ไม่กลัวปริ! ไม่ต้องปิดจมูก! วิทยาศาสตร์ฯ มธ. โชว์นวัตกรรม "เคลือบทุเรียน" กันกลิ่น-กันแตก ส่งออกได้มาตรฐาน ยืดอายุได้เพิ่มอีกเท่าตัว

ข่าวทั่วไป Tuesday May 23, 2017 10:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ชูนวัตกรรมเกษตรสร้างชาติ "ลดกลิ่น-ลดการแตกผลทุเรียนสด" โชว์นวัตกรรมการเคลือบผลทุเรียนสดด้วยเทคนิค Active Coating ที่สามารถชะลอการสุกของผลทุเรียนแก่ ขณะขนส่งได้นานถึง 2 สัปดาห์ และจะสุกพร้อมวางขายได้ทันทีเมื่อถึงปลายทาง อีกทั้งยังต่ออายุการเก็บรักษา (Shelf Life) ได้เท่าตัว มุ่งขจัดปัญหากลิ่นไม่พึงประสงค์ของผลทุเรียนเมื่อสุก และปัญหาผลแตกขณะขนส่งหรือส่งออกต่างประเทศได้ 100%ทั้งยังคงคุณภาพและรสชาติของเนื้อทุเรียนภายใน โดยนวัตกรรมดังกล่าว เกิดจากการพัฒนาใน 2 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นเตรียม Active Coating และ 2) ขั้นเคลือบผิวทุเรียน นำผลทุเรียนมาเคลือบด้วย Active Coating ที่เตรียมดีแล้วให้ทั่วทั้งผล เพื่อป้องกันเปลือกทุเรียนแตกระหว่างทาง ก่อนนำไปบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์พิเศษ อย่างไรก็ดี นวัตกรรมดังกล่าว ยังไม่มีการขายสูตรในเชิงพาณิชย์ แต่สำหรับเกษตรกรสวนทุเรียนที่สนใจ สามารถขอรับคำปรึกษาได้ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สาขาเทคโนโลยีการเกษตร โทรศัพท์ 0-2564-4491 และ 086-365-6451 หรือติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. โทรศัพท์ 02-564-4440 ถึง 59 ต่อ 2010 เว็บไซต์ www.sci.tu.ac.th รศ. วรภัทร ลัคนทินวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์เพื่อการวิจัยขั้นสูง และอาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า "ทุเรียน" ถือเป็นผลไม้เศรษฐกิจที่สำคัญอันดับ 1 ของไทย จนได้รับการขนานนามเป็น ราชาผลไม้ เนื่องจากมีมูลค่าการส่งออกผลทุเรียนสดสูงขึ้นในทุกๆ ปี โดยล่าสุด ปี 2559 มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 17,468 ล้านบาท ซึ่งเติบโตจากปีที่ผ่านมาประมาณ 31.87 % (ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2560) โดยเฉพาะทุเรียนหมอนทองที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจาก ประเทศจีน ฮ่องกง และไต้หวัน แต่อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกัน เกษตรกรในหลายพื้นที่ยังคงประสบปัญหาสำคัญในการส่งออก คือ กลิ่นไม่พึงประสงค์ของผลทุเรียนเมื่อสุก และผลแตกขณะขนส่งหรือวางจำหน่าย ณ ประเทศปลายทาง ซึ่งในแง่ของมาตรฐานสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออกนั้น ผลทุเรียนจะต้องได้ทรงมาตรฐาน อยู่ในสภาพสมบูรณ์ รวมถึงได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP และ GAP เป็นต้น รศ. วรภัทร กล่าวต่อว่า คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. จึงได้พัฒนา "นวัตกรรม Active Coating ลดกลิ่น-ลดแตกของผลทุเรียนสด" นวัตกรรมการเคลือบผลทุเรียนสดด้วยเทคนิค Active Coating ภายใต้การดูแล senior project ของนายประกาสิทธิ์ ชุ่มชื่น นักศึกษาปริญญาตรี ร่วมพัฒนาจนสามารถชะลอการสุกของผลทุเรียนแก่ ขณะขนส่งได้นานถึง 2 สัปดาห์ และจะสุกพร้อมวางขายได้ทันทีเมื่อถึงปลายทาง อีกทั้งยังสามารถต่ออายุการเก็บรักษา (Shelf Life) ได้เท่าตัว เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนเลือกตัดผลทุเรียนแก่เพิ่มขี้นเพื่อการส่งออก แทนผลอ่อนที่เมื่อไปถึงปลายทางไม่มีคุณภาพการบริโภค หรือไม่สุกตามปกติ หรือเกิดปัญหาผลแตกเมื่อถึงปลายทาง เพื่อเพิ่มศักยภาพการส่งออกทุเรียนของเกษตรกรไทย ให้สามารถก้าวสู่ตลาดในระดับพรีเมียมได้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าว เป็นการประยุกต์ใช้องค์ความรู้เทคโนโลยีทางการเกษตร สู่การพัฒนาวัสดุห่อหุ้มผลทุเรียน (Active Coating) ใน 2 ขั้นตอน คือ 1. ขั้นเตรียม Active Coating นำส่วนประกอบสำคัญ 3 ชนิด อันได้แก่ เส้นใยธรรมชาติ (Fiber) ที่ผ่านการตัดแปลงโครงสร้าง และผงถ่านกัมมันต์ (Active Carbon) ผสมรวมตามสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อดูดซับกลิ่นของทุเรียน แก๊สเอทิลีน และกลิ่นไม่พึ่งประสงค์อื่นๆ ที่มีซัลเฟอร์เป็นองค์ประกอบ อาทิ Dimethyl disulfide (DMDS) และ Dimethyl trisulfide (DMTS) ฯลฯ 2. ขั้นเคลือบผิวทุเรียน – นำผลทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่มีอายุประมาณ 110+5 วัน หลังดอกบาน จุ่มลงในเส้นใยให้ติดทั่วทั้งผล โดยที่เปลือกของทุเรียนจะมีความหนาขึ้นประมาณ 2-3 มิลลิเมตร เพื่อเป็นการป้องกันเปลือกทุเรียนแตกระหว่างทาง จากนั้นจึงนำไปบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์พิเศษ พร้อมวิเคราะห์สารประกอบกลิ่น ซึ่งเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 23-27 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ที่ 55-65% ทั้งนี้ จากการศึกษาและพัฒนานวัตกรรมลดกลิ่น-ลดแตกของผลทุเรียนสดเป็นเวลาถึง 2 ปี พบว่า เทคนิคการเคลือบผลทุเรียนด้วยเส้นใยจากพืช สามารถลดการแพร่กระจายกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ของทุเรียน และป้องกันการแตกของผลได้ 100% เมื่อเทียบกับทุเรียนที่ไม่ได้ห่อหุ้มผล อีกทั้งยังคงคุณภาพของเนื้อทุเรียนภายในได้เป็นอย่างดี ดังนั้น จึงนับเป็นอีกก้าวสำคัญของวิทยาศาสตร์ ในการพัฒนานวัตกรรมเกษตรยุคใหม่ให้ตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรในยุค 4.0 ได้อย่างตรงจุด ในค่าใช้จ่ายที่ต่ำ ซึ่งมีต้นทุนโดยเฉลี่ยเพียง 2-3 บาทต่อผล แต่ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าว ยังไม่มีการจำหน่ายสูตรในเชิงพาณิชย์ โดยยื่นจดสิทธิบัตรแล้ว แต่สำหรับเกษตรกรสวนทุเรียนที่สนใจในนวัตกรรมข้างต้น สามารถขอรับคำปรึกษาได้ฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย รศ. วรภัทร กล่าวทิ้งท้าย สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สาขาเทคโนโลยีการเกษตร โทรศัพท์ 0-2564-4491 และ 086-365-6451 หรือติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. โทรศัพท์ 02-564-4440 ถึง 59 ต่อ 2010 เว็บไซต์ www.sci.tu.ac.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ