สนพ. เผยผลการศึกษาการประหยัดพลังงานจากการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ไม่น้อยกว่า 1.7 หมื่นล้านบาทต่อปี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 31, 2016 15:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ส.ค.--สนพ. สนพ. เดินหน้าตามกรอบแผนบูรณาการพลังงานของประเทศ มุ่งส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้ได้ 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579 ช่วยให้ประหยัดเชื้อเพลิงได้เฉลี่ยถึงปีละ 1.7 หมื่นล้านบาท ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังร่วมเป็นประธานเปิดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นผลการศึกษา "โครงการศึกษาและพัฒนาแนวทางในการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า" ว่า ปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญและสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และตามกรอบแผนบูรณาการพลังงานของประเทศ ในส่วนของการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ มีเป้าหมายไว้ที่ 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2579 ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าไปตามแผนงาน สนพ. โดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้ร่วมกับ สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินโครงการศึกษาและพัฒนาแนวทางในการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อประเมินการประหยัดพลังงานจากการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และการวิเคราะห์ผลกระทบต่อการใช้พลังงานในระดับมหภาค รวมถึงประเมินผลจากการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าด้านเศรษฐศาสตร์และด้านพลังงานในภาคขนส่ง ซึ่งจากผลการศึกษาโครงการฯ พบว่าหากสามารถส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศให้ได้ตามแผนงานของกระทรวงพลังงาน จะไม่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ และจะยังเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ โดยจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศขยายตัวต่อเนื่อง และประเทศสามารถประหยัดเชื้อเพลิงเพื่อการขนส่งลงได้ ในช่วงปี 2575-2579 เฉลี่ยถึงปีละ 1.7 หมื่นล้านบาท ผศ.ดร. ภูรี สิรสุนทร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าโครงการฯ ได้กล่าวผลการศึกษาเพิ่มเติมว่าในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาตลาดอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า จำเป็นต้องใช้แรงผลักดันจากทุกภาคส่วนและการส่งเสริมจากภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนในการเป็นเจ้าของยานยนต์ไฟฟ้าและเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่ผู้ใช้ การส่งเสริมพัฒนาเทคโนโลยี การเพิ่มปริมาณและความหลากหลายในการผลิตภายในประเทศ โดยอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชน และด้านโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จและพัฒนาระบบการจ่ายไฟฟ้าเพื่อให้ผู้บริโภคและผู้ผลิตมีความมั่นใจในการหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ซึ่งผลการศึกษาของโครงการฯ พบว่า หากรัฐบาลสามารถส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าได้ตามแผนงาน ภายในปี 2579 และภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยสามารถผลิตยานยนต์ไฟฟ้าใช้เองภายในประเทศได้ จะช่วยทดแทนและลดการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าได้แทบทั้งหมด หรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างแต่อย่างใด นอกจากนี้ การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจะทำให้ความต้องการเชื้อเพลิงฟอสซิลประเภทต่างๆ โดยเฉพาะน้ำมัน ปรับตัวลดลง ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นไป จากแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อประเมินผลประหยัดพลังงานจากการเปลี่ยนไปใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคตตามแผนขับเคลื่อนฯ พบว่า ภายในปี พ.ศ. 2558 ถึง 2579 การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจะทำให้ความต้องการการใช้พลังงานไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 608 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี แต่สามารถลดปริมาณการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลง 334 ล้านลิตรต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่า 5,417 ล้านบาทต่อปี ซึ่งหากเปรียบเทียบผลประหยัดเป็นหน่วยไฟฟ้าแล้ว พบว่า จะสามารถประหยัดพลังงานได้เฉลี่ย 2,323 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี "ในขณะนี้ รัฐบาลได้วางแผนและมาตรการในทุกมิติเพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าและรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้" ดร.ทวารัฐ กล่าวเพิ่มเติม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ