ธ.ก.ส.จับมือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพัฒนาความร่วมมือวิชาการ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday March 6, 2018 16:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง ธ.ก.ส. ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนางานวิจัย สร้างองค์ความรู้ นวัตกรรม โดยใช้ข้อมูลทางด้านสินเชื่อของเกษตรกร นำมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ในการวิเคราะห์ข้อมูลด้านเครดิต การประกันภัยพืชผลทางการเกษตร ที่สอดคล้องกับ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในภาคชนบท รวมถึงนโยบายรัฐบาล วันนี้ ( 6 มีนาคม 2561) นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และ ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงทางวิชาการ โดยส่งเสริมและประสานความร่วมมือในการจัดทำวิจัย เพื่อสร้างองค์ความรู้ นวัตกรรม อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล โดยใช้ข้อมูลทางด้านสินเชื่อของเกษตรกร มาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับวิเคราะห์ข้อมูลด้านเครดิต (Platform for credit data analytics) การใช้เทคโนโลยี Geographic Information System (GIS) มาพัฒนาระบบประกันความเสียหายของพืชผลทางการเกษตร ที่เกิดจากภัยธรรมชาติ ซึ่งทั้งสองหน่วยงานสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกัน เพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุด ณ ห้องรับรอง อาคารจามจุรี 4 ชั้น 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายอภิรมย์กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ธ.ก.ส.ได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำโครงการผลิใบต้นกล้าการเกษตร เพื่อกระตุ้นและสร้างความมั่นใจให้กับคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ความสามารถ มาร่วมพัฒนาภาคเกษตรกรรมในรูปของทุนการศึกษา 56 ทุน ทุนสนับสนุนการฝึกงานและการศึกษาดูงาน 20 โครงการ และสนับสนุนเงินทุนเพื่อเสริมสร้างทักษะตามแผนธุรกิจ 50 โครงการ รวมเป็นเงินกว่า 23 ล้านบาท สำหรับความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ เป็นการนำจุดเด่นด้านองค์ความรู้ ด้านวิชาการ นวัตกรรม การวิจัยรวมถึงการใช้เทคโนโลยี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาเชื่อมโยงกับ ธ.ก.ส.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการให้บริการสินเชื่อทางการเกษตร และมีความใกล้ชิดกับเกษตรกรที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งจะช่วยให้การพัฒนาด้านการเกษตรมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลโดยเฉพาะปัญหาภาวการณ์เปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศของโลก ที่ถือเป็นภัยคุกคามทางธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรมากที่สุด ดังนั้นทุกประเทศต้องแสวงหาเทคโนโลยีรวมถึงเครื่องมือมารองรับและป้องกันความเสี่ยงให้กับเกษตรกร เช่น การพัฒนาระบบประกันภัยพืชผล ระบบฐานข้อมูลด้านการผลิต ด้านเครดิต โดยสามารถนำมาประยุกต์ใช้ประกอบการตัดสินใจ รวมทั้งมีการกระจายองค์ความรู้ด้านวิจัย นวัตกรรม เทคโนโลยี เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงและได้รับประโยชน์ ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงาน นับเป็นก้าวสำคัญที่จะขับเคลื่อนภาคการเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งและมั่นคง รวมถึงเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้น.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ