นปถ.ประชุมขับเคลื่อนการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน สร้างการสัญจรปลอดภัยตามมาตรฐานสากล

ข่าวทั่วไป Friday March 23, 2018 10:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 มี.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย คณะกรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ (นปถ.) ประชุมพิจารณาแผนแม่บทความปลอดภัย ทางถนน พ.ศ. 2560 – 2563 ภายใต้วิสัยทัศน์ "มุ่งมั่นสู่มาตรฐานการสัญจรที่ปลอดภัยด้วยกัน" (Committing to Standard of Safe Journey Together) ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์สำคัญ ทั้งการปฏิรูประบบการจัดการด้านความปลอดภัยทางถนน การเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืน ประเทศไทยขนส่งทางถนนปลอดภัย 4.0 และประชารัฐเพื่อถนนปลอดภัย รวมถึงพิจารณาการจัดตั้งสถาบันวิชาการด้านความปลอดภัยทางถนน และแนวทางการบูรณาการข้อมูลเพื่อใช้ในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ข้อมูล 3 ฐาน) เพื่อให้ประเทศไทยมีการสัญจรปลอดภัยตามมาตรฐานสากลอย่างยั่งยืน พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการนโยบายป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ (นปถ.) เปิดเผยว่า อุบัติเหตุทางถนนเป็นสาเหตุสำคัญที่คร่าชีวิตคนไทยเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ รัฐบาลได้กำหนดให้การสร้างความปลอดภัยทางถนนเป็นวาระแห่งชาติ และมอบหมายให้ศูนย์อำนวยการ ความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณการขับเคลื่อนการป้องกันและลดอุบัติเหตุ ทางถนน ภายใต้กรอบทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน พ.ศ.2554 - 2563 ดังนั้น ศปถ. จึงได้จัดประชุมคณะกรรมการนโยบายป้องกัน และลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ (นปถ.) เพื่อพิจารณาแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2560 – 2563 ตามวิสัยทัศน์ "มุ่งมั่นสู่มาตรฐาน การสัญจรที่ปลอดภัยด้วยกัน" (Committing to Standard of Safe Journey Together) โดยให้ความสำคัญกับการยกระดับการบริหารจัดการ ความปลอดภัยทางถนนที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านผู้ใช้รถใช้ถนน ยานพาหนะ ถนน และสิ่งแวดล้อม ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์สำคัญ ดังนี้ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การปฏิรูประบบการจัดการด้านความปลอดภัยทางถนน โดยเพิ่มขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการขององค์กร ควบคู่กับการพัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูล และกลไกการประเมินผลที่ครบวงจร พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายจราจร รวมถึงผลักดันการจัดตั้งสถาบันวิชาการด้านความปลอดภัยทางถนน ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืน โดยบรรจุเรื่องความปลอดภัยทางถนนในหลักสูตรการศึกษาและกิจกรรมเสริมทุกระดับชั้น รณรงค์สร้างจิตสำนึกความปลอดภัยทางถนนผ่านทุกช่องทาง ส่งเสริมการสร้างผู้ขับขี่คุณภาพด้วยการเพิ่มความเข้มงวดในการออกใบอนุญาตขับรถตามมาตรการ "ออกยาก ยึดง่าย" ยุทธศาสตร์ที่ 3 ประเทศไทยขนส่งทางถนนปลอดภัย 4.0 โดยยกระดับปลอดภัยของยานพาหนะและถนนตามมาตรฐานสากล อีกทั้งส่งเสริมการขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัยด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ยุทธศาสตร์ที่ 4 ประชารัฐเพื่อถนนปลอดภัย โดยสร้างการมีส่วนร่วมลดอุบัติเหตุทางถนนในทุกภาคส่วน ด้วยการดำเนินมาตรการองค์กรด้านการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย การส่งเสริมให้ภาคเอกชนดำเนินกิจกรรม CSR ด้านความปลอดภัยทางถนน การกำหนดกติกาชุมชนป้องปรามพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ นอกจากนี้ ที่ประชุม นปถ. ยังได้พิจารณารายงานผลการศึกษาจัดตั้งสถาบันวิชาการด้านความปลอดภัยทางถนน พร้อมเสนอให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการศึกษารูปแบบ ขั้นตอนการจัดการ และอำนาจหน้าที่ขององค์กร อีกทั้งพิจารณาแนวทางการบูรณาการข้อมูลเพื่อใช้ในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน : ข้อมูล 3 ฐาน ได้แก่ ข้อมูลมรณบัตรจากกระทรวงสาธารณสุข ข้อมูล POLIS จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และข้อมูล E – claim จากบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด เพื่อให้สถิติอุบัติเหตุทางถนนของประเทศมีเอกภาพบนฐานข้อมูลเดียวกันสำหรับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้ประโยชน์ในการอ้างอิง รวมถึงประกอบการกำหนดมาตรการและพัฒนางานด้านความปลอดภัยทางถนนให้มีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายในการสร้างประเทศไทยให้มีการสัญจรปลอดภัยตามมาตรฐานสากลอย่างยั่งยืน นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการนโยบายป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะผู้ช่วยเลขานุการ นปถ. จะได้นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากที่ประชุม นปถ. ไปแก้ไขเพิ่มเติมให้แผนแม่บทด้านความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2560 – 2563 ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ในทุกประเด็น ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบสำหรับเป็นกรอบแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีเอกภาพและเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ศปถ.ได้มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพกลไกการบริหารจัดการความปลอดภัยทางถนน ให้เป็นระบบและให้ความสำคัญกับการดำเนินงานลดปัจจัยเสี่ยงจากอุบัติเหตุทางถนนในทุกด้าน เพื่อขับเคลื่อนการสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ