ไทย-อิสราเอล เตรียมลงนามร่วมมือด้านเกษตรฉบับแรกระหว่างกัน ก.ค.นี้ ประเดิมเล็งสร้างระบบชลประทานประหยัดน้ำต้นแบบในภาคอีสาน หวังพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีในการผลิตสินค้าเกษตรในภาวะวิกฤติขาดแคลนน้ำและความแห้งแล้ง

ข่าวทั่วไป Thursday May 25, 2017 13:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับ นายชีมอน โรเด็ด เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอล ประจำประเทศไทย ว่า ประเด็นสำคัญที่มีการหารือร่วมกันในครั้งนี้ คือ การผลักดันให้เกิดการลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย และกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทของอิสราเอล ที่ทั้งสองฝ่ายเห็นขอบร่วมกันเรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าจะมีการลงนามในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งจะถือเป็นกรอบความร่วมมือด้านการเกษตรกรอบแรกที่ทั้งสองฝ่ายมีร่วมกันภายใต้กรอบความร่วมมือครอบคลุมในทุกสาขาด้านการเกษตร อาทิ การพัฒนาด้านการเกษตรทั้งพืช ปศุสัตว์ และประมง การพัฒนาด้านสหกรณ์และองค์กรภาคการเกษตร การเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศในภาคการเกษตรและการแปรสภาพเป็นทะเลทราย รวมถึงการพัฒนาด้านชลประทานที่ดินและการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งอิสราเอลมีความเชี่ยวชาญและมีการใช้โทคโนโลยีขั้นสูงที่สามารถออกแบบระบบชลประทานประหยัดน้ำ โดยมีการสูญเสียน้ำน้อยที่สุด เช่น ระบบน้ำหยด และระบบฉีดฝอย ที่จะเป็นประโยชน์กับการทำเกษตรในประเทศไทยเป็นอย่างมากโดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน หรือพื้นที่แห้งแล้ง เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับอิสราเอล คือ ร้อน แห้งแล้ง และไม่มีน้ำบนผิวดิน "อิสราเอลถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในภาคเกษตร ดังนั้น การลงนามความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น จะส่งผลให้ไทยได้เรียนรู้เทคโนโลยีของอิสราเอล เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาการเกษตรของไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะที่อิสราเอลจะมีลู่ทางในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีของอิสราเอลในประเทศไทยด้วย" พลเอก ฉัตรชัย กล่าว สำหรับโครงการแปลงสาธิตการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงจากอิสราเอลภายใต้กรอบความร่วมมือนี้ ฝ่ายไทยเตรียมเสนอ "โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเกษตรและการใช้น้ำในพื้นที่ชลประทานอ่างเก็บน้ำห้วยประดู่ โครงการชลประทานมหาสารคาม จ.มหาสารคาม" ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาดินเค็ม ดินทรายจัด แลดินปนกรวด เกิดภาวะภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงทุกปี ทำให้แหล่งน้ำผิวดินไม่เพียงพอในการทำเกษตร จึงจะเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากประเทศอิสราเอลที่มีความเชี่ยวชาญ และมีประสบการณ์การศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีในการผลิตสินค้าเกษตรภายใต้สภาวะวิกฤติขาดแคลนน้ำและความแห้งแล้ง ขณะเดียวกัน นอกจากในด้านการพัฒนาองค์ความรู้ในด้านการเกษตรแล้ว ความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นจะส่งให้สองประเทศมีการค้าการลงทุนสินค้าเกษตรระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันอิสราเอลเป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรอันดับที่ 29 ของไทย ที่ในแต่ละปีไทยส่งสินค้าเกษตรส่งออกไปอิสราเอลมีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยปีละ 4,364 ล้านบาท และมีอัตราการส่งออกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 4.82 ต่อปี โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น ปลาทูน่า ข้าว พืชผัก ผลไม้ สับปะรด เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ