13 - 14 ธันวาคมนี้ ชวนประชาชนสัมผัสไอหนาว นอนนับฝนดาวตก “เจมินิดส์”

ข่าวทั่วไป Thursday December 3, 2009 10:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--สวทช. นาวาอากาศเอกฐากูร เกิดแก้ว หัวหน้าโครงการศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) กล่าวว่า ในคืนวันที่ 13—14 ธันวาคมนี้ จะมีปรากฏการณ์ ฝนดาวตกเจมินิดส์ (Geminids Meteor Shower) เริ่มตั้งแต่เวลา 24.00 น.ของวันที่ 13 ธันวาคม เป็นต้นไป โดยมีจำนวนดาวตกสูงสุด 80 — 120 ดวง/ชั่วโมง อุกกาบาตมีความเร็ว 35 กิโลเมตร/วินาที และมีไฟร์บอล (Fireball) มีเรเดียนท์อยู่ใน "กลุ่มดาวราศีมิถุน" หรือ "กลุ่มดาวคนคู่" “ฝนดาวตกเจมินิดส์ เป็นฝนดาวตกที่แตกต่างจากฝนดาวตกทั่วไป คือไม่ได้กำเนิดจากธารอุกกาบาตของดาวหาง แต่กำเนิดจากธารอุกกาบาตของดาวเคราะห์น้อย "3200 ฟีธอน" (3200 Phaethon) ดังนั้นอุกกาบาตจึงมีขนาดใหญ่ และมีคาบการเกิดดาวตกยาวนาน เราสามารถมองเห็นดาวตกจำนวนมากได้ใน 2-3 วัน ก่อนและหลังวันที่มีจำนวนดาวตกสูงสุด จึงนับเป็นฝนดาวตกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดาฝนดาวตกที่ปรากฏในรอบปี หากไม่นับรวมฝนดาวตกลีโอนิดส์ ซึ่งมีปริมาณดาวตกไม่แน่นอน” นาวาอากาศเอกฐากูร กล่าวว่า ฝนดาวตกเจมินิดส์นับเป็นฝนดาวตกที่น่าจับตาที่สุดสำหรับประเทศไทย เพราะเป็นฝนดาวตกที่มีดาวตกจำนวนมาก และเกิดขึ้นในฤดูหนาว ซึ่งอากาศดีและท้องฟ้าใส ดังจะเห็นได้จากสถิติการเกิดฝนดาวตกที่หอดูดาวเกิดแก้วได้รวบรวมไว้ คือ ในคืนวันที่ 14 ธันวาคม พ.ศ.2539 สามารถนับฝนดาวตกได้ 135 ดวง , 14 ธันวาคม พ.ศ.2541 นับฝนดาวตกได้ 110 ดวง , 14 ธันวาคม พ.ศ.2542 นับฝนดาวตกได้ไม่ต่ำกว่า 600 ดวง , และ 14 ธันวาคม พ.ศ.2549 นับฝนดาวตกได้เพียง 159 ดวง เนื่องจากมีแสงจันทร์รบกวน “สำหรับคืนวันที่ 13—14 ธันวาคม 2552 เป็นโอกาสดีที่จะสังเกตการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ เนื่องจากเป็นคืนแรม 15 ค่ำ ไม่มีแสงจันทร์รบกวนตลอดทั้งคืน อีกทั้งฝนตกหนักครั้งสุดท้ายเพิ่งผ่านพ้นไปในเดือนพฤศจิกายน จึงคาดว่าน่าจะเห็นฝนดาวตกได้จำนวนมาก ภายหลังเวลาเที่ยงคืนเป็นต้นไป และจะมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อใกล้รุ่งเช้า ที่สำคัญนอกจากการนับดาวตกแล้ว ในคืนเดือนมืดเช่นนี้ประชาชนยังสามารถเพลิดเพลินกับการดูทางช้างเผือก และกลุ่มดาวสว่างจำนวนมากได้ชัดเจนอีกด้วย” สำหรับวิธีชมฝนดาวตกเจมินิดส์ นาวาอากาศเอกฐากูร แนะนำว่า ควรหาสถานที่ชมย่านชานเมือง หรือบริเวณที่ไม่มีแสงไฟรบกวน เนื่องจากฝนดาวตกเจมินิดส์ไม่สว่างมากเหมือนฝนดาวตกลีโอนิดส์ที่เกิดขึ้นเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน และคาดว่าจะมีจำนวนดาวตกมากที่สุดเวลาประมาณ 2.00 น.ของวันที่ 14 ธันวาคม เนื่องจากกลุ่มดาวคนคู่อยู่ใกล้ตำแหน่งเหนือศีรษะ ดาวตกจะตกลงมาจากด้านบน มองเห็นได้ทุกทิศทาง จึงแนะนำให้นอนเอาหัวชนกันเป็น 4 มุม เพื่อทำให้มองเห็นได้ทั่วท้องฟ้า และไม่พลาดการชม อย่างไรก็ดีศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) อยากขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันนับฝนดาวตกเจมินิดส์ที่จะเกิดขึ้นในคืนวันที่ 13-14 ธันวาคมนี้ และรายงานผลเข้ามาที่อีเมล webmaster.lesa@gmail.com เพื่อเป็นข้อมูลสถิติการเกิดฝนดาวตกเจมินิดส์ในประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ