กระทรวงพลังงานสนับสนุนการพัฒนาระบบเชื่อมต่อการใช้งานของสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Consortium) ในแต่ละเครือข่ายเข้าด้วยกัน หวังเร่งขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 19, 2018 11:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 มี.ค.--โกลบอลอินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น กระทรวงพลังงาน โดย กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ให้การสนับสนุนการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่างกลุ่มผู้ให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Consortium) ในแต่ละเครือข่ายกับค่ายรถยนต์ต่างๆกว่า 17 หน่วยงาน เพื่อร่วมกันเดินหน้าพัฒนาระบบเชื่อมต่อการใช้งานของแต่ละเครือข่ายเข้าด้วยกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด ดร.ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ร่วมกับ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เดินหน้าพัฒนาโครงการสนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาหรับหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานเอกชน โดยให้การสนับสนุนการลงทุนสาหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าทั้งสิ้น 150 สถานี ภายในระยะเวลา 3 ปี เพื่อเป็นสถานีอัดประจุไฟฟ้านำร่อง และเตรียมความพร้อมสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต สำหรับโครงการสนับสนุนการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้านี้ ได้เปิดรับสมัครผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการไปแล้ว 4 รอบ โดยให้การสนับสนุนกระจายตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งปัจจุบันมีการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าไปแล้วทั้งสิ้นจำนวน 93 หัวจ่าย พร้อมกันนี้ยังได้ริเริ่มโครงการเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่มีอยู่หลากหลายเครือข่าย และบริษัทรถยนต์ที่จำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าประเภท ปลั๊ก-อินไฮบริด (PHEV) และยานยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) โดยได้ร่วมกันลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนาระบบเชื่อมต่อการใช้งานของแต่ละเครือข่ายเข้าด้วยกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้สามารถใช้บริการอัดประจุไฟฟ้าในแต่ละแห่งได้ด้วยบัตรผู้ใช้บริการใบเดียวกัน เบื้องต้นสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับ 17 หน่วยงาน ได้แก่ 1.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 2.บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท กริดวิซ (ประเทศไทย) จำกัด 4. บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จำกัด 5. บริษัท ชไนเดอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด 6. บริษัท จีแอลที กรีน (ประเทศไทย) จำกัด 7. บริษัท ไรเซน เอนเนอร์จี จำกัด 8. บริษัท เดอะ ฟิฟท์ อีลีเมนท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 9. บริษัท วอลโว่คาร์ (ประเทศไทย) จำกัด 10.บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 11. บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด 12. บริษัท อีโวลท์ เทคโนโลยี จำกัด 13. บริษัท เอเอเอส ออโต้ เซอร์วิส จำกัด 14. บริษัท อี.วี.เอฟ (ประเทศไทย) จำกัด 15. บริษัท เอฟโอเอ็มเอ็ม (เอเซีย) จำกัด 16. บริษัท ฮ้อปคาร์ จำกัด 17. บริษัท อินช์เคป (ประเทศไทย) จำกัด และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในการร่วมกันพัฒนาระบบการให้บริการอัดประจุไฟฟ้าตามมาตรฐาน เพื่อรองรับรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทในอนาคตอันใกล้นี้ โดยสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการประสานงานกับผู้แทนของแต่ละหน่วยงานที่ลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อหารือแนวทางในการกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานและข้อตกลงการให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้ารวมถึงแนวทางในการประชาสัมพันธ์รายละเอียดของสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่อยู่ในเครือข่าย เช่น ตำแหน่งที่ตั้ง ประเภทของเต้าเสียบ ต่อไป ทั้งนี้กระทรวงพลังงานยินดีให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาระบบเชื่อมต่อการใช้งานของแต่ละเครือข่ายเข้าด้วยกัน ซึ่งนอกจากผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะได้รับประโยชน์สูงสุดแล้ว ยังส่งผลให้เกิดการขยายจำนวนสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้มากขึ้น เพื่อรองรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ