ร.ร.ชุมชนบ้านวังไทร ยกระดับ “น้ำบาดาลโรงเรียน” พัฒนาสู่ “น้ำบาดาลเพื่อชุมชน”

ข่าวทั่วไป Tuesday April 3, 2018 17:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--กรมทรัพยากรน้ำบาดาล แม้โรงเรียนชุมชนบ้านวังไทร ต.บ้านนา อ.บ้านนา จ.นครนายก จะอยู่ติดถนนใหญ่ แต่ในอดีตที่ผ่านมาโรงเรียนดังกล่าวประสบปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำสะอาดถึงแม้จะอยู่ในพื้นที่ใกล้อำเภอเมืองก็ตาม และเนื่องจากเป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาทำให้จำนวนนักเรียนมีมาก และแหล่งน้ำในบริเวณใกล้เคียง ก็ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้น้ำ ทางโรงเรียนจึงได้ร้องขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเร่งดำเนินการสำรวจหาแหล่ง น้ำบาดาล พร้อมก่อสร้างระบบประปาบาดาลและระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำบาดาล ตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) นายอำนาจ ยวงสอาด ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านวังไทร กล่าวว่า ในอดีตเด็กนักเรียนที่นี่ต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ และโรงเรียนได้ใช้น้ำจากระบบประปาหมู่บ้าน ซึ่งไม่สะอาดและไม่เพียงพอในการจ่ายให้ชาวบ้าน โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้งยิ่งเป็นปัญหามาก น้ำไม่ค่อยไหล บางครั้งก็ไหลออกมาเป็นตะกอนสีแดง ผู้ปกครองก็มาบ่นเรื่องคุณภาพของน้ำที่โรงเรียน โรงเรียนจึงแก้ปัญหาโดยซื้อน้ำประปาบรรทุกใส่รถมาเติมในแท็งก์ของโรงเรียนเพื่อให้นักเรียนและครูในโรงเรียนบริโภค ประมาณปี 2558 โรงเรียนจึงได้ทำหนังสือขอรับการสนับสนุนน้ำบาดาลโรงเรียนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาล โดยสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 3 (สระบุรี) ได้มาดำเนินการให้แล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2560 ในส่วนของการนำน้ำบาดาลมาใช้ประโยชน์ในโรงเรียน นายอำนาจ กล่าวว่า ได้นำน้ำบาดาลที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพน้ำแล้วมาใช้ใน 4 โครงการ คือ โครงการอาหารกลางวันสำหรับเด็ก โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน เป็นการนำน้ำบาดาลไปรดแปลงผักที่โรงเรียน ส่งเสริมให้ครูและนักเรียนปลูกเพื่อนำมาบริโภคในโรงเรียน และจำหน่ายในตลาดนัดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่โรงเรียนจัดขึ้นทุกวันศุกร์ โครงการทันตสุขภาพ เป็นการนำน้ำบาดาลมาให้นักเรียนในการแปรงฟัน และโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในโรงเรียน คือการนำไปรดต้นไม้ สนามหญ้า เพื่อทำให้โรงเรียนมีสภาพแวดล้อมที่ดี และสวยงาม นอกจากนี้ โรงเรียนยังได้บริการน้ำดื่มให้แก่ชุมชนบ้านวังไทรโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยกำหนดให้ชาวบ้านในชุมชนมารับน้ำดื่มได้ในช่วงระหว่างเวลา 07.00-16.00 น. ปริมาณน้ำที่นำไปได้ไม่เกินครั้งละ 2 แกลลอนต่อคน เพื่อจะได้บริการแก่คนอื่นๆ ได้อย่างทั่วถึง และยังมีประชาชนทั่วไปที่เข้ามาขอใช้สนามกีฬาโรงเรียนเพื่อออกกำลังกายและแข่งกีฬา หรือหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาอบรมสัมมนา โรงเรียนก็ให้บริการ น้ำบาดาลโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเช่นกัน แม้จะมีเสียงเรียกร้องให้โรงเรียนเก็บค่าใช้จ่ายจากการใช้น้ำ แต่โรงเรียนเป็นสถาบันการศึกษามีหน้าที่บริการสังคม หากเก็บค่าใช้น้ำก็เหมือนว่าโรงเรียนขาดความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ในเชิงจิตวิทยาจะมีผลทำให้โรงเรียนและชุมชนเกิดความห่างเหิน แต่เมื่อโรงเรียนให้บริการเรื่องน้ำแก่ชุมชน ทำให้ได้น้ำใจระหว่างโรงเรียนกับชุมชน การขอความร่วมมือในด้านต่างๆ ก็ทำได้ง่าย เช่น เมื่อโรงเรียนขาดแคลนงบประมาณในการพัฒนาโรงเรียน จะสร้างห้องสมุด หรือสร้างห้องน้ำเพิ่มเติม เมื่อขอความร่วมมือชุมชนก็จะให้ความร่วมมือเต็มที่ สำหรับผลพลอยได้อีกด้านหนึ่งจากกรณีที่เด็กมาเล่นกีฬาในโรงเรียนในตอนเย็น หรือในช่วงวันหยุดเสาร์และอาทิตย์ เขาก็จะช่วยดูแลและเป็นหูเป็นตาให้โรงเรียน บางครั้งก็ช่วยห้ามปรามคนนอกที่มีพฤติกรมเกเรไม่ให้มายุ่งกับโรงเรียน โรงเรียนจึงไม่ต้องกังวลกับปัญหาการถูกงัดแงะหรือลักขโมยเลย ความร่วมมือเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้เพราะโรงเรียนเปิดให้บริการกับชุมชน ในส่วนของค่าใช้จ่ายจากการใช้น้ำ นายอำนาจ กล่าวว่า เนื่องจากโรงเรียนชุมชนบ้านวังไทรเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก งบประมาณอุดหนุนรายหัวที่โรงเรียนได้รับจึงไม่มาก เมื่อนำมาจ่ายค่าน้ำประปา ค่าไฟในแต่ละเดือน ก็แทบไม่มีงบประมาณไปพัฒนาโรงเรียนในด้านต่างๆ เพราะในช่วงที่ใช้น้ำประปา โรงเรียนต้องจ่ายค่าน้ำเดือนละประมาณ 4,000 บาท หรือปีละ 48,000 บาท แต่เมื่อมาใช้น้ำบาดาล ก็มีค่าใช้จ่ายหลักๆ ที่ต้องเสียคือ ค่าไฟฟ้าสำหรับสูบน้ำ และค่าซ่อมบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำและอุปกรณ์อื่นๆ เป็นจำนวนเงินไม่มาก ดังนั้น ในแต่ละปีโรงเรียนจึงสามารถประหยัดงบประมาณได้หลายหมื่นบาท สามารถนำเงินที่เหลือไปพัฒนาโรงเรียนในด้านอื่นๆ ได้อีก นายทวีศักดิ์ เพ็ชรรักษ์ นายช่างเครื่องกลชำนาญงาน เจ้าหน้าที่สำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 3 สระบุรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อสนับสนุนน้ำดื่มสะอาดให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ มาตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน ดำเนินการแล้วเสร็จกว่า 2,600 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งโรงเรียนที่ได้รับการสนับสนุนโครงการฯ มีทั้งรูปแบบโรงเรียนขนาดใหญ่ จำนวนนักเรียนกว่า 200 คนขึ้นไป และโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวนนักเรียนมากกว่า 100 คนขึ้นไป กระจายอยู่ทั่วทั้งประเทศ ส่งผลให้เด็กนักเรียนไทยและบุคลากรทางการศึกษาเข้าถึงแหล่งน้ำบาดาลที่สะอาดและเพียงพอ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ