กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบ 33.00-33.20 มองดอลลาร์ฟื้นตัวชั่วคราว

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 25, 2017 14:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.00-33.20 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 33.10 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยมูลค่า 2.4 พันล้านบาท แต่ซื้อพันธบัตร 2.7 พันล้านบาท ส่วนเงินดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่องเทียบกับเงินเยนและทรงตัวเทียบยูโร ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) คงดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ 1.00-1.25% แต่ยังคาดการณ์ว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้งก่อนสิ้นปีนี้แม้เงินเฟ้อลดลงและเฟดจะเริ่มปรับงบดุลให้เข้าสู่ภาวะปกติในเดือนตุลาคม กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ดอลลาร์อาจฟื้นตัวเพียงชั่วคราว เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนจากการเปลี่ยนแปลงของคณะกรรมการของเฟดที่มีสิทธิลงมติตัดสินใจด้านนโยบาย แม้เฟดคาดว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ย 3 ครั้งในปี 2561 ทั้งนี้ เฟดประกาศจะเริ่มลดการถือครองพันธบัตรและหลักทรัพย์ที่ได้รับการค้ำประกันจากสัญญาจำนองในเดือนตุลาคมหลังจากที่ซื้อตราสารเหล่านี้ภายใต้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ(QE) หลังเกิดวิกฤติการเงินในปี 2550-2552 ซึ่งทำให้ขนาดพอร์ตลงทุนของเฟดสูงถึงราว 4.2 ล้านล้านดอลลาร์ โดยในขั้นแรกเฟดจะปรับลดเงินที่นำมาใช้ในการลงทุนใหม่ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน และเพดานการปรับลดเงินลงทุนใหม่มีกำหนดจะเพิ่มขึ้น 1 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนในทุกๆ ไตรมาส จนแตะระดับสูงสุดที่ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน และคาดว่างบดุลของเฟดจะลดลงราว 1 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เทียบกับช่วงก่อนวิกฤต พอร์ตลงทุนของเฟดมีสินทรัพย์เพียง 8 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่เป็นพันธบัตรสหรัฐฯ สำหรับปัจจัยในประเทศ กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์มองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีแนวโน้มตรึงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ในการประชุมวันที่ 27 กันยายน แม้เงินบาทแข็งค่ามากในช่วงที่ผ่านมาและอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับต่ำ แต่การแข็งค่าของเงินบาทมีสาเหตุหลักมาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากกว่าเงินทุนไหลเข้า โดยล่าสุดยอดส่งออกยังคงขยายตัวดีกว่าคาด ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทยระบุถึงการตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยว่า กนง.จะพิจารณาปัจจัยเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงกลุ่มคนต่างๆ ทั้งผู้ฝากเงิน ผู้กู้เงิน และผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (search for yield) โดยผลกระทบของดอกเบี้ยนโยบายซึ่งอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานานอาจเพิ่มความเสี่ยงให้กับระบบการเงินในอนาคตได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ