TPCH ลูกผู้ชายตัวจริงทำได้ตามลั่นวาจา!! คาดว่ารายได้ปีนี้โต 200% ชี้เป้าหมายต่อไปกำลังการผลิตไฟฟ้าขึ้นแท่น 200 MW ภายในปี 63

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 8, 2016 11:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--IR network TPCH เดินหน้าก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลตามแผน หนุนรายได้ปีนี้โต 200% จากปีก่อนทำได้ 304.90 ล้านบาท วางเป้ากำลังการผลิตติดตั้งขึ้นแท่น 200 MW ภายในปี 63 ด้านผู้บริหารคนเก่ง "เชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล" ระบุอยู่ระหว่างศึกษาการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในกลุ่มประเทศอาเซียน เพิ่มช่องทางรายได้ สร้างความแข็งแกร่งให้องค์กรในอนาคต นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH) เปิดเผยว่า ในปี 2559 บริษัทฯ ยังคงคาดว่ารายได้จะขยายตัว 200% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ทำได้ 304.90 ล้านบาท และมีเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตติดตั้งให้อยู่ที่ 200 เมกะวัตต์ ภายในปี 2563 เนื่องจากการก่อสร้างโรงฟ้าชีวมวลเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้และมีความคืบหน้าทุกโครงการ โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีโครงการโรงไฟฟ้าทั้งสิ้น 11 แห่ง กำลังการผลิตติดตั้ง 141.5 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวลจำนวนทั้งสิ้น 10 แห่ง กำลังการผลิตติดตั้ง 132 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ 1 แห่ง กำลังการผลิตติดตั้ง 9.5 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกันที่ผ่านมาบริษัท ช้างแรก ไบโอเพาเวอร์ จำกัด ได้แก้ไขเพิ่มเติมสัญญาซื้อขายไฟฟ้าการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก เปลี่ยนจากแบบ Adder เป็น Feed-in Tariff โดยมีผลนับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติได้มีมติเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2559 จึงทำให้บริษัทดังกล่าวรับรู้รายได้ในระบบการรับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed-in-Tariff (FiT) ซึ่งทำให้ราคารับซื้อไฟเพิ่มขึ้นและส่งผลบวกต่อบริษัทฯ นอกจากนี้บริษัท ทุ่งสัง กรีน จำกัด บริษัทย่อยที่ TPCH ถือหุ้น 65% ได้จำหน่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ให้แก่การไฟฟ้าภูมิภาค (กฟภ.) ในระบบการรับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed in Tariff (FiT) จึงทำให้บริษัทฯ มีรายได้เติบโตอย่างสม่ำเสมอตามกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น "บริษัทฯ ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างและสามารถจำหน่ายไฟฟ้าได้ตามคาดการณ์อีก 2 โครงการ คือ PGP และ SGP ซึ่งรายได้ทั้ง 2 โครงการ ได้รับการสนับสนุนราคารับซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคแบบ Feed in Tariff (FiT) จะทำให้บริษัทฯ มีรายได้จากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในอนาคตรวมเป็น 6 โครงการ และมีโรงไฟฟ้าอยู่ในระหว่างการพัฒนา 1 โครงการ คือ โรงไฟฟ้า PTG โดยจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตในระบบ Adder ซึ่งจะทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ดีขึ้นในอนาคต" นายเชิดศักดิ์ กล่าว อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันบริษัทฯ ได้รับคัดเลือกสำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก ประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ไม่รวมโครงการพลังงานแสงอาทิตย์) ในแบบ Feed-in Tariff พ.ศ.2559 (ระยะที่ 1 สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา ( อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอสะบ้าย้อยและอำเภอนาทวี) โดยบริษัทฯ ได้รับการคัดเลือกทั้งหมด 3 โครงการ โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 26.1 เมกะวัตต์ ส่วนการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในกลุ่มประเทศอาเซียน ได้แก่ ประเทศลาว ประเทศกัมพูชา บริษัทฯ สนใจเข้าไปลงทุน เนื่องจากเล็งเห็นถึงศักยภาพในการลงทุน ประกอบกับประเทศดังกล่าวเอื้อให้เกิดโอกาสในการลงทุนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจากบริษัทต่างชาติมากขึ้น บริษัทฯ จึงได้ศึกษาทั้งในส่วนข้อกฎหมายและศึกษาความเป็นไปได้ในเชิงเศรษฐกิจ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการเซ็นบันทึกความเข้าใจร่วมกันระหว่างบริษัทฯ และภาครัฐ (Memorandum of Understanding) กับทางรัฐบาลลาว เพื่อการพัฒนาโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในต่างประเทศต่อไป อนึ่ง ผลประกอบการของบริษัทฯ และบริษัทย่อยในไตรมาส 3/2559 มีรายได้รวม 151.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 100.34 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 195 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีรายได้รวม 51.54 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 65.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57.35 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 672% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 8.53 ล้านบาท หลังจากที่โรงไฟฟ้าชีวมวลจำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย 1.โรงไฟฟ้าชีวมวลช้างแรก ไบโอเพาเวอร์ (CRB) 2.โรงไฟฟ้าชีวมวลแม่วงศ์ เอ็นเนอยี่ (MWE) 3.โรงไฟฟ้าชีวมวล มหาชัย กรีน เพาเวอร์ (MGP) และ 4.โรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งสัง กรีน (TSG) กำลังการผลิตเสนอขายรวม 34.4 เมกะวัตต์ ได้เดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ