หน้าหนาว..เตือนการระบาดโรคราน้ำค้างในพืชตระกูลกะหล่ำและตระกูลแตง

ข่าวทั่วไป Wednesday November 8, 2017 18:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 พ.ย.--กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร เตือนเกษตรกรผู้ปลูกพืชตระกูลกะหล่ำและตระกูลแตง ระวังโรคราน้ำค้างระบาดในช่วงหน้าหนาว เกษตรกรวรหมั่นสำรวจแปลง หากพบอาการกลุ่มผงสีขาวหรือสีเทาของสปอร์เชื้อราบริเวณใต้ใบ ให้เตรียมการป้องกันและขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด เพื่อดำเนินการควบคุมและป้องกันกำจัดก่อนที่จะเกิดการระบาดอย่างรุนแรง นายประสงค์ ประไพตระกูล รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ในช่วงนี้เริ่มเข้าสู่ช่วง ฤดูหนาวสภาพอากาศมีความชื้นสูงและมีหมอกในตอนเช้า ซึ่งเป็นสภาพที่เหมาะต่อการระบาดของโรคราน้ำค้าง จึงขอเตือนเกษตรกรผู้ปลูกพืชตระกูลกะหล่ำ และพืชตระกูลแตง ควรหมั่นสำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งโรคราน้ำค้างเป็นโรคที่เกิดกับพืชตระกูลกะหล่ำและพืชตระกูลแตง สามารถเกิดได้ทุกระยะการเจริญเติบโต ตั้งแต่เริ่มงอกจากเมล็ดจนกระทั่งต้นแก่ อาการเริ่มแรกจะเกิดขึ้นที่บริเวณใต้ใบ โดยจะสังเกตเห็นกลุ่มผงสีขาวหรือเทาของสปอร์ โดยเส้นใยของเชื้อราจะเกิดขึ้นเป็นกลุ่ม ๆ ต่อมาเชื้อราจะลามไปด้านหลังใบตรงบริเวณเดียวกัน ใบเกิดแผลสีเหลืองเนื่องมาจากเซลล์ตายและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เนื้อใบบริเวณที่เกิดแผลจะมีลักษณะบางและมีขอบเขตไม่แน่นอนค่อนข้างจะเป็นรูปเหลี่ยม ในกรณีที่แสดงอาการรุนแรงจะเกิดแผลทั้งใบ ทำให้ใบเหลืองและแห้งตาย ถ้าเกิดในระยะกล้าจะทำให้ต้นกล้าโทรมอ่อนแอและตายในที่สุด กรมส่งเสริมการเกษตร จึงขอแนะนำวิธีการป้องกันกำจัดโรคราน้ำค้าง ดังนี้ 1) เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่สะอาดปราศจากเชื้อปะปนอยู่ หากไม่แน่ใจให้ทำลายเชื้อดังกล่าวโดยนำไปแช่ในน้ำอุ่น 45 – 50 องศาเซลเซียส นาน 25 นาที 2) เกษตรกรไม่ควรปลูกผักชนิดเดียวกันซ้ำในแปลงที่เคยเกิดโรค ควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน เพื่อตัดวงจรการระบาดของโรค 3) ควรปลูกพืชผักให้มีระยะระหว่างต้นห่างกันพอสมควร ไม่ควรปลูกชิดกันจนเกินไป 4) ในกรณีที่เกิดโรคขณะปลูก หลังเก็บเกี่ยวแล้วขอให้เกษตรกรเก็บเศษซากพืชผักที่ตกหลงเหลืออยู่ หรือถอนต้นพืชที่งอกขึ้นอยู่ในบริเวณแปลงใกล้เคียงนำไปเผาทำลาย 5) กรณีที่เกิดโรคกับผักในแปลงปลูก อาจป้องกันและลดความเสียหายได้โดยใช้สารเคมีอย่างใดอย่างหนึ่งฉีดพ่นแปลงผักทุก 3 – 5 วันได้แก่ มาเน็บ ,ฟอสฟอรัสแอซิด โปรไธโอคาร์บ อัตราตามคำแนะนำในฉลาก และเพื่อให้ได้ผลในการป้องกันกำจัดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกษตรกรควรใช้เครื่องมือพ่นสารเคมีที่มีกำลังอัดหรือความดันสูง เพื่อให้ละอองสารเคมีที่พ่นออกมาละเอียด จะทำให้สารเคมีที่ใช้ครอบคลุมจับทั่วทุกส่วนของต้นพืช และควรผสมสารเคลือบใบลงไปด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพของสารเคมีดียิ่งขึ้น 6) เกษตรกรควรเลือกปลูกผักชนิดที่มีความต้านทานต่อโรคราน้ำค้าง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ