กฎกระทรวงฉบับที่ ๓๓๗ (พ.ศ. ๒๕๖๑) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

ข่าวทั่วไป Tuesday April 17, 2018 14:20 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

กฎกระทรวง

ฉบับที่ ๓๓๗ (พ.ศ. ๒๕๖๑)

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

____________

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๒๐) พ.ศ. ๒๕๑๓ และมาตรา ๔๒ (๑๗) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ในกฎกระทรวงนี้

"กิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย" หมายความว่า กิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย ดังต่อไปนี้ซึ่งใช้เทคโนโลยีหลักเป็นฐานในกระบวนการผลิตและการให้บริการตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติกำหนด และได้รับการรับรองจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

(๑) อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร

(๒) อุตสาหกรรมเพื่อประหยัดพลังงาน ผลิตพลังงานทดแทน และพลังงานสะอาด

(๓) อุตสาหกรรมฐานเทคโนโลยีชีวภาพ

(๔) อุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุข

(๕) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมบริการ และอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์

(๖) อุตสาหกรรมวัสดุก้าวหน้า

(๗) อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องประดับ

(๘) อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน

(๙) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ และบริการสารสนเทศ

(๑๐) อุตสาหกรรมฐานการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม หรืออุตสาหกรรมใหม่

"รายได้เกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการ" ให้หมายความรวมถึง

(๑) รายได้จากการจำหน่ายผลพลอยได้และสินค้ากึ่งสำเร็จรูปในกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย

(๒) รายได้จากการจำหน่ายเครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องใช้ และทรัพย์สิน บรรดาที่ใช้ในกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย และหมดสภาพหรือไม่เหมาะสม ที่จะใช้งานต่อไป

(๓) รายได้อื่นของกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

ข้อ ๒ กำหนดให้เงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาได้จ่ายเพื่อลงหุ้นหรือลงทุน ในการจัดตั้งหรือเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกินหนึ่งแสนบาท สำหรับปีภาษีนั้น เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณ เพื่อเสียภาษีเงินได้ ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(๑) เป็นเงินที่ได้จ่ายเพื่อลงหุ้นหรือลงทุนในการจัดตั้งหรือเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๒

(๒) ผู้มีเงินได้ต้องถือหุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่น้อยกว่าสองปีต่อเนื่องกัน นับแต่วันที่ได้จ่ายเงินเพื่อลงหุ้นหรือลงทุนในการจัดตั้งหรือเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น เว้นแต่ทุพพลภาพหรือตาย

(๓) เป็นการลงหุ้นหรือลงทุนในการจัดตั้งหรือเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีคุณสมบัติและลักษณะตามข้อ ๓

ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกับห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคลและกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง

การได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด ข้อ ๓ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ผู้มีเงินได้ได้จ่ายเงินเพื่อลงหุ้นหรือลงทุนในการจัดตั้งหรือเพิ่มทุนตามข้อ ๒ ต้องมีคุณสมบัติและลักษณะดังต่อไปนี้

(๑) เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๒

(๒) เป็นกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย และมีรายได้จากการขายสินค้าหรือ การให้บริการของกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายหรือรายได้เกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกันไม่น้อยกว่าร้อยละแปดสิบของรายได้ทั้งหมดในรอบระยะเวลาบัญชี ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น

(๓) มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินห้าล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกินสามสิบล้านบาทในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผู้มีเงินได้ลงทุนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น

ข้อ ๔ ในกรณีที่ผู้มีเงินได้ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในข้อ ๒ ในปีภาษีใด ให้สิทธิ ในการได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้เป็นอันระงับไปเฉพาะในปีภาษีนั้น

ให้ไว้ ณ วันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๑

อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรส่งเสริมให้มีการลงหุ้นหรือลงทุนในการจัดตั้งหรือเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ ที่นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการประกอบกิจการที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบกิจการ ให้กับผู้ประกอบการดังกล่าวในช่วงแรกของการเริ่มประกอบกิจการ สมควรกำหนดให้เงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้ ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาได้จ่ายเพื่อลงหุ้นหรือลงทุนในการจัดตั้งหรือเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกินหนึ่งแสนบาท สำหรับปีภาษีนั้น เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

ที่มา: http://www.rd.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ