บกปภ.ช.ประชุมคอนเฟอเรนซ์ติดตามอุทกภัยภาคใต้ เน้นย้ำจังหวัดตรวจสอบข้อมูลเสียหายด้านที่อยู่อาศัยถูกต้องครบถ้วน – เพื่อฟื้นฟูโดยเร็ว

ข่าวทั่วไป Tuesday February 7, 2017 13:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ก.พ.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) โดยกระทรวงมหาดไทย ประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ ปัจจุบันสถานการณ์อุทกภัยในภาพรวมคลี่คลายแล้ว 11 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในจังหวัดนครศรีธรรมราช รวม 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปากพนัง และอำเภอเชียรใหญ่ ทั้งนี้ บกปภ.ช. สั่งการจังหวัดสำรวจข้อมูลความเสียหายด้านที่อยู่อาศัยให้ถูกต้อง ครบถ้วน พร้อมตรวจสอบจำนวนบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย และวงเงินงบประมาณที่ต้องการขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี รวมถึงจัดทำบัญชีความเสียหายของบ้านเรือน ระบุพื้นที่ แบ่งมอบหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน เพื่อให้การซ่อมแซมบ้านเรือนแล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด นายชยพล ธิติศักดิ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าส่วนอำนวยการ ภายใต้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่ภาคใต้ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ร่วมกันระหว่าง บกปภ.ช. ส่วนกลาง ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บกปภ.ช. ส่วนหน้าณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี รวมถึงหน่วยปฏิบัติในระดับพื้นที่ โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัยเข้าร่วมประชุมฯ สำหรับสถานการณ์อุทกภัยอยู่ระหว่างการฟื้นฟู 11 จังหวัด ได้แก่ ระนอง กระบี่ ตรัง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ ยะลา นราธิวาส ปัตตานี สงขลา สุราษฎร์ธานี และพัทลุง ยังคงมีสถานการณ์ในจังหวัดนครศรีธรรมราช รวม 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอปากพนัง และอำเภอเชียรใหญ่ รวม 13 ตำบล 59 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,015 ครัวเรือน 3,325 คน ครัวเรือน 5,902 คน สำหรับสถานการณ์โดยรวมเริ่มคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ ระดับน้ำในลุ่มน้ำต่างๆ มีค่าเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ปกติ และอยู่ในกระบวนการฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย บกปภ.ช.จึงได้สั่งการให้จังหวัดสำรวจข้อมูลความเสียหายให้ถูกต้องครบถ้วน และครอบคลุมทุกด้าน โดยเฉพาะด้านที่อยู่อาศัย ให้ตรวจสอบและยืนยันข้อมูลจำนวนบ้านเรือนที่ต้องดำเนินการซ่อมแซม โดยแยกเป็น เสียหายทั้งหลังและเสียหายบางส่วน พร้อมตรวจสอบกรรมสิทธิ์ที่ดิน หากเป็นบ้านเรือนหรือที่อยู่อาศัย ซึ่งไม่มีกรรมสิทธิ์ที่ดินและยังเป็นประเด็นทางกฎหมาย ให้จังหวัดพิจารณากำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาในเชิงพื้นที่อย่างเหมาะสม อาทิ การเช่าพื้นที่สาธารณะของภาครัฐ ที่ดินราชพัสดุ ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อสร้างที่อยู่อาศัย โดยใช้งบประมาณของกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งการช่วยเหลือในการซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย แยกเป็น 2 ส่วน ดังนี้ 1.เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ แบ่งเป็น บ้านเรือนเสียหายทั้งหลังจ่ายเงินชดเชยหลังละ 33,000 บาท เสียหายบางส่วนจ่ายตามจริงไม่เกินหลังละ 33,000 บาท 2.กองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย สำนักนายกรัฐมนตรี แยกเป็น บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง สนับสนุนค่าวัสดุก่อสร้างบ้านหลังละ 220,000 – 230,000 บาท ตามแบบแปลนบ้านของกรมโยธาธิการและผังเมือง เสียหายบางส่วนหลังละไม่เกิน 70,000 บาท เสียหายน้อยหลังละไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งนี้ บกปภ.ช. ได้ประสานให้จังหวัดตรวจสอบจำนวนบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย และวงเงินงบประมาณที่ต้องการขอรับสนับสนุนเพิ่มเติม เพื่อจัดส่งให้สำนักนายกรัฐมนตรีพิจารณาจัดสรรงบประมาณแก่จังหวัดต่อไปอีกทั้งให้จังหวัดจัดทำบัญชีบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย พร้อมระบุพื้นที่และแบ่งมอบหน่วยงานที่รับผิดชอบในการซ่อมแซมอย่างชัดเจน แยกเป็น 4 ทีม ได้แก่ หน่วยทหาร ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทีมตำบลประชารัฐ (อาชีวะ กศน.) เพื่อให้การซ่อมแซมบ้านเรือนแล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ