กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จับมือ กรมวิทยาศาสตร์บริการ อัพเกรดโอทอปไทยด้วยเทคโนโลยีรับอุตสาหกรรม 4.0 คาดปี 61 นำร่อง โอทอป 5 กลุ่ม

ข่าวทั่วไป Friday September 15, 2017 16:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม จับมือ กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและวิสาหกิจชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม แก้ปัญหาผู้ประกอบการไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม นำไปสู่การเสียเปรียบในเชิงการค้า ตลอดจนการยกระดับสินค้าให้ได้มาตรฐาน การพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรม โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และวิสาหกิจชุมชน เริ่มดำเนินการเดือนตุลาคมปีนี้ คาดว่าจะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมจากการดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และวิสาหกิจชุมชน 200-300 ราย และวางเป้าหมาย ภายใน 5 ปี จำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 ราย นำร่องพัฒนาในกลุ่มอุตสาหกรรมได้แก่ อาหารแปรรูป เซรามิก แก้วและกระจก ผลิตภัณฑ์ยางพารา เยื่อและผลิตภัณฑ์กระดาษ ทั้งนี้ ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและวิสาหกิจชุมชนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในวันศุกร์ที่ 8 กันยายน 2560 ณ ห้องประชุมอัครเมธี ชั้น 6 อาคาร ดร.ตั้ว ลพานุกรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ ดร.สุทธิเวช ต.แสงจันททร์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ได้มีนโยบายในการผลักดันและสนับสนุนการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยและการทดสอบในห้องปฏิบัติการไปพัฒนากระบวนการผลิตสินค้า โอทอป เพื่อยกระดับสินค้าให้ได้มาตรฐาน โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และวิสาหกิจชุมชนในด้านผลิตภัณฑ์ โอทอป ทั้ง 5 ประเภท อาหารแปรรูป เซรามิก แก้วและกระจก ผลิตภัณฑ์ยางพารา เยื่อและผลิตภัณฑ์กระดาษ เพื่อพัฒนาให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาและออกแบบกระบวนการผลิต ปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ และกระบวนการผลิตตามมาตรฐานสากล และสามารถใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการพัฒนาและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ โดยได้ดำเนินการในทุกภูมิภาค ในปี 2560 มีผู้ประกอบการที่ได้รับการผลักดันให้เข้าสู่กระบวนการยื่นขอรับรองมาตรฐาน จำนวน 454 ราย และผู้ประกอบการที่ได้รับประโยชน์จากการถ่ายทอดเทคโนโลยี จำนวน 3,858 ราย ดร.พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) มีบทบาทหน้าที่เป็นผู้คัดเลือกผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชน ที่เข้าร่วมโครงการฯต่าง ๆ ของ กสอ. ที่ยังขาดความรู้ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี และระบบดิจิทัลในการบริหาร จัดการธุรกิจหรือต้องการพัฒนาศักยภาพตนเอง ส่งต่อให้กับ วศ. ในการพัฒนาด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมขั้นสูง เพื่อผลักดันไปสู่การต่อยอดในเชิงพาณิชย์ นำมาซึ่งมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น โดยที่ผ่านมา กสอ. มีภารกิจในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้วยดิจิทัลในด้านต่าง ๆ อาทิ การสนับสนุนการนำเทคโนโลยีและดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในกิจการ การใช้โปรแกรม CAD/CAM/CAE เสริมสร้างศักยภาพด้านการผลิต ส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนให้ได้รับการการสร้างช่องทางการตลาดบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยพัฒนาวิสาหกิจชุมชนให้สามารถตอบสนองต่อโลกได้ทันท่วงที ซึ่งผู้ประกอบการ ในยุคอุตสาหกรรม 4.0 จะต้องปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ปัจจุบัน กสอ. พัฒนา SMEs และโอทอป รวมกว่า 7,000 ราย และ ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ภายใน ปี 61 ผู้ประกอบการไม่ต่ำกว่า 50% จะต้องสามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการบริหารจัดธุรกิจ ผ่านโครงการต่าง ๆ ของ กสอ. อาทิ โครงการยกระดับกระบวนการผลิตสินค้า โอทอป ด้วยเทคโนโลยี โครงการพัฒนายกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน โครงการพัฒนา SMEs ด้วยระบบ Digital และโครงการพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนสู่ยุคดิจิทัล เป็นต้น ทั้งนี้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และกรมวิทยาศาสตร์บริการ มีศักยภาพและความพร้อมที่จะสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกัน โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ทำหน้าที่เป็นผู้คัดเลือกผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชน เข้าร่วมโครงการฯ และส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชน ให้ใช้ระบบดิจิทัลเพื่อการพัฒนาและบริหารจัดการธุรกิจ กรมวิทยาศาสตร์บริการ ทำหน้าที่เป็นผู้นำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ไปถ่ายทอดให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชนในทุกภาค และดำเนินการวิจัยพัฒนาการเพิ่มมูลค่าสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วยนวัตกรรม เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชน ให้สามารถเพิ่มผลิตภาพและพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรม ซึ่งผลสำเร็จของการดำเนินงานร่วมกัน คือ ทำให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และวิสาหกิจชุมชน สามารถพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้า ให้มีคุณภาพได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้า และขยายโอกาสเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ตามเป้าหมายการพัฒนาประเทศของรัฐบาลที่สอดคล้องกับแนวทางตามยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดยการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ เริ่มดำเนินการเดือนตุลาคมปีนี้ คาดว่าจะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมจากการดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และวิสาหกิจชุมชน 200-300ราย และวางเป้าหมาย ภายใน 5 ปี จำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 ราย นำร่องพัฒนาพัฒนาในกลุ่มอุตสาหกรรมได้แก่ อาหารแปรรูป เซรามิก แก้วและกระจก ผลิตภัณฑ์ยางพารา เยื่อและผลิตภัณฑ์กระดาษ ดร. พสุ กล่าว สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 02-367-8338 หรือ เข้าไปที่ www.dip.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ