มูลนิธิเอสซีจี ชวนน้อง ปวส. และ ป.ตรี “กล้า ลอง ดี” กับ “โครงการเยาวชนคนทำดี” ปี 6 รวมกลุ่มเสนอโครงการเพื่อสังคม ชิงเงินสนับสนุนสูงสุดโครงการละ 1 แสนบาท

ข่าวทั่วไป Monday May 14, 2018 12:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 พ.ค.--เอสซีจี มูลนิธิเอสซีจี เชื่อมั่นในคุณค่าของคน สานต่อ "โครงการเยาวชนคนทำดี" ปีที่ 6 ให้น้องๆ นิสิตนักศึกษาปริญญาตรีหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ได้มีโอกาสนำความรู้ ความสามารถจากการเรียน มาประยุกต์ใช้สร้างสรรค์โครงการที่เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม เพราะเชื่อว่าเยาวชนที่รับผิดชอบต่อสังคมในวันนี้ ย่อมจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ "เก่งและดี" ในวันหน้า สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า "ในปี 2561 นี้ โครงการเยาวชนคนทำดี โดยมูลนิธิเอสซีจี ได้เปิดรับสมัครต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 6 ภายใต้แนวคิด "กล้า ลอง ดี" เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้กล้าออกจาก Comfort zone แล้วลองกระโจนไปทำความดี ซึ่ง 5 ปีที่ผ่านมานิสิต นักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการจะได้ลงพื้นที่ทำโครงการจริงเพื่อฝึกการค้นคว้า การคิดวิเคราะห์ และการแก้ไขอุปสรรคที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงาน นับว่าเป็นประสบการณ์ล้ำค่าที่หาไม่ได้จากห้องเรียน ขณะเดียวกันการทำโครงการด้วยจิตอาสาจะทำให้น้องๆ รู้จักการทำงานเป็นทีม มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ในวันข้างหน้าน้องๆ จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ใช้ชีวิตเพื่อตนเองและผู้อื่นอย่างมีคุณค่า จึงขอเชิญชวนน้องๆ มารวมตัวกันเพื่อทำโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ถึง 15 มิถุนายน 2561 ซึ่งโครงการที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะได้รับงบประมาณดำเนินงานสูงสุดโครงการละ 100,000 บาท" น้องนิค-นายกิตติพงษ์ บำรุงพงษ์ นักศึกษาชั้น ปวส.2 สาขาวิชาปิโตรเคมี วิทยาลัยเทคนิคระยอง เล่าประสบการณ์จากการทำโครงการกังหันน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ที่เขาและเพื่อนๆ ได้ร่วมกันแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียจากบ่อพักน้ำเสียของเรือนจำกลางระยองที่เอ่อล้นเข้าไปเจิ่งนองบ้านเรือนของชุมชนว่า "เมื่อปีที่แล้วผมและเพื่อนสมัครโครงการเยาวชนคนทำดี ปีที่ 5 เพื่อไปช่วยแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วเรือนจำและชุมชนโดยรอบ รวมทั้งยังไหลเอ่อเข้าไปในชุมชนด้วย สิ่งที่เราทำคือการประกอบกังหันโดยต่อวงจรไฟฟ้าเข้ากับแผงโซลาเซลล์เพื่อช่วยปรับคุณภาพน้ำให้ดีขึ้น ชาวบ้านก็ดีใจเพราะปัญหากลิ่นไม่พึงประสงค์หมดไป ตอนแรกผมไม่มั่นใจเท่าไหร่ว่าจะทำได้สำเร็จ แต่พอได้ลงมือทำแล้ว ผมภูมิใจและประทับใจกับโครงการนี้มากเพราะช่วยทำให้ผมมีความรับผิดชอบมากขึ้น และช่วงทำโครงการ ตัวผม เพื่อน รุ่นพี่ แม้แต่อาจารย์ก็ได้อยู่ด้วยกันบ่อยขึ้น ทำให้พวกเราสนิทและเปิดใจฟังกันมากขึ้น" ด้าน น้องฟ้า-นางสาวนวลอนงค์ จรลี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์และการจัดการการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ผู้สนใจวิถีชีวิตชาวมอญในหมู่บ้านตากแดด ต.บางเตย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี หนึ่งในผู้เสนอโครงการมอญเล่าเรื่อง เมืองสามโคก ได้รวมกลุ่มเพื่อนๆ จากคณะมนุษยศาสตร์ นิเทศศาสตร์ และบริหารธุรกิจ จัดทำ "เครื่องมือศึกษาชุมชน : แผนที่เดินดิน ปฏิทินประเพณี ทำเนียบภูมิปัญญา ไอดอลชุมชน" เพื่อให้สืบทอดไปยังรุ่นลูกหลานในชุมชน อีกทั้งยังสามารถเผยแพร่ต่อไปยังบุคคลภายนอกที่สนใจได้อีกด้วย โดยน้องฟ้าเล่าว่า "เราไปเก็บข้อมูลวัฒนธรรมประเพณีของคนในชุมชนเชื้อสายมอญ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนในชุมชนตั้งใจอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลานอยู่แล้ว ทุกคนจึงมีความยินดีบอกเล่าข้อมูลเพื่อให้เรานำไปจัดทำเป็นเครื่องมือศึกษาชุมชน ก่อนส่งมอบให้ชุมชนเก็บไว้ให้ลูกหลานศึกษา และเราก็ขออนุญาตนำมาเผยแพร่ให้คนที่สนใจด้วย ได้แก่ แผนที่เดินดิน ที่วาดลักษณะของหมู่บ้านเป็นแผนที่และปักหมุดไว้ว่าบ้านหลังไหนมีความถนัดหรือมีภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องใด จากนั้นเมื่อได้แผนที่แล้ว เราก็เข้าไปพูดคุยกับบ้านที่ปักหมุดไว้เพื่อนำมาจัดเก็บเป็นทำเนียบภูมิปัญญาของชุมชน ขณะเดียวกัน เราก็มีความคิดว่าอยากที่จะปั้นลุง ป้า น้า อาในชุมชนซึ่งเป็นต้นตำรับขององค์ความรู้แต่ละเรื่องให้เป็นไอดอลของชุมชน เพื่อเป็นมัคคุเทศน์ที่เชี่ยวชาญในการนำเที่ยวให้กับนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ เรายังพบว่าชาวมอญยึดถือปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณี เราจึงนำข้อมูลมาจัดทำปฏิทินประเพณีเพื่อจะได้เชิญชวนคนมาท่องเที่ยวเรียนรู้วัฒนธรรมที่น่าสนใจนี้ หนูมองว่าการทำกิจกรรมนอกเหนือจากการเรียนอย่างโครงการเยาวชนคนทำดีนี้ถือว่าได้ประสบการณ์หลายอย่างที่ไม่สามารถได้จากห้องเรียน เลยอยากให้น้องๆ ได้มาลองทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์เหมือนกับหนู และขอขอบคุณมูลนิธิเอสซีจีที่เชื่อมั่นและให้โอกาสพวกเราได้ทำโครงการจนสำเร็จด้วย" ด้าน ป้าไก่-เบญจวรรณ สุทธิผล ชาวบ้านในชุมชนบ้านตากแดด ต.บางเตย อ.สามโคก จ.ปทุมธานี เล่าถึงความรู้สึกประทับใจต่อน้องๆ ที่ทำให้คนในชุมชนได้หันกลับมาหวงแหนความงดงามของวัฒนธรรมประเพณีโบราณว่า "ถ้านักศึกษาไม่เข้ามาสืบค้นเรื่องราววัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่นในครั้งนี้ คนในชุมชนก็อาจจะหลงลืมไปเพราะเห็นเป็นเรื่องเคยชิน แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นวิถีชีวิตที่ควรเก็บรักษาเพื่อสืบทอดให้ลูกหลานต่อไป เช่น การทำข้าวแช่ หรือการทำหางหงส์และแห่ไปแขวนไว้ที่วัดในวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ ป้าจึงอยากขอบคุณน้องๆ กลุ่มนี้มากที่เข้ามาบอกว่าบ้านมอญของเรามีดีและทำให้เราได้ช่วยกันรักษาไว้ ซึ่งป้าเชื่อว่าเด็กๆ ที่มีความคิดที่ดีและเก่งอย่างนี้จะโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ช่วยพัฒนาสังคมประเทศชาติได้อีกมากมาย" น้องๆ ที่สนใจสมัครร่วมโครงการ "เยาวชนคนทำดี" สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมพร้อมดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.scgfoundation.orgตั้งแต่วันนี้ถึง 15 มิถุนายน 2561 หรือติดตามข่าวสารโครงการได้ผ่าน Facebook Fanpage "เยาวชนคนทำดี" และสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางโทรศัพท์ 02-586-5218 หรือ 02-586-5506

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ