กทม. เพิ่มทางเลือกชำระภาษีผ่านธนาคาร

ข่าวทั่วไป Wednesday March 12, 2008 10:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 มี.ค.--กทม.
นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการจัดเก็บภาษี 3 ประเภทของกรุงเทพมหานคร คือ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีป้าย ว่าในปีนี้กรุงเทพมหานครตั้งเป้าการจัดเก็บรายได้จากภาษีทั้ง 3 ประเภท เป็นเงิน 9,000 ล้านบาท สำหรับภาษีโรงเรือนและที่ดินให้เจ้าของโรงเรือนยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.2) ณ ฝ่ายรายได้ของสำนักงานเขตซึ่งโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นตั้งอยู่ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี และชำระภาษีภายใน 30 วัน นับถัดจากวันรับแจ้งการประเมิน ภาษีบำรุงท้องที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ต้องชำระภาษีภายในเดือนเมษายนของทุกปี ส่วนภาษีป้าย เจ้าของป้าย ต้องยื่นแบบแจ้งรายการภาษีป้าย (ภ.ป.1) เพื่อชำระภาษีที่ฝ่ายรายได้ของสำนักงานเขตซึ่งป้ายนั้นติดตั้งอยู่ ภายในเดือนมีนาคมของทุกปี สำหรับป้ายที่ติดตั้งใหม่หรือมีการเปลี่ยนแปลงของป้ายหลังจากเดือนมีนาคม ให้ยื่นแบบภายใน 15 วันหลังจากติดตั้งหรือเปลี่ยนแปลงป้าย
กรุงเทพมหานครจึงแจ้งให้ประชาชนผู้มีหน้าที่เสียภาษีชำระภาษีตามเวลาที่กำหนด เพื่อกรุงเทพมหานครจะได้นำเงินรายได้จากการจัดเก็บภาษีมาพัฒนาเมืองหลวงของเราในด้านต่างๆ ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ ซึ่งหากประชาชนชำระภาษีเกินเวลาที่กำหนดไว้จะต้องเสียค่าปรับเป็นเงินสูงสุดถึง 10% ของค่าภาษีที่ค้างชำระ และในปีนี้กรุงเทพมหานครได้เพิ่มทางเลือกในการชำระค่าภาษีแก่ประชาชน โดยสามารถชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีป้าย ผ่านระบบ Teller Payment ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยนำใบแจ้งการประเมินพร้อมใบแจ้งการชำระภาษีที่มีบาร์โค้ตไปชำระเงินได้ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ทุกสาขาทั่วประเทศ คิดค่าธรรมเนียมรายการละ 10 บาท ทั้งนี้ธนาคารจะรับชำระเงินในกรณีปกติ ไม่มีค่าเพิ่ม และไม่เกินวันที่กำหนดไว้ในใบแจ้งการชำระภาษี โดยธนาคารจะออกใบรับให้กับผู้ชำระเงินภาษี จากนั้นกองการเงิน สำนักการคลัง กรุงเทพมหานคร จะจัดส่งใบเสร็จรับเงินให้ในภายหลัง นอกจากนี้ยังสามารถชำระค่าภาษีได้ที่สำนักเขตทุกแห่ง และที่กองการเงิน สำนักการคลัง กรุงเทพมหานคร สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 0 2226 6227, 0 2221 2141-69 ต่อ 1631

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ