วิทยาศาสตร์ มธ. รับเศรษฐกิจยุคใหม่ ชูยุทธศาสตร์ SCI+BUSINESS ชูศักยภาพการเป็น 'แหล่งปั้นนักวิทย์-ธุรกิจ’ แห่งแรกและแห่งเดียวในไทย

ข่าวทั่วไป Thursday February 9, 2017 14:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ก.พ.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ • วิทยาศาสตร์ มธ. โชว์ 4 นวัตกรรมสร้างสรรอัพดีกรีเศรษฐกิจยุคใหม่ ทางออกการยอดเชิงพาณิชย์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดทิศทางการศึกษา ปี2560 ภายใต้แนวคิด "SCI + BUSINESS" สู่การเป็น "แหล่งปั้นนักวิทย์-พัฒนาธุรกิจ" แห่งแรกของประเทศไทยตอบโจทย์นโยบาย "ไทยแลนด์ 4.0" ของทางรัฐบาลและกระแสสตาร์ทอัพที่กำลังเป็นที่นิยม ใน 4 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านวิชาการ ด้วยการนำร่อง "SCI + BUSINESS" อย่างเต็มรูปแบบกับโครงการพิเศษ iSC และสำหรับหลักสูตรทั้งหมด จะทำการสอดแทรกเรื่องการประยุกต์ใช้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์เข้าสู่ภาคธุรกิจมากขึ้น ก่อนการเพิ่มเติมรายวิชาด้านบริหารเข้าเป็นรายวิชาพื้นฐานในหลักสูตรปกติ ในปี 2561 2) ด้านการต่อยอดเชิงธุรกิจ ด้วยการขยายความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์และต่อยอดทางธุรกิจ 3) ด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรม ด้วยความพร้อมในเรื่องคำปรึกษาจากคณาจารย์ และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัยต่างๆ 4) ด้านความร่วมมือกับต่างประเทศ ด้วยการเดินหน้าขยายความร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อยกระดับงานวิจัย และหลักสูตรการเรียนรู้ของคณะให้มีคุณภาพเทียบเท่าในระดับสากลพร้อมกันนี้ ได้เปิด 4 ตัวอย่างนวัตกรรมสุดล้ำ จากคณาจารย์นักวิจัย 4 สาขา ได้แก่ 1. วิปครีมต้านอนุมูลอิสระ 2. เส้นใยดักจับสารเคมีปนเปื้อนในผัก 3. ถ้วยกาแฟอัจฉริยะบอกอุณหภูมิ 4. เครื่องตรวจเช็คเชื้อโรคและสารปนเปื้อนแบบพกพา โดย 4 ตัวอย่างนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของนวัตกรรมงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์ ที่พร้อมต่อยอดสู่ภาคธุรกิจ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และนำไปต่อยอดผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ต่างๆ อีกมากมาย ทั้งนี้ ปัจจุบันคณะฯ สามารถผลิตบัณฑิตคุณภาพตอบโจทย์ทุกความต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมได้เป็นจำนวนกว่า 9,000 คน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ศูนย์รังสิต หมายเลขโทรศัพท์02-564-4440-59 ต่อ 2010 หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ www.sci.ac.th รองศาสตราจารย์ ปกรณ์ เสริมสุข คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ทั่วโลกได้หันมาให้ความสำคัญกับนวัตกรรมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในประเทศไทยก็มีนโยบาย "ไทยแลนด์ 4.0" ของทางรัฐบาลที่มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการต่างๆ ให้ความสนใจกับ "การสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรม" ประกอบกับช่องทางการทำธุรกิจที่เปิดกว้างมากขึ้น ทำให้เกิดเป็นกระแสความต้องการเป็นผู้ประกอบการของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ ทำให้สถานศึกษา โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษาต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อให้ผู้เรียนมีพื้นฐานทางด้านการพัฒนาธุรกิจ และการประยุกต์ใช้สิ่งที่ได้รับจากเรียนรู้ไปสู่การต่อยอดเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้ องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และกระบวนการคิดวิเคราะห์เชิงวิพากษ์ (Critical thinking) เป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญสำหรับการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมยุคใหม่ ที่รวมถึงกระแสสตาร์ทอัพที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันซึ่งตามสถิติแล้ว กว่า 16.7 เปอร์เซ็นต์ของผู้ก่อตั้งธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทย สำเร็จการศึกษาจากด้านวิทยาศาสตร์ (ที่มา: สมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน, 2559) รองศาสตราจารย์ ปกรณ์ กล่าวต่อว่า เพื่อให้สอดคล้องกับบทบาทของสถานศึกษาในยุคผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในปัจจุบัน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงรุกพัฒนานโยบายและทิศทางการศึกษาของคณะฯในปีการศึกษา 2560สู่การเป็น "แหล่งปั้นนักวิทย์-พัฒนาธุรกิจ" หรือหลักสูตรผสมผสาน SCI + BUSINESS แห่งแรกแห่งเดียวของประเทศไทย ที่มุ่งเน้นผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ และกระบวนการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ และสามารถประยุกต์ใช้ความรู้เหล่านั้น เพื่อสร้างสร้างสรรค์และขับเคลื่อนธุรกิจได้อย่างมีศักยภาพผ่านกระบวนการพัฒนา 4 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านวิชาการ ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรทั้งหมดใน 16 หลักสูตรภาษาไทยและ 3 หลักสูตรภาษาอังกฤษเสริมรายวิชาและกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารธุรกิจ และการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ในเชิงพาณิชย์ โดยมีการนำร่องกับโครงการปริญญาตรีภาคพิเศษ สาขาวิทยาศาสตร์อุตสาหการและการจัดการ (iSC) ให้เป็นหลักสูตรนานาชาติที่เป็น วิทย์-บริหารธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบ และสำหรับหลักสูตรปกติ ในปีการศึกษา 2560 จะมีการสอดแทรกเรื่องการประยุกต์ใช้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์เข้าสู่ภาคธุรกิจมากขึ้น รวมไปถึงผู้เรียนสามารถเลือกศึกษารายวิชาจากคณะอื่นภายในมหาวิทยาลัย อาทิ รายวิชาจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หรือเศรษฐศาสตร์ ก่อนนำไปสู่การปรับหลักสูตรอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 เป็นต้นไป ที่จะทำการเพิ่มเติมรายวิชาด้านการบริหารธุรกิจเข้าเป็นรายวิชาบังคับพื้นฐานสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 เพื่อให้ผู้เรียนได้มีพื้นฐานความคิดทางด้านธุรกิจ อีกทั้งยังได้ทำการส่งเสริมการเรียนการสอนที่สมดุลระหว่างภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยใช้โครงงานเป็นพื้นฐาน (Project based learning) ผ่านการเรียนรู้ในรูปแบบแอคทีฟ เลิร์นนิ่ง (Active Learning) ซึ่งทุกหลักสูตรจะกำหนดให้นักศึกษาตั้งแต่ปี 2 – ปี 4 ต้องทำโครงงาน โดยมีคณาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด 2. ด้านการต่อยอดเชิงธุรกิจ เร่งขยายความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในเรื่องความร่วมมือในการสร้างสรรค์งานวิจัยร่วมกัน โควตาการรับสมัครนักศึกษาเพื่อฝึกงาน การศึกษาดูงานเพื่อให้เห็นขั้นตอนการปฏิบัติงานจริง และการร่วมแชร์ประสบการณ์ในการทำงาน โดยที่ผ่านมาทางคณะฯ ได้มีความร่วมมือกับหน่วยงานที่มีชื่อเสียงมากมาย อาทิ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เครือเจริญโภคภัณฑ์ เครือเบทาโกร โดยในปี 2560 นี้ ได้มีแผนการขยายเครือข่ายความร่วมมือดังกล่าว ให้ครอบคลุมในทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ประกอบการธุรกิจยุคใหม่อย่างสตาร์ทอัพ เพื่อรองรับความสนใจที่หลากหลายของผู้เรียน 3. ด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรม สนับสนุนการประยุกต์ใช้องค์ความรู้และกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์เพื่อสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรม งานวิจัย และสิ่งประดิษฐ์ ที่เป็นประโยชน์แก่อุตสาหกรรมต่างๆ และสามารถพัฒนาเพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านคำปรึกษาจากคณาจารย์เจ้าของผลงานนวัตกรรม รางวัลการันตีจากเวทีนานาชาติ อาทิวัสดุกักเก็บน้ำมัน นวัตกรรมจากน้ำยางพารานวัตกรรมถุงห่อชมพู่ หวานแน่ กรอบนาน และผลิตภัณฑ์ไก่ยอเพื่อสุขภาพนอกจากนี้ทางคณะฯ ยังพัฒนาสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เอื้อต่อการคิด ทดลองและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ด้วยการรวบรวมอุปกรณ์และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย เช่น เครื่องวิเคราะห์ชนิดและปริมาณธาตุในสาร เครื่องวัดปริมาณโลหะการวัดค่าการเปล่งแสง ฯลฯ ไว้ในห้องแล็บเฉพาะทางต่างๆ อาทิ ศูนย์วิจัยด้านวัสดุ ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ และห้องปฏิบัติการความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosafety) เพื่อให้ผู้เรียนได้มีความสะดวกในการเลือกใช้ 4. ด้านความร่วมมือกับต่างประเทศ เดินหน้าขยายเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานวิทยาศาสตร์ ทั้งภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ เพื่อมุ่งยกระดับงานวิจัย และหลักสูตรการเรียนรู้ของคณะให้มีคุณภาพเทียบเท่าในระดับสากล โดยเฉพาะนโยบายการแลกเปลี่ยนบุคลากร และการฝึกงานกับหน่วยงานเครือข่ายต่างประเทศ รวมไปถึงการพัฒนาองค์ความรู้และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อาทิ การจัดตั้งศูนย์วิจัยด้านวัสดุ (Materials Research Center)ที่ทันสมัยที่สุดในสถานศึกษาโดยความร่วมมือกับ บริษัท โฮริบะ (ไซเอนติฟิกส์) จำกัด เพื่อพัฒนางานวิจัยเกี่ยวข้องกับวัสดุโลหะ เซรามิกและโพลิเมอร์ ให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดอย่างตรงจุดและการพัฒนาหลักสูตรด้านดิจิทัลคอนเทนต์ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีดิจิเพน (DigiPen) เพื่อปั้นนักพัฒนาเกมและแอนิเมเตอร์คุณภาพ ป้อนตลาดอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย เป็นต้น รองศาสตราจารย์ ปกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า พร้อมกันนี้ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ได้เปิด 4 ตัวอย่างนวัตกรรมสุดล้ำจากคณาจารย์นักวิจัย 4 สาขาวิชาที่พร้อมต่อยอดสู่ภาคธุรกิจ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และนำไปต่อยอดผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ต่างๆ อีกมากมาย ได้แก่ 1. วิปครีมต้านอนุมูลอิสระ จากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารนวัตกรรมการสกัดสารต้านอนุมูลอิสระจากดอกกระเจี๊ยบแดงและนำมาผลิตเป็นวิปปิ้งครีม ผลิตภัณฑ์ของหวานสร้างสรรค์ ชะลอริ้วรอยแห่งวัย 2. เส้นใยดักจับสารเคมีปนเปื้อนในผัก จากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมนวัตกรรมเส้นใยที่ช่วยดักจับสารเคมีปนเปื้อนในผักหรือผลไม้ได้มากขึ้นถึง 99.2 เปอร์เซ็นต์เพื่อให้ได้ผักผลไม้ที่ปราศจากสารเคมีอย่างแท้จริง 3. ถ้วยกาแฟอัจฉริยะบอกอุณหภูมิ จากสาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร นวัตกรรมถ้วยกาแฟเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่สามารถบอกอุณหภูมิว่ากาแฟร้อนเกินไป หรือร้อนพอดีต่อการดื่ม4. เครื่องตรวจเช็คเชื้อโรคและสารปนเปื้อนแบบพกพา จากสาขาวิชาฟิสิกส์ นวัตกรรมเครื่องตรวจสอบเชื้อโรคและสารพิษปนเปื้อนขนาดพกพา ที่สามารถนำไปต่อยอด ประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ การตรวจสอบปริมาณสารเคมีในผักผลไม้ การตรวจหาเชื้อมะเร็งในกระแสเลือด และการตรวจสอบแก๊สพิษในสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ทั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพ และปั้นบัณฑิตยุคใหม่ให้มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่สามารถคิดประกอบการได้อย่างชาญฉลาด และพร้อมที่จะผลักดันงานวิจัยสู่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมได้อย่างมีคุณภาพ ผ่านรูปแบบการเรียนรู้ที่บูรณาการองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และด้านการบริหารจัดการ (SCI+BUSINESS) อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันคณะฯ สามารถผลิตบัณฑิตคุณภาพตอบโจทย์ทุกความต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมได้เป็นจำนวนกว่า9,000 คน รองศาสตราจารย์ ปกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ศูนย์รังสิต หมายเลขโทรศัพท์ 02-564-4440-59 ต่อ 2010 หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ www.sci.ac.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ