สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 14-18 พ.ค. 61 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 21-25 พ.ค. 61

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 21, 2018 14:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--ปตท. สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 14-18 พ.ค. 61 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 21-25 พ.ค. 61 โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 2.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 78.75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 0.71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 71.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 2.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 75.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 3.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 89.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น เหรียญสหรัฐฯ 2.44 ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 92.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก - ความตึงเครียดในตะวันออกกลางทวีความรุนแรงขึ้นหลังสหรัฐฯ ย้ายสถานทูตในอิสราเอลจากเมือง Tel Aviv มาเมือง Jerusalem จนเกิดเหตุปะทะระหว่างทหารอิสราเอลกับชาวปาเลสไตน์ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายสิบรายและบาดเจ็บนับพันราย ส่งผลให้กระแสต่อต้านสหรัฐฯ และอิสราเอลในหมู่ชาวอาหรับประทุขึ้นอย่างรุนแรง ทั้งนี้ประธานาธิบดีอียิปต์ Abdel Fattah al-Sisi เห็นว่าทุกฝ่ายควรยับยั้งการใช้กำลัง เพื่อไม่ให้เกิดสมรภูมิใหม่ในตะวันออกกลางที่คุกรุ่นด้วยไฟสงครามตัวแทน (Proxy War) ในซีเรียและเยเมน - ผลสำรวจนักวิเคราะห์ประเมินมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ อาจทำให้ปริมาณส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านที่ส่งออกเดือน เม.ย. 61 อยู่ที่ 2.62 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลง 300,000-500,000 บาร์เรลต่อวัน ในปี พ.ศ. 2561 และ ลดลง 700,000 บาร์เรลต่อวัน ในช่วงครึ่งแรกของปี พ.ศ. 2562 ขณะที่ International Energy Agency (IEA) คาดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของเวเนซุเอลาจะทำให้ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบเฉลี่ยปี พ.ศ. 2561 อยู่ที่ระดับ 1.43 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากปีก่อน700,000 บาร์เรลต่อวัน - วันที่ 20 พ.ค. 61 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ นาย Steven Mnuchin กล่าวว่าสหรัฐฯและจีนตกลงยกเลิกมาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจด้วยการขู่ตั้งกำแพงภาษีต่อกัน โดยจีนจะนำเข้าสินค้า อาทิ พลังงาน และสินค้าเกษตร รวมทั้งบริการจากสหรัฐฯ เพิ่มเพื่อลดความไม่สมดุลทางการค้า ข้อสรุปข้างต้นยุติความกังวลว่าจะเกิดสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนซึ่งจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจโลก - Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 พ.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.4ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 432.4 ล้านบาร์เรล ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ - IEA ปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตของอุปสงค์น้ำมันดิบโลกในปี พ.ศ. 2561 อยู่ที่ 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมซึ่งคาดการณ์ไว้ที่ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นกระทบอุปสงค์น้ำมันโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่ลดหรือเลิกการอุดหนุนราคาน้ำมัน - EIA คาดการณ์การผลิตน้ำมัน Shale Oil เดือน มิ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 150,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 7.18 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ การผลิตน้ำมันShale Oil เพิ่มขึ้นมากที่สุดจากแหล่งผลิต Permian ที่เพิ่มขึ้น 8,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 3.28 ล้านบาร์เรลต่อวัน - สถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุด 15 พ.ค. 61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับ Net Long Position ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 20,893 สัญญา อยู่ที่ 548,555 สัญญา - Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุด 15 พ.ค. 61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับ Net Long Position ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 15,322 สัญญา อยู่ที่ 419,907 สัญญา แนวโน้มราคาน้ำมัน ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากบรรยากาศการลงทุนที่คึกคัก หลังสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมีท่าทียุติลง เนื่องจากจีนตกลงนำเข้าสินค้าและบริการจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าในหมวดพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ เพื่อลดยอดขาดดุลทางการค้าของสหรัฐฯ ต่อจีนซึ่งล่าสุดในปี 2560 อยู่ที่ 3.35แสนล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ไม่มีการกล่าวถึงเป้าหมาย 2 แสนล้านดอลลาร์ต่อปีซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการหารือไว้ ต่อมาสำนักข่าว Xinhua ของจีนชี้ว่าผลการเจรจาครั้งนี้เป็นการสมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (Win-Win) เพราะจีนได้ประโยชน์จากการกระจายแหล่งสินค้านำเข้า ทั้งยังได้สินค้าที่มีคุณภาพจากสหรัฐฯ ให้จับตาการทำสัญญานำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ของสหรัฐฯ รวมถึงสัญญาก่อสร้างท่านำเข้า LNG ที่จีน เนื่องจากสหรัฐฯ กำลังเน้นส่งออก LNG ขณะที่จีนมีความต้องการใช้ LNG เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง ด้านนาย Larry Kudlow ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของทำเนียบขาว แจงว่าไม่มีการทำข้อตกลงและไม่ได้คาดหวังแต่แรกว่าจะมีข้อตกลงใดทั้งสิ้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือแถลงการณ์ร่วมกันของสองประเทศมหาอำนาจ ซึ่งจะมีการเจรจารายละเอียดต่อไป ทั้งนี้ นาย Kudlow สนับสนุนให้เกิดการปรองดองระหว่างทั้งสองประเทศ และไม่พยายามกำหนดเงื่อนไขหรือเป้าหมายที่ตายตัวให้จีนปฏิบัติตาม แต่ต้องการสร้างความเข้าใจกันในก้าวแรกเพื่อให้เกิด 'ก้าวต่อไป' ร่วมกัน นอกจากนี้ ทั่วโลกยังจับตาการเลือกตั้งประธานาธิบดีเวเนซุเอลาในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดผลปรากฏว่านาย Nicolas Maduro ประธานาธิบดีคนปัจจุบันเป็นผู้ชนะ (ได้ดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2 ระยะเวลา 6 ปี) อาจทำให้สหรัฐฯ ออกมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติม ซึ่งจะกระทบต่อการผลิตน้ำมันดิบของเวเนซุเอลา ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 77.0-81.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 70.0-74.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 74.0-78.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นจาก Petroleum Planning and Analysis Cell (PPAC) ของอินเดีย รายงานอุปสงค์น้ำมันเบนซินในเดือน เม.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 9.3 % อยู่ที่ 646,000 บาร์เรลต่อวัน และผู้ค้าน้ำมันคาดอินโดนีเซียจะนำเข้าน้ำมันเบนซินในเดือน มิ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 500,000บาร์เรล มาอยู่ที่ 11 ล้านบาร์เรล เพื่อเก็บสำรองในช่วงรอมฎอน และ โรงกลั่น Kawasaki (กำลังการกลั่น 162,000 บาร์เรลต่อวัน) และโรงกลั่น Oita (กำลังการกลั่น136,000 บาร์เรลต่อวัน) ของ บริษัท JXTG Nippon Oil & Energy ในญี่ปุ่นปิดซ่อมบำรุงตั้งแต่ วันที่ 15 พ.ค.-30 มิ.ย. 61 อย่างไรก็ตาม Ceylon Petroleum Corp. (Ceypetco) บริษัทน้ำมันแห่งชาติของศรีลังกาประกาศเพิ่มราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน (EURO 4) 20 รูปีต่อลิตร (ประมาณ 4 บาทต่อลิตร) มาอยู่ที่ 137 รูปีต่อลิตร (ประมาณ 28 บาทต่อลิตร) มีผลตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค. 61 และ China National Offshore Oil Corp. (CNOOC) ของจีนออกประมูลขายน้ำมันเบนซิน 92 RON ปริมาณ330,000 บาร์เรล ส่งมอบ 10-11 มิ.ย. 61 ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 16 พ.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.17 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 14.48 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบเกือบ 2 เดือน ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ87.0-92.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นจาก Reuters รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดีเซลของมาเลเซีย ในเดือน มี.ค. 61 ลดลงจากปีก่อน 5.9 % อยู่ที่ 7.8ล้านบาร์เรล และ บริษัท Ceypetco ของศรีลังกาออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล กำมะถัน 0.001% ปริมาณ 45,000 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 8-9 มิ.ย. 61 และเมื่อวันที่ 9 พ.ค.61 บริษัท JXTG Nippon Oil & Energy Corp. ของญี่ปุ่นปิดซ่อมหน่วย CDU (กำลังการกลั่น 127,500 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่น Wakayama เนื่องจากพบปัญหาทางเทคนิค ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 16 พ.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 30,000 บาร์เรล มาอยู่ที่7.33 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี อย่างไรก็ตาม Platts รายงาน Arbitrage น้ำมันดีเซลจากเอเชียไปยุโรปปิด อีกทั้ง สำนักข่าว JLC ของจีนรายงานอัตราการกลั่นของโรงกลั่นอิสระในจีน เดือน พ.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.5 % อยู่ที่ระดับ 62.9% เนื่องจากผลตอบแทนจากการกลั่นน้ำมันดีเซลแข็งแกร่งสนับสนุนให้โรงกลั่นเพิ่มอัตราการกลั่น และ บริษัท ExxonMobil กลับมาเดินเครื่องหน่วย PSLA-9CDU (กำลังการกลั่น 110,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่น Baton Rouge (กำลังการกลั่น500,000 บาร์เรลต่อวัน) ในมลรัฐ Louisiana เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 61 หลังปิดซ่อมฉุกเฉินจากเหตุเพลิงไหม้ ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 90.0-94.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ