เวิร์คช้อปฯ “ธรรม ผ่าน เลนส์” ลับคมความคิด – เด็กผลิตสารคดี ดึงธรรมมะ ถ่ายทอดเข้าใจง่าย ขายตลาดโลก!!

ข่าวทั่วไป Tuesday October 11, 2016 09:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ต.ค.-- แม้จะเป็นยุคทองของการทำ "VDO VIRAL" เน้นการสื่อสารแบบสร้างกระแส เข้าถึงง่ายกระชากอารมณ์ และดึงการมีส่วนร่วมของคนในระยะเวลาจำกัด ซึ่งกำลังเหมาะกับสังคมปัจจุบันที่ไม่ชอบอะไรเยิ่น เย้อ ซับซ้อน!!! แต่กระนั้น "ต้นไม้ใหญ่" ที่ไม่ไหวเอนตามแรงลมโถมกระหน่ำ แม้ว่าจะเป็นมรสุม เพราะมีรากหยั่งลึกฉันใด กระบวนการผลิต "สารคดี" ที่เป็นรากฐานของการทำวิดีโอ ช่วยถ่ายทอดเรื่องราว เหตุการณ์ต่างๆ ออกมาอย่างน่าสนใจ ก็ยังคงความจำเป็นที่ "ผู้ผลิต" ซึ่งเป็น "ผู้ถ่ายทอด" ต้องมีองค์ความรู้ ให้แน่น ให้ครบ ฉันนั้น!!! ดั่งเช่นที่ บริษัท พาโนราม่า เวิลด์ไวด์ จำกัด ผู้ผลิตสื่อสารคดี และคอนเทนต์ชั้นนำของไทยที่ประสบความสำเร็จในตลาดโลก ได้สวมบทเป็น "ผู้ใหญ่ใจดี" จัดประกวดภาพยนตร์กึ่งสารคดีสั้น เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้มีความรู้และประสบการณ์ด้านการผลิตสารคดี พร้อมโอกาสในการบุกตลาดโลก โดยหยิบเรื่อง "ธรรมมะ" ซึ่งอยู่คู่กับสังคมไทยมาเป็นโจทย์ในการประกวด ให้เด็กเลือดใหม่ระดมกึ๋นถ่ายทอดเรื่องราวในแบบที่ดูง่ายเข้าถึง ถูกใจชาวโลก!!! คุณมรกต ณ เชียงใหม่ กรรมการผู้จัดการ บริษัท พาโนราม่า เวิล์ดไวด์ จำกัด เผยว่า "ประเทศไทยมีความได้เปรียบ คือ มีคอนเทนต์ที่ดี โดยเฉพาะด้านวิถีชุมชน ความเชื่อ วัฒนธรรม ในทุกจังหวัดทุกภูมิภาค ที่ผู้ผลิตสามารถนำเสนอเรื่องราวมาถ่ายทอดเป็นงานสารคดีได้ แต่เรายังขาด ความรู้ประสบการณ์ ความชำนาญ และการสนับสนุนจากภาครัฐ และหน่วยงานใหญ่ๆ ในส่วนของ พาโนรามาฯ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตสารคดีมากว่า 20 ปี ได้ทำการตลาดจนเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศมาระดับหนึ่งแล้ว คิดว่าถึงเวลาก็อยากเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ช่วยผลิต และผลักดัน นักทำสารคดีรุ่นใหม่ๆ ให้มีเวทีในการปล่อยของ โดยดึงเอาหัวข้อที่คาดว่าจะเป็นคอนเทนต์ที่ดีมาก ๆ มาให้ช่วยตีความเผยแผ่ธรรมะ ในหัวข้อเรื่อง อริยสัจสี่" โดยโครงการเพื่อสังคม "ธรรม ผ่าน เลนส์ – Dharma Lens Contest 2016" มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ"พุทธศาสนา" ภายใต้แนวคิดที่ว่า "อริยสัจสี่ ความจริงอันประเสริฐ" เปิดโอกาสให้เยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ที่มีอายุไม่เกิน 25 ปี ได้นำความรู้ความเข้าใจที่มีต่อพุทธศาสนา และกระบวนการผลิตสารคดี มาร้อยเรียงเรื่องราวในรูปแบบภาพยนตร์กึ่งสารคดีสั้น ผ่านวิธีการนำเสนออย่างมีชั้นเชิง โดยผลงานของผู้ชนะเลิศ จะถูกเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ในงานตลาดภาพยนตร์สารคดีระดับนานาชาติแห่งแรกในเอเชีย "Asian Side of the Doc ครั้งที่ 7" และชิงรางวัลทุนการศึกษามากกว่า 250,000 บาท พร้อมผลงานจะนำเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ผ่านทางสื่อทุกรูปแบบ ให้ได้รับชมกันอีกด้วย ซึ่งในแต่ละทีม จะมีทีม Mentor มากประสบการณ์จากทีมบริษัทฯ ม ให้คำปรึกษาแนะนำตลอดการผลิตชิ้นงาน ซึ่งได้ผู้เข้ารอบทั้งหมดแล้ว 9 ทีม จากผลงานทั้งหมด บรรยากาศเวิร์คช้อปฯ ได้ฟังคอนเซปต์แต่ละทีมที่เข้ารอบแล้วต้องร้องว๊าววว ไม่น่าเชื่อคนรุ่นใหม่จะเข้าถึง "แก่น" ของธรรมะได้ขนาดนี้ ซึ่งคอนเซปต์โดยย่อของแต่ละทีม ได้แก่ 1. อัตวินิบาตกรรม (The Suicide) โรงเรียนมารีวิทยา นายกิตติพัฒน์ จำปาทอง, นายณรงค์ฤทธิ์ ผ่องแผ้ว, นายธนัชธร หมอยาสิทธิ์ "แรงบันดาลใจมาจากสถิติการฆ่าตัวตายของคนไทยเฉลี่ย 12 รายต่อ 1 วัน นำมาซึ่งคำถามว่า ทำไมถึงคิดสั้น ไม่มีคนปรึกษา ไม่มีทางออก หรือไม่ห่วงคนข้างหลังเหรอ เครียดจากเรื่องใด ความรัก การงาน เงิน จึงอยากเข้าใจปัญหาและพยายามหาทางแก้ไข เพราะเชื่อว่าทุกปัญหาย่อมมีทางออกเมื่อมองเห็นแสงสว่าง โดยจะผนวกกับคำสอนของพระพุทธองค์" 2. ฮีโร่ของเรา (My Hero) มหาวิทยาลัยรังสิต นายณัฐบูรณ์ เตชะธรรมนุกูล "ในวัยเด็กเราได้ดูการ์ตูน เติบโตกับ ไอ้มดแดง ดราก้อนบอล อุลตร้าแมน ฯลฯ ซึ่งเป็นผู้ผดุงความยุติธรรม ปราบเหล่าวายร้าย ผู้ปกป้องโลกจากความชั่วร้าย เปรียบเสมือนฮีโร่คือสัญลักษณ์แห่งความดี เราอยากมองว่าการ์ตูนไม่ใช่เพียงความบันเทิง แต่สอน เราถึงคุณธรรมข้อหนึ่งคือ ความดีต้องชนะความชั่ว ซึ่งการ์ตูนใกล้ชิดกับเด็กและเยาวชน เวลามีปัญหาสามารถนึกถึงฮีโร่เหล่านี้ได้ มีเหล่าวายร้าย ศัตรู อุปสรรคยิ่งใหญ่ขนาดไหน สุดท้ายฮีโร่ก็ผ่านสิ่งเหล่านั้นมาได้ เปรียบเสมือนความจริง เราเจอความทุกข์หลายรูปแบบ อย่ายอมแพ้ ใช้คุณธรรมดั่งฮีโร่ ก้าวผ่านความทุกข์ ซึ่งเคล็ดลับก็คือ อริยสัจ 4" 3. แสงสว่างจากหัวใจ (Eye Blind Mind) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ นายจุลเกียรติ ธีราธรรม, นายวิรุฬห์ บุญเสริม, นายอคิน ณัฐจีรภัทร "สารคดีจากคุณลุงตาบอด ที่ใช้ชีวิตอยู่ลำพัง ร้องเพลงหาเงิน ไม่คิดจะขอเงินใคร ซึ่งคุณลุงเป็นตัวแทนของผู้ที่เจอทุกข์หนัก ตั้งแต่ เกิดมาบกพร่องและเริ่มชราภาพ การตาบอดทำให้มองไม่เห็น อยู่กับความทุกข์ ทางกายภาพที่แก้ไขไม่ได้ ได้แต่ปรับตัว ทำใจ อยู่กับความเป็นจริง และประกอบสัมมาชีพสุจริต รวมถึงแบ่งเงินส่วนที่ได้ ทำบุญด้วย การติดตาม เราจะเล่าตามจริง ในแต่ละวัน เพื่อเป็นแรงใจให้กับอีกหลายๆ คนที่พร้อมกว่าคุณลุง" 4. วันนี้ (ไม่ใช่) วันพระ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา นายธนบดี ตั้งอั้น "ตั้งใจสะท้อนมุมมองความเชื่อแบบผิดๆ เกี่ยวกับศาสนา ที่นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เรื่องภูตผี วิญญาณ ปล่อยดวงชะตาไปเพราะเชื่อเป็นกรรมเก่า ไม่ได้เชื่อในเรื่องการกระทำของตัวเอง และมักแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุเสมอ ไม่มองไปที่ต้นเหตุเลย สะท้อนผ่านตัวบุคคลและเรื่องราวที่จับต้องได้" 5. เณรกรรม (Khamma Wild) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ นายสัจจะ หาญเต๊ะ, นางสาวชนัญธิดา พิมพ์เกศ, นายศิวกร ม่วงสวัสดิ์ "แรงบันดาลใจจากการเที่ยววัด จ.น่าน และเห็นกลุ่มสามเณรที่ปลูกป่าทุกปี โดยการปลูกฝังของเจ้าอาวาสเพื่อทดแทนพื้นที่ป่าที่เสียไปจากฝีมือมนุษย์ทั้งหลาย เป็นเวรกรรมที่เณรไม่ได้ก่อขึ้น เรียก "มรรค" คือ สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)กระทำเพื่อเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้เกิดความเกื้อกูลและอยากให้ตระหนักว่าวัดเป็นศูนย์รวมจิตใจของมนุษย์ ขัดเกลาจิตใจให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติ และช่วยดับ "ทุกข์" ให้ป่าไม้ในวันนี้ เพื่อลมหายใจของเราด้วย 6. หลักธรรม กับ ไอสไตล์ (The Dharma with Istyle) มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา นายกิตติ โพธิ์ศรี "แรงบันดาลใจจาก คุณจันทร์ เขียวโพธิ์ ชาวบุรีรัมย์ อดีตเด็กวัดรวยร้อยล้านแต่ยอมละทิ้งสมบัติให้วัดและขอบวชตลอดชีวิต สวนทางกับคนยุคใหม่ที่โหยหาทรัพย์ ยศถา เงินทอง อยากรู้ เราจะตามไปดูหลักธรรมอะไรที่เขายึด และ นำอริยสัจ 4 มาประยุกต์ในชีวิตอย่างไร ถึงตัดสินใจแบบนี้" 7. อ่อนแอ (ก้าว-ผ่าน) (Cry) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ นายวงศธร แสงอร่ามนิวัฒน์,นางสาวชลดา ยี่ภู่, นายพีรณัฐ บุญสูง "ทุกคนเคยล้มเหลวในชีวิต แม้แต่ตัวเราเองจึงอยากยกประเด็นเรื่องนี้ บางทีคิดว่าการไม่ประสบความสำเร็จของตัวเองเป็นปัญหาใหญ่ แต่เราจะพาไปดูว่า ทุกคนก็มีปัญหาเหมือนกัน เพียงแต่ว่าปัญหานั้น อาจจะดูไม่ใหญ่ เพราะเขามีแนวคิด มีสติ ในการพิจารณา และรับกับการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ ซึ่งแต่ละเรื่องอาจจะใหญ่กว่าปัญหาของคุณผู้ชมเองด้วยซ้ำ เขายังผ่านมันมาได้ อยากทำเป็นเชิงให้กำลังใจมากกว่า" 8.ชีวิตที่ปราศจากความทุกข์ ( A Life free of Suffering) มหาวิทยาลัยนครพนม นายชัยรัตน์ มีถานนท์, นางสาวสุพรรษา ดวงวิเศษ, นายณรงค์ฤทธิ์ สุทธิรณ "แรงบันดาลใจจากพระพุทธเจ้า ออกผนวช 6 ปีกว่าจะหลุดพ้น เราเป็นคนธรรมดาเลยไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แต่ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้ หลักใหญ่คือนำเสนอหนทางดับทุกข์ มรรค 8 โดยจะไม่ถ่ายคน เพราะมีเยอะแล้ว แต่จะเป็นสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เช่น พืช แมลง ฯลฯ เป็นเรียลลิตี้ ว่าพวกเขาก็เจอทุกข์เหมือนกัน ยังหาหนทางดับทุกข์ได้เลย อันนี้เป็นแนวคิดแต่การทำอาจเลยไปอีกแบบ เพราะเราไม่สามารถควบคุมพืชกับสัตว์ได้ ถ่ายตามจริง แต่พวกเรามองว่าจะเป็นเรื่องที่มีเสน่ห์" 9. รัก (The Love is to Suffer) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นางสาวพีรดา อธิคมบัณฑิตกุล, นางสาวสาธิตา ธาราทิศ "อยากถ่ายทอดมุมมองความรักของวัยรุ่น กับคำฮิต "ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์" จึงทำสารคดีแจกแจงให้เห็นแอ๊คชั่นของคนที่กำลังมีความทุกข์ เมี่อความรักจบลง ไปจนถึงเริ่มเข้าใจเมื่อเวลาผ่านไป ปล่อยวางเพื่อดับทุกข์ ซึ่งจะไปสัมภาษณ์วัยรุ่นจริงๆ เชื่อว่าคำถามและคำตอบที่จริง เหล่านี้จะทำให้ผู้ชมได้เข้าถึง เข้าใจ ในอริยสัจ 4มากขึ้น เพราะเรื่องอกหัก เป็นการดึงคนมีส่วนร่วมได้ดี อย่างน้อยทุกคนก็ต้องเคยมีรักที่ไม่สมหวังสักครั้ง" ว้าว!! แค่แนวคิดยังขนาดนี้ ทำจริงจะขนาดไหน แทบอดทนรอดูไม่ไหว แต่ละทีม "คมคิด" คมคายไม่แพ้กัน แต่สุดท้าย "ฝีมือ" ด้านการ เล่าเรื่อง โปรดักชั่น เทคนิคการถ่ายทำ ใครจะเป็นหนึ่ง สุดยอด ต้องมาลุ้นกัน ติดตามผลงาน และการประกาศรายชื่อผู้ชนะเลิศ วันที่ 2 พฤศิจกายน 2559 ในงาน Asian Side of The Doc 2016ครั้งที่ 7 ณ โรงแรมอวานีริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ หรือชมภาพบรรยากาศโครงการได้ที่เฟสบุ๊ค Dharma Lens Contest 2016 และ www.panoramaworldwide.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ