'ป่าแม่ทา’ โมเดลจัดการที่ดิน ช่วยเกษตรกร สร้างความเข้มแข็งในชุน

ข่าวทั่วไป Thursday December 29, 2016 10:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ธ.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ลงพื้นที่ "ป่าแม่ทา" จังหวัดเชียงใหม่ ติดตามการดำเนินงานโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพตามนโยบายรัฐบาล รวมพื้นที่ครอบคลุมกว่า 73,000 ไร่ ปัจจุบันมีแผนการตลาดรวมกลุ่มในรูปแบบสหกรณ์ในชื่อ "แม่ทาออร์แกนิค" โดยชุมชนร่วมใจกัน ภายใต้ 4 กิจกรรมหลัก คือ การปลูกข้าว การทำปศุสัตว์ การทำเกษตรกรรมยั่งยืน และการรับจ้าง นางสาวจริยา สุทธิไชยา รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. ได้ลงพื้นที่ในตำบลแม่ทา อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามการดำเนินงานโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพภายใต้การจัดการที่ดินทำกินให้ชุมชน ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรได้มีที่ดินทำกิน และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สร้างความเข้มแข็งในชุมชน ซึ่งการดำเนินการจะมีการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้กับเกษตรกรในรูปแบบต่างๆ เช่น การเลี้ยงไก่ การเลี้ยงปลา การทำน้ำยาเอนกประสงค์ การปลูกพืชน้ำน้อย จากติดตามที่ผ่านมา พบว่า องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ทา (อบต.แม่ทา) เป็นหน่วยงานหลักในการจัดการพื้นที่ในตำบลแม่ทา ร่วมกับสมาชิกของชุมชน ครอบคลุม 73,000 ไร่ โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบัน การบริหารจัดการพื้นที่ ประกอบด้วย การจัดทำแผนการจัดการพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม่ ดิน และน้ำ อย่างชัดเจน เช่น การทำพื้นที่กันชน (Buffer Zone) ระหว่างพื้นที่ทำกินของเกษตรกรและพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ แผนการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินทางการเกษตรให้เป็นไปตามหลักการใช้ประโยชน์ที่ดินตามชั้น ลุ่มน้ำ เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะควบคุมการใช้สารเคมีในเกษตร นอกจากนี้ ยังจัดทำแผนการตลาดสำหรับผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งมีการรวมกลุ่มในรูปแบบสหกรณ์โดยรวบรวมผลผลิตของเกษตรกรในพื้นที่จำหน่ายผลผลิตในชื่อ "แม่ทาออร์แกนิค" ตลอดจนกำหนดแผนงานต่างๆ นำมาสู่การปฏิบัติที่ได้รับความร่วมมือจากชุมชนเป็นอย่างดี จนเกิดเป็น "ผังชีวิต ผังตำบลคนแม่ทา" ดำเนินการโดยชุมชนร่วมมือกันจากรุ่นพ่อแม่สู่รุ่นลูกหลาน ภายใต้ 4 กิจกรรมหลักในพื้นที่ คือ การปลูกข้าว (ข้าวโพดฝักอ่อนหลังนา) การทำปศุสัตว์ (วัวเนื้อ วัวนม) การทำเกษตรกรรมยั่งยืน และการรับจ้าง ขณะนี้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้บูรณาการโครงการ เช่น จัดทำระบบน้ำเพื่อการเกษตรเข้าแปลง ระบบไฟฟ้า ถนน โดยดำเนินการแล้วร้อยละ 95 และขั้นตอนต่อไปเกษตรกรจะต้องเตรียมตัวในการปรับเปลี่ยนการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น กลุ่มที่ทำเกษตรกรรมยั่งยืนต้องปรับให้ดำเนินการในพื้นที่ต้นน้ำ จัดการการผลิตให้ได้มาตรฐาน โดยผ่านกระบวนการสหกรณ์ การจัดการตลาด และการควบคุมคุณภาพการผลิตโดยเกษตรกรรุ่นใหม่ในพื้นที่ เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ