สยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ เผย 75% มั่นใจการปฏิรูปตำรวจไม่สำเร็จ

ข่าวทั่วไป Monday September 4, 2017 14:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ก.ย.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (STC) แถลงผลการสำรวจ "ความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อนโยบายการปฏิรูปตำรวจ" สำรวจระหว่างวันที่ 26 ถึง 31 สิงหาคม พ.ศ. 2560 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,213 คน อาชีพตำรวจถือเป็นหนึ่งในอาชีพที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน เนื่องจากตำรวจมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทั่วไปรวมถึงอำนวยความสะดวกและดูแลความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน นอกจากนี้ ตำรวจยังมีหน้าที่ป้องกันปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายต่างๆ และทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนตลอดจนจับกุมผู้กระทำผิดกฎหมายเพื่อนำมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่อย่างไรก็ตาม มีข่าวปรากฏอยู่เป็นระยะอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับการแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่ตำรวจบางส่วน เช่น การรีดไถเรียกรับสินบน การข่มขู่คุกคาม การไม่รับแจ้งความ เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้ประชาชนทั่วไปมีความรู้สึกด้านลบกับการทำงานของตำรวจและส่งผลเสียโดยตรงกับภาพลักษณ์ของอาชีพตำรวจโดยรวม นอกจากนี้ ยังปรากฏข่าวอยู่เป็นระยะเกี่ยวกับประสิทธิภาพและปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นและเชื่อถือของประชาชนด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุดังกล่าว ผู้บริหารประเทศรวมถึงหน่วยงานตำรวจเองจึงมีความพยายามในการดำเนินการปฏิรูปตำรวจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และเป็นการกู้ภาพลักษณ์ของตำรวจให้ดีขึ้น ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นและไว้วางใจให้กับประชาชน อย่างไรก็ดี ผู้คนในสังคมส่วนหนึ่งเชื่อมั่นว่าหากมีการปฏิรูปวงการตำรวจอย่างเป็นรูปธรรมจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของตำรวจ และเพิ่มความเชื่อมั่นเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อตำรวจให้ดีขึ้น แต่ยังมีผู้คนในสังคมบางส่วนวิพากษ์วิจารณ์และตั้งข้อสังเกตว่าการปฏิรูปตำรวจจะดำเนินการให้สำเร็จเป็นรูปธรรมได้จริงหรือไม่ จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อนโยบายการปฏิรูปตำรวจ จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.37 เป็นเพศชายร้อยละ 49.63 อายุ 15 ปีขึ้นไป สามารถสรุปผลได้ ดังนี้ สำหรับพฤติกรรมไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กลุ่มตัวอย่างเคยพบเห็น/เคยได้ยินมากที่สุด 5 อันดับได้แก่ รีดไถ/เรียกรับสินบนคิดเป็นร้อยละ 83.92 ข่มขู่คุกคาม/วางอำนาจบาตรใหญ่คิดเป็นร้อยละ 81.78 ช่วยเหลือ/อำนวยความสะดวกให้ผู้ต้องหาคิดเป็นร้อยละ 79.47 แจ้งข้อหากับประชาชนโดยไม่เป็นธรรมคิดเป็นร้อยละ 76.92 และต่อว่า/ด่าทอ/ทำร้ายร่างกายประชาชนคิดเป็นร้อยละ 73.29 ในด้านความคิดเห็นต่อการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับพฤติกรรมของตำรวจ กลุ่มตัวอย่างประมาณสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 75.85 มีความคิดเห็นว่าข่าวเกี่ยวกับพฤติกรรมไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่ตำรวจส่งผลลบกับภาพลักษณ์ของวงการตำรวจโดยรวม ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 77.16 มีความคิดเห็นว่าข่าวเกี่ยวกับพฤติกรรมไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่ตำรวจส่งผลให้ความเชื่อมั่น-ความเชื่อถือ-ความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อการทำงานของตำรวจโดยรวมลดลง อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 63.48 มีความคิดเห็นว่าการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับพฤติกรรมที่น่าชื่นชมยกย่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีส่วนช่วยเพิ่มภาพลักษณ์ของวงการตำรวจโดยรวมให้ดีขึ้นในความรู้สึกของประชาชนได้ ในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับตำรวจ "น้ำดี" นั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 47.07 เชื่อว่าในปัจจุบันยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในอัตราส่วนประมาณ 51 ถึง 75% ที่เป็นตำรวจ "น้ำดี" เป็นที่พึ่งของประชาชนได้อย่างแท้จริง ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างประมาณหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 33.31 เชื่อว่ามีตำรวจที่เป็น "น้ำดี" ในอัตราส่วนประมาณ 25 ถึง 50% อย่างไรก็ตามมีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 12.86 เชื่อว่ามีตำรวจที่เป็นตำรวจ "น้ำดี" มากกว่า 75% โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 6.76 เชื่อว่ามีน้อยกว่า 25% ส่วนสิ่งที่กลุ่มตัวอย่างอยากจะบอกเจ้าหน้าที่ตำรวจมากที่สุด 5 อย่างคือ บังคับใช้กฎหมายกับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันคิดเป็นร้อยละ 83.43 ดำเนินคดีต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา/โปร่งใสคิดเป็นร้อยละ 81.62 ดำเนินคดีต่างๆ อย่างรวดเร็วคิดเป็นร้อยละ 79.39 ไม่อวดเบ่ง/วางอำนาจคิดเป็นร้อยละ 76.42 และขอให้อดทนในการทำงานคิดเป็นร้อยละ 74.28 ในด้านความรับรู้และความคิดเห็นต่อการปฏิรูปวงการตำรวจ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 56.72 ยอมรับว่าตนเองไม่ทราบว่ารัฐบาลพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจซึ่งกำลังดำเนินงานอยู่ในปัจจุบัน ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียง 43.28 ระบุว่าทราบ ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 66.45 มีความคิดเห็นว่าการปฏิรูปตำรวจอย่างเป็นรูปธรรมจะมีส่วนช่วยเพิ่มความเชื่อมั่น-ความเชื่อถือ-ความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อการทำงานของตำรวจให้สูงขึ้นได้ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 67.52 มีความคิดเห็นว่าการปฏิรูปตำรวจอย่างเป็นรูปธรรมจะมีส่วนช่วยเพิ่มภาพลักษณ์วงการตำรวจโดยรวมให้ดีขึ้นได้ นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 59.19 มีความคิดเห็นว่าการปฏิรูปตำรวจอย่างเป็นรูปธรรมจะมีส่วนช่วยลดจำนวนตำรวจที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่างๆ ลงได้ แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างถึงสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 75.19 ไม่เชื่อว่าคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจที่ตั้งขึ้นจะสามารถดำเนินการปฏิรูปตำรวจให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมได้จริง และเมื่อเปรียบเทียบสิ่งที่มีผลกับความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมในการปฏิรูปตำรวจ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 55.73 มีความคิดเห็นว่าการดำเนินการปฏิรูปตำรวจจะสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมได้นั้นขึ้นอยู่กับทัศนคติ/การปฏิบัติตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจเองมากกว่า ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 17.15 มีความคิดเห็นว่าขึ้นอยู่กับแนวทาง/วิธีการดำเนินการปฏิรูปมากกว่า ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 27.12 มีความคิดเห็นว่าขึ้นอยู่กับทั้งสองสิ่งเท่าๆ กัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ