มรภ.สงขลา แปรรูป “จำปาดะ” เพิ่มมูลค่าผลไม้ท้องถิ่น ไฮไลท์นิทรรศการผลงานคหกรรมศาสตร์ ครั้งที่ 4

ข่าวทั่วไป Friday April 28, 2017 16:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 เม.ย.--มรภ.สงขลา มรภ.สงขลา จัดคหกรรมนิรมิต ครั้งที่ 4 อวดผลงานอาจารย์-นักศึกษา ชูไฮไลท์พัฒนาผลิตภัณฑ์จำปาดะ สนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ หวังสร้างมูลค่าพืชท้องถิ่นหายาก แก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาด ผศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงนิทรรศการคหกรรมศาสตร์ (คหกรรมนิรมิต ครั้งที่ 4 ประเทศไทย 4.0 : คหกรรมศาสตร์สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน) ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ มรภ.สงขลา เมื่อเร็วๆ นี้ว่า เป็นการโชว์ผลงานจากการลงพื้นที่ฝึกประสบการณ์วิชาชีพทางด้านอาหาร ณ สถานประกอบการโรงแรม ของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ซึ่งได้นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานจริง และเตรียมตัวเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต โดยไฮไลท์เมนูสร้างสรรค์ในปีนี้ เป็นการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากจำปาดะ ผลไม้รสหวาน หอม มีเอกลักษณ์ เพื่อสนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในการสร้างมูลค่าเพิ่มผลไม้ในท้องถิ่นให้ออกมาเป็นเมนูหลากหลายชนิด อาทิ แยมจำปาดะ ไอศกรีมจำปาดะ เค้กชิฟฟ่อนจำปาดะ โมจิไส้จำปาดะ ข้าวเกรียบจำปาดะ ขนมหม้อแกงเมล็ดจำปาดะ ทองพับจำปาดะเป็นต้น ซึ่งได้ผลตอบรับและเสียงชื่นชมจากผู้เข้าร่วมชิมอย่างดียิ่ง ผศ.ดร.ทัศนา กล่าวว่า ตัวอย่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากจำปาดะ เช่น แยมจำปาดะ ผลงาน ผศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ เป็นการเพิ่มมูลค่าจำปาดะในช่วงที่มีผลผลิตตามฤดูกาลเป็นจำนวนมากและราคาถูก ซึ่งเป็นแนวทางที่จะทำให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรรายย่อย สามารถใช้ประโยชน์จากจำปาดะที่เป็นพืชในท้องถิ่นได้อย่างคุ้มค่า และสร้างรายได้ตลอดไป ผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบจากเมล็ดและเนื้อจำปาดะ และ ไอศกรีมจำปาดะ ผลงาน อ.วิภาวรรณ วงศ์สุดาลักษณ์ ซึ่งพบว่าการใช้เมล็ดจำปาดะต้มสุกทดแทนแป้งมันสำปะหลัง ร้อยละ 30 จะได้ข้าวเกรียบที่ได้รับการยอมรับสูงสุด ในขณะที่การประยุกต์ใช้เนื้อจำปาดะจะทำให้ได้ข้าวเกรียบที่มีกลิ่นรสและเนื้อสัมผัสที่มีความโดดเด่น ส่วนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไอศกรีมจำปาดะ เป็นการนำเนื้อจำปาดะที่มีกลิ่นหอมและรสชาติหวานเฉพาะตัว มาประยุกต์ใช้ในผลิตไอศกรีม เพื่อสร้างมูลค่าให้พืชในท้องถิ่นและสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สงขลา กล่าวอีกว่า เหตุผลที่เลือกแปรรูปผลิตภัณฑ์จากจำปาดะ เนื่องจากเป็นพืชที่นิยมปลูกกันมากทางภาคใต้ จัดเป็นผลไม้ขึ้นชื่อของ อ.ควนโดน จ.สตูล และ ต.เกาะยอ อ.เมือง จ.สงขลา และเป็นผลไม้ที่หารับประทานยาก พบได้เฉพาะภาคใต้เท่านั้น อีกทั้งจำปาดะยังให้ผลเพียงปีละครั้งในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ซึ่งบางปีมีผลผลิตออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมากทำให้ราคาตกต่ำ บางครั้งเน่าเสียต้องทิ้งไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ เพราะจำปาดะเป็นผลไม้ที่คนนิยมบริโภคแบบสดและทอดเท่านั้น มักมีอายุการเก็บรักษาสั้น เนื่องจากเซลล์มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาหลังการเก็บเกี่ยว ทำให้ผลไม้เสื่อมสภาพและอาจสูญสูญเสียคุณค่าทางโภชนาการ รวมถึงเกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดจากจำหน่ายผลผลิตไม่ทันหรือเกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาด โดยเฉพาะผลไม้ที่ออกเป็นฤดูกาล ดังนั้น การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อยืดอายุการเก็บรักษา จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการถนอมอาหาร เพื่อให้มีรับประทานตลอดปี และลดปัญหาผลผลิตล้นตลาด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ