คำชี้แจงจากสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เรื่อง กระแสวิจารณ์ผลโพลล์ทรรศนะของประชาชนต่อการปรับโครงสร้างตำรวจ

ข่าวทั่วไป Wednesday July 11, 2007 15:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ก.ค.--ศูนย์วิจัยเอแบค
จากกระแสวิจารณ์ของข้าราชการตำรวจต่อผลโพลล์สำรวจทรรศนะของประชาชนต่อการปรับโครงสร้างตำรวจที่ผ่านมา ผมในฐานะผู้วิจัยขอขอบคุณและตอบรับในคำวิพากษ์ของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่ดีของ พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช ที่สำนักวิจัยฯ พร้อมจะน้อมรับและนำไปทำวิจัยในประเด็นตามข้อเสนอแนะต่อไป
แต่การทำหนังสือเปิดผนึกจากสมาคมตำรวจโดยอดีตรองอธิบดี ที่เคยเป็นข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่เคยได้รับความเคารพนับถือสูง อาจเป็นการทำหนังสือที่อยู่บนพื้นฐานของความไม่เข้าใจในข้อมูลผลวิจัยที่แท้จริง แต่อาศัยการได้ยินได้ฟังแล้วตัดสินหรืออ่านไม่ทะลุ ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายมาก ถ้ามีตำแหน่งหน้าที่และอำนาจอยู่ในมือ ก็น่าเป็นห่วงต่อความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชน
ในฐานะที่เป็นผู้วิจัยอยู่ในสถาบันการศึกษามีชื่อเสียงและหลักแหล่งมั่นคง ทำไมอดีตรองอธิบดีจึงไม่ใช้ความเป็นผู้อาวุโสของสังคมไทย ติดต่อพูดคุยกันทำความเข้าใจต่อผลวิจัยที่ค้นพบ จะได้ทราบความเป็นจริงด้วยตัวท่านเองว่า สิ่งที่ท่านทราบมันไม่ตรงกับผลวิจัยที่ค้นพบเลย และพวกเราก็ยินดีจะถ่ายทอดวิธีการอ่านผลโพลล์ และระเบียบวิธีวิจัยทั้งหมดให้ทราบ การทำจดหมายเปิดผนึกเพื่อทำลายเครดิตนักวิจัยรุ่นลูกรุ่นหลานจึงเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ที่มีสติสัมปชัญญะไม่พึงกระทำ และมักเป็นการกระทำของฝ่ายการเมือง ซึ่งตำรวจที่มีวิญญาณของตำรวจมืออาชีพเพื่อประชาชนมักจะไม่กระทำกัน
ผลวิจัยที่กำลังเป็นปัญหาคือ ประชาชนที่ถูกศึกษาร้อยละ 72.1 ระบุตำรวจรีดไถนั้น ขอชี้แจงว่า เป็นความเข้าใจผิดของหลายคนในขณะนี้ เพราะตัวเลขดังกล่าวเป็นเรื่องของทัศนคติในทางลบที่ประชาชนมีต่อตำรวจ และผู้วิจัยก็แถลงชัดเจนว่าเป็นความคิดเห็นที่ประชาชนมีในทางลบต่อตำรวจมาตลอด ตำรวจจึงต้องไปทบทวนดูว่าอะไรทำให้ประชาชนมีทัศนคติในทางลบต่อตำรวจไม่เปลี่ยนแปลงไป อยากให้ไปศึกษาว่า ทำไมตำรวจญี่ปุ่นที่มีจำนวนไม่แตกต่างกับตำรวจไทยดูแลทุกข์สุขของประชาชนในประเทศของเขาที่มีจำนวนกว่าร้อยล้านคนมากกว่าประชาชนคนไทยสองเท่า แต่ตำรวจญี่ปุ่นได้รับความวางใจ เชื่อถือศรัทธาจากประชาชน
ส่วนผลวิจัยที่เคยทำกับกองวิจัยฯ ของตำรวจนั้น ก็ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้เพราะ กลุ่มเป้าหมายแตกต่างกัน ระเบียบวิธีวิจัยก็แตกต่างกัน ครั้งนั้น สอบถามจากผู้ต้องหาว่าระหว่างที่ถูกตำรวจสอบสวนนั้นถูกเรียกรับเงินเพื่อแลกกับการไม่ถูกดำเนินคดีหรือไม่ พบว่า ร้อยละ 10.3 ถูกรีดไถ และการถูกรีดไถเป็นหนึ่งในหลายปัญหาที่ผู้ต้องหาประสบ ส่วนปัญหาอื่นๆ อีกมากมายข้อมูลอยู่ที่กองวิจัยฯ ตำรวจที่ควรเปิดเผยออกมาให้สาธารณะชนรับรู้ทั้งหมด แล้วสังคมจะช็อค! กับการทำงานของตำรวจไทยในผลวิจัยเมื่อ 6-7 ปีที่ผ่านมา
สำหรับจดหมายเปิดผนึกของสมาคมตำรวจที่อ้างถึง ผลประเมินการให้บริการของตำรวจนั้น ก็นำมาอ้างอิงหักล้างทัศนคติในทางลบของประชาชนไม่ได้ เพราะ ผลการประเมินครั้งนั้นเป็นเรื่องการให้บริการ และสอบถามกับประชาชนเฉพาะกลุ่ม ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำหนดมาเองว่าให้ไปสอบถามจากประชาชนที่รับบริการจากบางหน่วยงานของตำรวจ เช่น ตำรวจชุมชนสัมพันธ์ และสำนักวิจัยเอแบคฯ ก็ปฏิเสธที่จะประเมินในลักษณะนี้ไปแล้ว เพราะไม่ให้ความเป็นอิสระทางวิชาการในการทำวิจัย
ส่วนข้อเรียกร้องให้สำนักวิจัยฯ ทำสำรวจเฉพาะกลุ่มประชาชนที่เกี่ยวข้องกับตำรวจนั้น ตำรวจต้องตอบคำถามวิจัยว่า ตำรวจต้องการเป็นตำรวจของประชาชนเฉพาะกลุ่ม หรือต้องการเป็นตำรวจของประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งคณะผู้วิจัยได้ทำให้เห็นในภาพใหญ่ว่าประชาชนทั่วไปส่วนใหญ่ยังคงมีภาพลักษณ์ในทางลบต่อตำรวจอยู่ ตำรวจจึงต้องเร่งปฏิรูปโดยเร็ว
ดังนั้น ขอให้ผู้วิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ได้ศึกษาเรียนรู้อย่างลึกซึ้งก่อน เพราะอาจจะเสียผู้ใหญ่ได้ พวกเราเป็นกลุ่มนักวิจัยรุ่นลูกรุ่นหลาน พร้อมน้อมรับคำตำหนิติชม แต่ก็เป็นห่วงว่า ถ้าตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่ไม่รู้จริง ใช้อารมณ์เป็นที่ตั้ง และมีอำนาจอยู่ในมือ สังคมไทยก็จะวุ่นวายไม่แตกต่างไปจากสภาวะในอดีตที่เคยถูกมองว่าเป็นรัฐตำรวจ
ทำไมตำรวจชั้นผู้ใหญ่ไม่นำความจริงมาพูดให้สังคมทราบ เพราะผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า ประชาชนและตำรวจต้องการให้ปฏิรูปตำรวจ เนื่องจากเห็นว่า ตำรวจถูกนักการเมืองครอบงำ มีการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง มีการเลือกปฏิบัติ เวลาแต่งตั้งโยกย้ายมี “ตั๋วนักการเมือง” ฝากกันมา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 18 ก.ค.ที่จะถึงนี้ จะมีการนำเสนอผลการสำรวจเกี่ยวกับตำรวจอีกครั้งที่ทำเนียบรัฐบาล จึงอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องคอยติดตามรับฟังผลสำรวจที่ทำเนียบรัฐบาล โดยจะนำเสนอชี้ให้เห็นหลายมิติของผลวิจัยเกี่ยวกับการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจไทย
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่:
ศูนย์วิจัยเอแบค นวัตกรรมทางสังคม
มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
087-0953366
02-7191550

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ