STC จับมือ ฝนหลวงภาคใต้ สืบสานพระราชปณิธาน

ข่าวทั่วไป Friday May 19, 2017 12:26 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 พ.ค.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม หรือ STC เปิดพื้นที่สนามบิน วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม โพธาราม ราชบุรี ให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้เข้าใช้พื้นที่เพื่อทำฝนเทียมให้จังหวัดราชบุรี เพื่อสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร ในการบรรเทาทุกข์ให้ราษฎร์ โดย รศ.ดร.ศักดิ์ กองสุวรรณ ที่ปรึกษาอธิการบดีด้านการพัฒนา และอาจารย์อุบลวรรณ สุวรรณ ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายบริหารและอาเซียนสัมพันธ์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ให้การต้อนรับ รศ.ดร.ศักดิ์ กล่าวว่า "เรามีความยินดีอย่างมากที่ทางศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้เข้ามาใช้พื้นที่ เพื่อทำฝนเทียมให้กับคนในจังหวัดราชบุรี และยังเป็นการสืบสานพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการบรรเทาทุกข์ให้ราษฎร์" นายประสพ พรหมมา นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ กล่าวถึงการเลือกมาใช้สนามบิน วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม โพธาราม ราชบุรี ว่า ด้วยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้มีความประสงค์จะปฏิบัติการฝนเทียมเพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ยังมีน้ำไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกและเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผืนป่าด้านตะวันตกของจังหวัดราชบุรี เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาฝนทิ้งช่วง ศูนย์ฯ จึงขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่สนามบินฯ เป็นพื้นที่จอดเครื่องบิน วางสารฝนเทียม และบดผสมสารฝนเทียม รวมถึงห้องทำงานวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวง "เรามีศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงอยู่ที่หัวหินซึ่งหากเดินทางโดยรถยนต์มีระยะทาง 150 กิโลเมตร แต่ถ้าเดินทางโดยเครื่องบินมีระยะทาง 60-70 นอติคอลไมล์ ซึ่งกว่าที่จะเดินทางมาถึงทำให้ทำฝนเทียมได้รอบเดียว การเลือกมาใช้สนามบิน วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม โพธาราม ราชบุรี จะช่วยให้ทันต่อการเจริญเติบโตของเมฆ และสามารถทำได้วันละหลายรอบ" ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้จึงเข้ามาขอใช้พื้นที่กับทางวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม โดยจะให้เป็นฐานในการเติมสารก่อน ส่วนฐานบินจะยังอยู่หัวหิน แต่ในเดือนมิถุนายนเป็นต้นไปจะเข้ามาแบบสมบูรณ์ "จังหวัดราชบุรีเป็นจังหวัดอับฝนโดยธรรมชาติอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ฝนที่ตกตอนนี้จะอยู่ในอำเภอเมือง สวนผึ้ง และบ้านคา ส่วนในอำเภอโพธาราม ฝนยังไม่ตก คาดว่าหลังจากเข้ามาทำฝนเทียมแล้วจะมีฝนเลย เราจะขึ้นบินวันละ 1-2 เที่ยว แต่หากเข้ามาครบสมบูรณ์แล้วจะบินทั้งวันเพื่อให้ฝนกระจายทั่วราชบุรี และอาจจะตกไปถึงนครปฐม กรุงเทพฯ ฝั่งธนบุรี" การที่วิทยาลัยฯ เปิดพื้นที่ให้ใช้นับว่าเป็นเรื่องที่ดี ทางวิทยาลัยฯ ก็ช่วยปรับปรุงสนามบินจนเข้ามาตรฐานสากลทำให้การบินเกิดความปลอดภัย สนามบินที่ได้มาตรฐานก็ทำให้นักบินเกิดความมั่นใจในการทำงาน เขาก็จะทุ่มเทและทำงานให้กับพี่น้องประชาชนได้อย่างเต็มที่

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ