ยุคใหม่สินค้าเกษตร! วิทยาศาสตร์ฯ มธ. เปิดตัวแอปฯ “ออร์แกนิค” ระบบตรวจสอบแหล่งปลูกจนถึงตลาด เพื่อยกระดับสินค้าสู่เกษตรไฮเอนด์ นำร่องใช้จริงแล้ว 18 ฟาร์ม

ข่าวทั่วไป Monday May 14, 2018 11:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 พ.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ชี้เกษตรกรยุค 4.0 ต้องปรับตัวให้เท่าทันโลก ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วยเทคโนโลยี ผ่านการใช้ "นวัตกรรม" ในการพัฒนาคุณภาพผลผลิต พร้อมเปิดตัวแอปพลิเคชัน "ออร์แกนิค" โดยผู้บริโภคสามารถ "สแกนคิวอาร์โค้ด 1 ครั้ง" เพื่อตรวจสอบคุณภาพสินค้าในทุกระยะการผลิต และลักษณะของผลผลิตว่าตรงตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อินทรีย์ พร้อมรับรองมาตรฐานด้วยใบรับรองฯแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อยกระดับอีกขั้นของการรับรองมาตรฐานพืชผลออร์แกนิค ทั้งระบบหน่วยตรวจรับรองบุคคลที่สามและ/หรือพีจีเอส และสร้างความน่าเชื่อถือแก่ผู้บริโภค ตลอดจนสามารถเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ แอปฯ ดังกล่าวได้รับการจดอนุสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีการนำร่องใช้จริงแล้ว 18 ฟาร์ม ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือ กลาง ใต้ และตะวันออก และพร้อมเดินหน้าขยายการใช้งานอีก 5 จังหวัดภายในปี 2561 สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อเพื่อขอรับคำปรึกษา หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. โทรศัพท์ 02-564-4491, 02-564-4495 รศ.ดร.สมชาย ชคตระการ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวว่า ในปัจจุบันที่โลกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี และมุ่งหวังให้เศรษฐกิจประเทศเติบโตได้อย่างรุดหน้าและยั่งยืนได้นั้น จำเป็นต้องมีการประยุกต์ใช้นวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์ มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในทุกภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคการเกษตร ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจไทย แต่ทุกวันนี้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเกษตร ยังไม่ได้รับความสนใจในการพัฒนามากนัก ทั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ซึ่งเล็งเห็นถึงความสำคัญของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี จึงได้สร้างสรรค์เครื่องมือที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพด้านเกษตรที่มีคุณภาพจำนวนมาก อาทิ เวชภัณฑ์ป้องกันโรคในพืช นวัตกรรมยืดอายุผลิตผลมะนาวเพื่อการส่งออก ชุดอุปกรณ์ควบคุมการรดน้ำอัจฉริยะต้นทุนต่ำ (Smart Farm) เป็นต้น เพื่อให้เกษตรกรไทยมีองค์ความรู้ สามารถประยุกต์ใช้นวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิต อีกทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย อันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจประเทศในภาพรวม ภายใต้ยุทธศาสตร์ SCI+BUSINESS ผศ.ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน "ออร์แกนิค" กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. พัฒนาแอปพลิเคชัน "ออร์แกนิค" (Organic Ledger) สำหรับรองรับระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรอินทรีย์ ด้วยระบบจีพีเอส (Participatory Guarantee System, PGS) ภายใต้การจัดระบบโดย มูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย บอกถึงคุณภาพผลผลิตและฟาร์มของเกษตรกร รวมถึงสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ได้ทั้งชื่อเกษตรกร ชื่อฟาร์ม พิกัดสถานที่ตั้ง ช่องทางการติดต่อ ภาพผลผลิตจริง ไทม์ไลน์การเพาะปลูกของเกษตรกร รวมถึงวันและเวลาที่เก็บเกี่ยวอย่างชัดเจน เพียงแค่ 'สแกนคิวอาร์โค้ด 1 ครั้ง' ผศ.ดร.ดุสิต กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแอปฯ ดังกล่าว ยังสามารถบอกลักษณะของผลผลิตว่าตรงตามมาตรฐานสากลของผลิตภัณฑ์อินทรีย์ โดยจะเชื่อมโยงข้อมูลไปยัง ระบบบัญชีแยกประเภท (Ledger) และฐานข้อมูลเกษตรกรผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ของของมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย โดยที่เกษตรกรจะเป็นผู้กรอกข้อมูลเข้าระบบด้วยไฟล์ดิจิทัล อาทิ การวางแผนการผลิต การปฏิบัติในฟาร์ม การนำเข้าปัจจัยการผลิต ระยะการปลูกและการเติบโตของพืช ฯลฯ และเมื่อครบทั้งกระบวนการผลิตแล้ว คณะผู้วิจัยจะลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพ และตรวจเช็คข้อมูลการบันทึกย้อนหลังของเกษตรกรอีกครั้ง เพื่อประเมินว่าผลผลิตในฟาร์มนั้นๆ มีคุณภาพและปลอดสารเคมี 100 เปอร์เซนต์หรือไม่ โดยในกรณีที่ผ่านมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ที่กำหนด ผลผลิตและฟาร์มของเกษตรกร จะได้รับใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Certificate) และผลิตคิวอาร์โค้ด สำหรับแปะลงบนผลผลิตเพื่อวางจำหน่ายในเชลฟ์สินค้า (Shelf) ของห้างสรรพสินค้าชั้นนำ เพื่อยกระดับอีกขั้นของการรับรองมาตรฐานพืชผลออร์แกนิค และสร้างความน่าเชื่อถือแก่ผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม แอปพลิเคชัน "ออร์แกนิค" ได้รับการจดอนุสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีการนำร่องใช้จริงในพื้นที่ฟาร์มครอบคลุมพื้นที่ภาคกลาง เหนือ ใต้ และตะวันออก อาทิ จังหวัดสงขลา จังหวัดสกลนคร และจังหวัดเชียงใหม่ รวม 18 ฟาร์ม และพร้อมเดินหน้าขยายการใช้งานอีก 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดสระแก้ว และจังหวัด ลำปาง ภายในปี 2561 โดยที่ล่าสุด ผลงานดังกล่าว ได้รับรางวัลเหรียญทองแดงและรางวัล Special Prize จากประเทศอิหร่าน การันตีคุณภาพ จากเวทีประกวดสิ่งประดิษฐ์เวทีนานาชาติ ครั้งที่ 46 (46th International Exhibition of Inventions of Geneva) ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ (Switzerland) ผศ.ดร.ดุสิต กล่าวทิ้งท้าย สำหรับผู้สนใจแอปพลิเคชันดังกล่าว สามารถติดต่อเพื่อขอรับคำปรึกษา หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. โทรศัพท์ 02-564-4491, 02-564-4495 สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ www.sci.tu.ac.th หรือเฟสบุ๊คแฟนเพจ www.facebook.com/ScienceThammasat

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ