สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 28 พ.ย.-2 ธ.ค. 59 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 5 - 9 ธ.ค. 59 โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 6, 2016 15:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ธ.ค.--ปตท. สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบไอซ์เบรนท์ (ICE Brent) เพิ่มขึ้น 2.33เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 50.97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์เวสท์เท็กซัสฯ (NYMEX WTI) เพิ่มขึ้น 1.33 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 48.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 0.84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 46.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล แต่ราคาน้ำมันสำเร็จรูปลดลง โดยราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 0.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 60.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดีเซลลดลง 0.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 57.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบได้แก่ ปัจจัยบวกต่อราคาน้ำมัน · OPEC มีมติลดเพดานการผลิตน้ำมันดิบเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี โดยประกาศลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบลง 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่เพดาน 32.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เริ่มตั้งแต่เดือน ม.ค. 60 เป็นระยะเวลา 6 เดือนโดย นอกจากนี้ ยังเป็นไปได้ว่าประเทศนอก OPEC จะลดการผลิตลง 0.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งรัสเซียได้แสดงเจตจำนงไว้แล้วว่าจะลด 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน นับเป็นการตกลงร่วมมือระหว่างOPEC กับรัสเซียเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี · Intercontinental Exchange (ICE) รายงานว่าสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบไอซ์เบรนท์ทุบสถิติซื้อขายรายวันสูงสุดด้วยจำนวน 1,963,147 สัญญาเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 59 ซึ่งเป็นวันที่ OPEC ประกาศจับมือกับรัสเซียลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ ขณะเดียวกันทางด้าน CME Group รายงานว่าสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ ทำสถิติ Open Interest รายวันสูงสุดด้วยจำนวน 2,074,018 สัญญา · Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 พ.ย. 59 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 0.9 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 488.2 ล้านบาร์เรล ปัจจัยลบต่อราคาน้ำมัน · Reuters รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของ OPEC ในเดือน พ.ย. 59 เพิ่มขึ้น 0.37 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 34.19 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำสถิติสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากอิรัก ไนจีเรีย และลิเบียผลิตเพิ่มขึ้นเป็นหลัก สร้างความกังขาว่า OPEC จะควบคุมการผลิตไว้ที่เพดานตามที่มีมติออกมาได้หรือไม่ · Baker Hughes Inc. รายงาน จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 ธ.ค.59 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 3 แท่น มาอยู่ที่ 477 แท่น ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดตั้งแต่เดือน ม.ค. 59 · รัฐบาลแคนาดาอนุมัติโครงการก่อสร้างส่วนต่อขยายท่อ Trans Mountain เพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งจาก 300,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 890,000 บาร์เรลต่อวัน ท่อดังกล่าวเชื่อมแหล่งผลิต Oil Sands ในรัฐ Alberta ไปยังชายฝั่งแปซิฟิก บริเวณ Vancouver Harbour เมือง Burnaby เพื่อส่งออกไปยังเอเชียและลดการพึ่งพาตลาดน้ำมันของสหรัฐฯ กำหนดเริ่มก่อสร้างในเดือน ก.ย. 60 และจะแล้วเสร็จปี พ.ศ. 2562 แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบทะยานขึ้นจากแรงส่งของมติการประชุมของ OPEC ซึ่งลดปริมาณการผลิตเกินกว่าที่ตลาดคาดหมาย เห็นได้จากราคาน้ำมันดิบไอซ์เบรนท์ เวสท์เท็กซัสและดูไบ 4 วันเพิ่มขึ้นรวมกัน 15-18% (ถึงล่าสุดวันที่5 ธ.ค. 59) ขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบเกือบปีครึ่ง อย่างไรก็ตาม ช่วงต้นสัปดาห์นี้ ตลาดเริ่มคลางแคลงว่าผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่จะสามารถลดการผลิตน้ำมันดิบได้ดังที่ตกลงกันหรือไม่หลังตัวเลขการผลิตของ OPEC และรัสเซียยังคงทำสถิติสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่อง และต้องติดตามความคืบหน้าของการประชุมเพื่อลดปริมาณการผลิตช่วงปลายสัปดาห์นี้ ล่าสุด นาย Mohammed Sanusi Barkindo เลขาธิการ OPEC เผยว่าได้เชิญประเทศนอกกลุ่ม ได้แก่ รัสเซีย โคลัมเบีย คองโก อียิปต์ คาซัคสถาน เม็กซิโก โอมาน ตรินิแดดแอนด์โตเบโก เติร์กเมนิสถาน อุซเบกิสถาน โบลิเวีย อาร์เซอร์ไบจัน บาห์เรน บรูไน เข้าร่วมประชุมในวันที่ 10 ธ.ค. 59 ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เพื่อแสวงหาแนวร่วมในการควบคุมปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ อย่างไรก็ตาม Goldman Sachs ซึ่งมักแสดงมุมมองเชิงลบต่อราคาน้ำมัน ออกความเห็นต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ว่าราคาน้ำมันดิบไม่น่ารักษาระดับเหนือ 55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ได้ในระยะยาวในสถานการณ์ที่ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สามารถผลิตเพิ่มขึ้นตอบสนองต่อราคาที่สูงขึ้น ขณะที่ IEA (International Energy Agency) ชี้ว่าตลาดน้ำมันดิบจะล่วงเข้าสู่ห้วงเวลาแห่งความผันผวนอย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยมีมุมมองคล้ายกับ Goldman Sachs ว่ามติของ OPEC ในครั้งนี้จะมีน้ำหนักในการผลักดันราคาน้ำมันดิบแตกต่างไปจากทุกครั้งที่ผ่านมา ด้วยว่าหากราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นไปถึงช่วง 55-60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบในสหรัฐฯ จะกลับคืนสู่ตลาดได้ในปริมาณที่มีนัยสำคัญ เพราะเป็นช่วงที่สามารถทำกำไรจากการผลิตได้ กล่าวคือแรงผลักดันเชิงบวกต่อราคาในชั้นต้นจะกลับกลายเป็นแรงฉุดดึงเชิงลบในระยะต่อไปโดยใช้เวลาไม่นานนัก สำหรับสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบไอซ์เบรนท์จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 51.1-57.6 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เวสท์เท็กซัสฯ อยู่ในกรอบ 47.5-53.4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และดูไบ 47.6-51.1เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน ราคาน้ำมันเบนซินลดลงเนื่องจากจีนส่งออกเป็นปริมาณมากเห็นได้จากข่าวหน่วยงานศุลกากรของจีน (General Administration of Customs) รายงานจีนส่งออกน้ำมันเบนซินในเดือน ต.ค. 59 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 7.4 ล้านบาร์เรล ขณะที่ปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ต่างเพิ่มขึ้นทั้งในสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และโดยเฉพาะในสิงคโปร์ ซึ่งปริมาณสำรอง Light Distillates (รวมเบนซินและแนฟทา) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 พ.ย. 59 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 12.89 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 3 เดือน เนื่องจากจีนส่งออกมายังสิงคโปร์เพิ่มขึ้น (รวมทั้งเดือน เพิ่มขึ้น 19.3% จากเดือน ต.ค. 59) อย่างไรก็ตาม มีข่าวว่ารัฐบาลจีนอาจควบคุมโควตาการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปของโรงกลั่นเอกชนในประเทศหลังจากเมื่อต้นปี2559 รัฐบาลอนุมัติโควตาเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจจากทางเวียดนาม เมื่อรัฐบาลอาจเลื่อนการใช้น้ำมันเบนซินมาตรฐาน Euro IV ออกไปจากเดิมที่จะบังคับใช้ 1 ม.ค. 60 เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันเพียงหนึ่งเดียวของประเทศ คือ Dung Quat (กำลังการผลิต 130,500 บาร์เรลต่อวัน) ยังปรับปรุงไม่แล้วเสร็จ สำหรับสัปดาห์นี้คาดว่าราคาจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 61.1-64.6 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล ราคาน้ำมันดีเซลลดลงเนื่องจากจีนส่งออกเป็นจำนวนมากเพราะความต้องการใช้ในประเทศลดลง ล่าสุด National Development and Reform Commission (NDRC) ของจีนรายงานความต้องการใช้น้ำมันดีเซลในเดือน ม.ค.-ต.ค. 59 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.3% ขณะที่ปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ต่างเพิ่มขึ้นทั้งในสหรัฐฯ ยุโรป ญี่ปุ่น และโดยเฉพาะในสิงคโปร์ ซึ่งปริมาณสำรอง Middle Distillates (รวมดีเซลและน้ำมันอากาศยาน) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 พ.ย. 59 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 14.90 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 10 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม จีนมีแนวโน้มลดปริมาณสำรองเพื่อรองรับการเริ่มใช้น้ำมันมาตรฐาน China V (ปริมาณกำมะถัน 10 PPM ลดลงจาก China IV ที่ 50 PPM ) ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ม.ค. 60 ขณะเดียวกัน ยังมีอุปสงค์ในตลาดจร (Spot) จากเวียดนาม เคนยา และอียิปต์ สนับสนุนราคา อีกทั้ง ปัจจุบันเริ่มมีความคุ้มค่าจากส่วนต่างราคาและค่าขนส่งในการส่งออกน้ำมันดีเซลจากเอเชียสู่ยุโรป สำหรับสัปดาห์นี้คาดว่าราคาจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 58.3-61.8 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ