรเปิดเครื่องตีน้ำ เพื่อคลุกเคล้าน้ำฝนกับน้ำในบ่อให้เข้ากัน ป้องกันการแบ่งชั้นน้ำ 2. เมื่อฝนตกหนักทำให้อุณหภูมิน้ำเปลี่ยนแปลง ปลาจะลดการกินอาหาร ดังนั้น ควรลดปริมาณอาหารให้น้อยลง หรืองดอาหารในวันที่ฝนตกหนัก 3. ควรโรยปูนขาวรอบคันบ่อ ประมาณ 30-50 กิโลกรัมต่อบ่อขนาด 1 ไร่ เมื่อฝนตกจะช่วยปรับ pH น้ำได้ดีขึ้น 4. สาดเกลือแกงลงในบ่อ หลังฝนตก ประมาณ 60-100 กิโลกรัมต่อไร่ จะช่วยลดพิษของแอมโมเนีย และช่วยรักษาสมดุลภายในร่างกายของปลา 5. หากจำเป็นต้องเลี้ยงสัตว์น้ำ ควรปล่อยในอัตราที่หนาแน่นน้อยกว่าปกติ 6. เมื่อปลาแสดงอาการผิดปกติ อาจจะผสมยาในอาหารให้ปลากิน แต่ควรปฏิบัติตามฉลากที่กำหนดอย่างเคร่งครัด หรือปรึกษา ศูนย์วิจัยหรือสำนักงานประมงจังหวัดใกล้บ้าน ด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง สำหรับในช่วงนี้กำลังเข้าสู่ฤดูมรสุมของภาคใต้ ช่วงนี้ฝนตกชุก ความเค็มก็จะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์น้ำโดยเฉพาะปลาในกระชังต้องระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากความต้านทานเชื้อของปลาจะลดน้อยลงในช่วงนี้ การให้อาหารปลาก็จะต้องลดลง ช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม ­– ธันวาคม ภัยธรรมชาติและโรคสัตว์น้ำชายฝั่งที่จะพบได้บ่อย ได้แก่ หอยแมลงภู่ตาย ปลาในกระชังตายเนื่องจากน้ำในกระชังตื้น น้ำร้อนและเกิดปรสิต ปลาในกระชังตายเนื่องจากเกิดโรคปรสิตและการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำอย่างเฉียบพลันหลังฝนตก โรคตายด่วน (EMS) โรคตัวแดงดวงขาว ที่มักจะแพร่ระบาดและมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงนี้ สำหรับในช่วงฤดูฝนที่น่าเป็นห่วงอีกอย่างก็คือเรื่องของอุณหภูมิที่จะลดต่ำลง นอกจากจะส่งผลให้สัตว์น้ำกินอาหารได้น้อยลงอยู่แล้ว ก็ยังมีน้ำจืดที่มาเปลี่ยนแปลงของความเค็มเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ปลาจะมีสุขภาพที่ไม่ค่อยดีนัก ความต้านทานโรคลดลง ต้องดูแลมากเป็นพิเศษ ไม่เลี้ยงปลาหนาแน่นจนเกินไป และเนื่องจากสภาพอากาศในบางพื้นที่ในช่วงนี้มีฝนตกลงมาติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง ทำให้น้ำในทะเลและในลำคลองที่เชื่อมต่อกับทะเลมีระดับสูงขึ้น ส่งผลกระทบกับเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังต้องเสี่ยงกับการเปลี่ยนแปลงของน้ำและเชื้อโรคในน้ำ รวมทั้งน้ำท่วมกระชังด้วย เพราะฉะนั้นในช่วงที่ระดับน้ำทะเลขึ้นสูง เกษตรกรจะต้องเลื่อนระดับกระชังให้สูงขึ้น ป้องกันไม่ให้ปลาหลุดลอดไปข้างนอกได้ และติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ทางกรมประมงได้มีการสั่งการให้เจ้าหน้าที่ในแต่ละจังหวัดลงพื้นที่ตรวจสอบและเฝ้าระวังในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำ หากพบว่าคุณภาพน้ำเสี่ยงต่อการเลี้ยงสัตว์น้ำให้รีบดำเนินการแจ้งเตือนให้ทางเกษตรกรในพื้นที่ทราบโดยเร็วที่สุด รองอธิบดีฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ในด้านความเสียหายของเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี 2559 เมื่อวันที่ 12 ถึง 16 สิงหาคม 2559 (ข้อมูล ณ วันที่ 17 สิงหาคม 2559) พบว่าเกษตรกรชาวประมงผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อดินและกระชังได้รับความเสียหายในพื้นที่ 6 จังหวัด 15 อำเภอได้แก่จังหวัดแม่ฮ่องสอนพะเยาน่านขอนแก่นเชียงรายและแพร่เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน 1,261 ราย มูลค่าความเสียหาย 5,623,243.75 บาท ซึ่งขณะนี้กรมประมงอยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหายเพื่อประมาณการวงเงินในการให้ความช่วยเหลือกับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนต่อไป สำหรับเกษตรกรท่านใดที่ต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือต้องการขอรับคำแนะนำเพิ่มเติมได้จากเจ้าหน้าที่กรมประมงที่สำนักงานประมงจังหวัด ศูนย์ ฯ หรือ สถานี ฯ ประมงที่ใกล้เคียง หรือ สถาบันวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำจืด โทร. 0-2579-4122 หรือ สถาบันวิจัยสุขภาพสัตว์น้ำชายฝั่ง โทร 0-7433-4516-8 ®

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ