In Focusนับถอยหลังศึกเลือกตั้งสหราชอาณาจักร สู่การพลิกประวัติศาสตร์ของประเทศและยุโรป

ข่าวต่างประเทศ Wednesday May 6, 2015 14:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เหลืออีกเพียง 1 วัน การเลือกตั้งทั่วไปของสหราชอาณาจักร ซึ่งประกอบด้วย อังกฤษ สกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์ ก็จะเริ่มต้นขึ้น การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นที่จับตาอย่างมากทั้งในระดับประเทศและทั่วโลก เนื่องจากการจัดตั้งรัฐบาลหลังจากนี้อาจมีความซับซ้อนเพราะมีแววว่าคงไม่มีพรรคใหญ่ครองเสียงข้างมากได้ หลายฝ่ายยังมองด้วยว่าการเลือกตั้งครั้งนี้อาจชี้ชะตาการอยู่หรือไปจากสหภาพยุโรป (อียู) ของสหราชาอาณาจักรด้วย เพราะพรรคใหญ่อย่างอนุรักษ์นิยม (Conservative) ระบุว่า หากพรรคชนะการเลือกตั้ง ก็จะเปิดให้มีการลงประชามติเพื่อให้ประชาชนตัดสินได้ว่า สหราชอาณาจักรควรเป็นสมาชิกอียูต่อไปหรือไม่

In Focus ประจำสัปดาห์นี้จึงอาสาพาท่านผู้อ่านอุ่นเครื่องด้วยประเด็นที่น่าสนใจต่างๆ อาทิ ความกดดันของพรรคใหญ่ในการชิงที่นั่งให้เกินครึ่งในสภา กลยุทธเด็ดที่พรรคเล็กใช้ในการช่วงชิงที่นั่งจากพรรคใหญ่ ไปจนถึงแนวทางการจัดตั้งพรรครัฐบาลที่ยังคงเป็นข้อกังขาอยู่ในขณะนี้

*พรรคอนุรักษ์นิยม ปะทะ พรรคแรงงาน กับความท้าทายในการแย่งชิงที่นั่งเกินครึ่งในสภา

ในอดีตพรรคอนุรักษ์นิยมและพรรคแรงงาน (Labour) คือขาใหญ่การเลือกตั้งในสหราชอาณาจักรที่ผลัดกันเป็นพรรครัฐบาลครองที่นั่งเกินครึ่งหนึ่ง (325 ที่นั่งขึ้นไป) ในรัฐสภาเวสต์มินสเตอร์มาโดยตลอด ซึ่งเป็นจำนวนขั้นต่ำที่ต้องถึง จึงจะสามารถจัดตั้งพรรครัฐบาลได้ ตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุด คือตั้งแต่สมัยนางมาร์กาเร็ต แธ็ตเชอร์ นำชัยให้แก่พรรคอนุรักษ์นิยมในการเลือกตั้งแต่ปี 1979 และเป็นผู้นำรัฐบาลติดต่อกัน 3 สมัยจนถึงปี 1990 ก่อนจะถึงยุครุ่งโรจน์ของพรรคแรงงาน ซึ่งนายโทนี แบลร์ พาพรรคชนะการเลือกตั้งในปี 1997 ต่อมานายกอร์ดอน บราวน์พรรคเดียวกัน สานต่อความสำเร็จของแบลร์ในการเลือกตั้งปี 2007 แต่พรรคแรงงานภายใต้การนำของนายบราวน์ประสบความล้มเหลวในการบริหารประเทศ เนื่องจากตรงกับช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก จึงเปิดทางให้พรรคอนุรักษ์นิยม ภายใต้การนำของเดวิด คาเมรอน ทำคะแนนตีตื้นจนได้รับความนิยมและคว้าชัยการเลือกตั้งปี 2010 ไปได้ในที่สุด

แต่ทว่าการเลือกตั้งปี 2010 นี้ เป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปีที่พรรคที่มีเสียงข้างมาก ไม่สามารถชิงที่นั่งได้เกินครึ่งจากทั้งหมด 650 ที่นั่งได้ ด้วยเหตุนี้พรรคอนุรักษ์นิยมที่กุมที่นั่งอยู่ในมือ 306 ที่นั่งจึงจับมือกับพรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democrats) ที่คว้าไปได้ 57 ที่นั่ง จัดตั้งรัฐบาลผสมตั้งแต่นั้นจนกระทั้งวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่รัฐบาลชุดนี้ประกาศยุบสภา และประกาศให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 7 พ.ค.

สำหรับการเลือกตั้งที่จะถึงในวันพรุ่งนี้ ก็มีแนวโน้มว่าสองพรรคใหญ่จะต้องเจอศึกหนักไม่ต่างจากครั้งที่ผ่านมา เพราะผลสำรวจที่วัดกันวันต่อวันพบว่า แม้พรรคอนุรักษ์นิยมซึ่งมีหัวหน้าพรรคคนปัจจุบันคือนายเดวิด คาเมรอน และพรรคแรงงานซึ่งนำโดยนายเอ็ด มิลลิแบนด์ จะได้รับความนิยมคู่คี่สูสีห่างกันไม่กี่เปอร์เซ็นต์และยังผลัดกันนำผลัดกันตาม แต่เมื่อเทียบกับความนิยมจากการเลือกครั้งก่อนพบว่า คะแนนของทั้งคู่น้อยลง ทำให้ความเป็นไปได้ที่จะเกิดรัฐบาลพรรคเดี่ยวยิ่งริบหรี่ลง ขณะที่พรรคเสรีประชาธิปไตย (หัวหน้าพรรคคือนาย นิก เคลกก์ ) ซึ่งอยู่เคียงบ่าเคียงไหล่พรรคอนุรักษ์นิยมในชุดรัฐบาลผสมชุดที่ผ่านมานั้น ก็ถูกแซงคะแนนนิยมโดยพรรคอิสรภาพแห่งสหราชอาณาจักร (UKIP) พรรคน้องใหม่ซึ่งเปิดตัวเมื่อช่วงเลือกตั้งซ่อมทั่วไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากพรรคเสรีประชาธิปไตยไม่สามารถทำตามสัญญาที่เคยให้ไว้ก่อนการเลือกตั้งคราวก่อน อาทิ การงดขึ้นค่าเล่าเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งสุดท้ายรัฐบาลก็ได้ประกาศปรับขึ้นไปในที่สุด

นอกจากนี้ หนึ่งในความกังวลของสองพรรคใหญ่คือเรื่องความเป็นไปได้ที่พรรคแห่งชาติสก็อตแลนด์ (SNP) จะสามารถเก็บโควต้า 59 ที่นั่งของสก็อตแลนด์ได้ทั้งหมดในการเลือกตั้งระดับประเทศครั้งนี้ เนื่องจากคาดการณ์ว่าชาวสก็อตแลนด์จำนวนมากอาจคับแค้นใจกับพรรคทั้งสามของอังกฤษได้แก่ อนุรักษ์นิยม แรงงาน และเสรีประชาธิปไตย ซึ่งให้คำมั่นก่อนการลงประชามติแยกสก็อตแลนด์ออกจากราชอาณาจักรเมื่อปีที่แล้วว่า จะให้อำนาจสก็อตแลนด์มากขึ้น ทว่าอำนาจของสก็อตแลนด์ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงตามสัญญา แม้ว่าชาวสก็อตแลนด์ส่วนใหญ่ลงคะแนนให้สก็อตแลนด์อยู่ในสหราชอาณาจักรต่อไปก็ตาม

*พรรคการเมืองที่เป็นที่จับตาในการเลือกตั้งครั้งนี้

  • อนุรักษ์นิยม: ประชามติเพื่อชี้ชะตาสมาชิกภาพในอียู

พรรคอนุรักษ์นิยมชูแคมเปญหลักในการหาเสียงรอบนี้คือ ความเป็นผู้นำที่แข็งแกร่ง แผนเศรษฐกิจที่ชัดเจน และอนาคตที่มีความสดใสและปลอดภัยมากขึ้น นอกจากนี้ นายเดวิด คาเมรอน หัวหน้าพรรคยังเปิดเผยว่า เขาต้องการสานต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจให้เสร็จสิ้น และจะไม่ปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แน่นอนหากพรรคอนุรักษ์นิยมได้รับการเลือกตั้ง

นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งนโยบายที่เรียกเสียงฮือฮา นั่นคือการผลักดันให้มีการทำประชามติเพื่อตัดสินสมาชิกภาพของสหราชอาณาจักรในอียูภายในปี 2017 หรือ พ.ศ. 2560 โดยนายคาเมรอน เปิดเผยกับสำนักข่าวบีบีซีว่า เขาจะไม่เป็นผู้นำรัฐบาลที่ไม่สามารถทำให้เกิดการลงประชามติดังกล่าว

อย่างไรก็ตามนโยบายดังกล่าวทำให้พรรคแรงงาน ซึ่งเป็นพรรคฝั่งตรงข้ามโจมตีอย่างหนัก โดยนายโทนี แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษจากพรรคแรงงาน ระบุว่าการลงประชามติเพื่อสมาชิกภาพของสหราชอาณาจักรในอียูนั้น อาจนำไปสู่สถานการณ์ความวุ่นวายทางเศรษฐกิจ ขณะที่นายเอ็ด มิลลิแบนด์ หัวหน้าพรรคแรงงานคนปัจจุบันระบุว่า การจัดทำประชามติจะส่งผลให้สหราชอาณาจักรสูญเสียอิทธิพลครั้งใหญ่ที่สุด โดยโจมตีว่า แนวทางของรัฐบาลชุดนี้คือการออกจากสหภาพยุโรป ที่ถึงแม้ว่าผลการลงประชามติจะออกมาว่าสหราชอาณาจักรจะอยู่ในอียูต่อไป แต่ผู้นำอียูก็อาจจะไม่เต็มใจสนับสนุนสหราชอาณาจักรอีกต่อไป เพราะคิดไปแล้วว่าสหราชอาณาจักรไม่อยากอยู่กับอียู

ทั้งนี้คาดว่า พรรคอนุรักษ์นิยมจะได้ที่นั่งราว 280-290 ที่นั่ง

  • แรงงาน: เน้นหนักด้านนโยบายเพื่อมหาชน

ขณะที่พรรคแรงงาน ซึ่งนำโดยนายเอ็ด มิลลิแบนด์ หาเสียงโดยชูประเด็นมุ่งเน้นนโยบายทางเศรษฐกิจเป็นหลัก เช่น การลดยอดขาดดุลทุกปี รวมถึงนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด อาทิ การระงับสัญญาจ้างศูนยชั่วโมง(zero-hours) ซึ่งเป็นสัญญาจ้างที่นายจ้างไม่กำหนดเวลาขั้นต่ำในการทำงานต่อสัปดาห์ เป้าหมายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้สูงกว่า 8 ปอนด์/ชั่วโมงภายในปี 2019 หรือ พ.ศ. 2552 ลดค่าเล่าเรียน และยังให้คำมั่นที่จะไม่ขึ้นภาษีต่างๆ อาทิ ภาษีเงินได้ และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

นอกจากนี้ พรรคแรงงานยังนำเสนอนโยบายยกเครื่องระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ (NHS) ให้มีความเป็นธรรมและเอื้อประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด อาทิ การจ้างแพทย์ทั่วไปเพิ่มอีก 8,000 อัตรา และพยาบาลเพิ่มอีก 20,000 อัตรา การการันตีการนัดพบแพทย์ภายใน 48 ชั่วโมง และการการันตีตรวจมะเร็งภายใน 1สัปดาห์ นอกจากนี้ ทางพรรคยังนำเสนอให้มีการจัดตั้ง National Primary Childcare Service ซึ่งเพื่อให้การรักษาแก่เด็กตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น.

ทั้งนี้ คาดว่าพรรคแรงงานจะชิงที่นั่งมาได้ 270-280 ที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งนี้

  • UKIP: ชูแคมเปญต่อต้านอียู

ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไม่พรรคอิสรภาพแห่งสหราชอาณาจักร (UKIP) จึงมีนโยบายที่คล้ายกับพรรคอนุรักษ์นิยม เพราะเป็นพรรคที่แตกหน่อออกมาจากพรรคอนุรักษ์นิยมนั่นเอง แต่ทว่ามีแนวคิดที่สุดโต่งกว่า เนื่องจากเป็นพรรคที่ผลักดันแนวคิดต่อต้านอียู สนับสนุนให้สหราชอาณาจักรออกจากกลุ่มอียู เมื่อเทียบกับพรรคอนุรักษ์นิยมที่เสนอเพียงแนวคิดที่จะให้มีการทำประชามติเท่านั้น นอกจากนี้ พรรค UKIP ยังต่อต้านไม่ให้ผู้อพยพเข้ามาในสหราชอาณาจักรอีกด้วย ซึ่งถึงแม้ว่าแนวคิดของพรรคนี้จะสุดโต่งจากพรรคอื่นๆมาก แต่กลับได้รับคะแนนความนิยมจากประชาชนอยู่ไม่น้อย โดยการเลือกตั้งซ่อมที่เขตแคล็กตัน-ออน-ซี มณฑลเอสเซ็กส์ เมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ผลปรากฎว่า พรรค UKIP ซึ่งประเดิมลงเลือกตั้งครั้งแรกที่เขตนี้ สามารถกวาดคะแนนเสียงไปได้ถึง 60%

ทั้งนี้คาดว่าพรรค UKIP จะได้ที่นั่งราว 3 ถึง 4 เสียง

  • SNP: สก็อตแลนด์ที่แข็งแกร่งกว่าเดิม

พรรคแห่งชาติสก็อตแลนด์ (SNP) นำเสนอนโยบายสก็อตแลนด์ที่แข็งแกร่งกว่าเดิม โดยระบุว่า การเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้จะเปิดทางให้สก็อตแลนด์มีเสียงในสภาเวสต์มินสเตอร์มากขึ้น โดยระบุว่า SNP ไม่เพียงแต่ใช้อิทธิพลเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดสิ่งดีแก่ประชาชน ไม่ใช่แต่ชาวสก็อตแลนด์เท่านั้น แต่รวมถึงประชาชนทั้งเกาะอังกฤษ อาทิ การเสนอทางเลือกในการเยียวยาผลกระทบจากมาตรการรัดเข็มขัด การยุตินโยบายที่ไม่เป็นธรรม และเสนอการขึ้นค่าแรง เป็นต้น

ถึงแม้นโยบายของพรรค SNP อาจไม่ดึงดูดใจประชาชนทั่วสหราชอาณาจักรมากนัก แค่มีกระแสคาดการณ์ว่า พรรค SNP จะกวาดที่นั่งเขตเลือกตั้งบ้านเกิดตัวเองได้ทั้งหมด 59 ที่นั่ง จากความหวังอีกครั้งว่า สก็อตแลนด์จะได้เป็นอิสระจากสหราชอาณาจักร ด้วยจำนวนที่นั่งที่สูงมากเมื่อเทียบกับพรรคเล็กด้วยกัน พรรคนี้จึงสะดุดตากว่าพรรคเล็กอื่นๆ เนื่องจากเชื่อว่าที่นั่งของพรรค SNP จะสามารถชี้ชะตาการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ได้

*การจัดตั้งรัฐบาลจะลงเอยอย่างไร

จากการคาดคะเนที่ว่า ไม่น่าจะมีพรรคใหญ่พรรคใดได้ที่นั่งไปเกินครึ่งหนึ่ง กระแสคาดการณ์ส่วนใหญ่จึงมุ่งไปยังประเด็นทีว่า พรรคใดจะจับมือกันก่อตั้งรัฐบาล โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่าพรรคแรงงานมีโอกาสมากกว่าพรรคอนุรักษ์นิยม เพราะถึงแม้ว่าพรรอนุรักษ์นิยมชิงที่นั่งไปได้ 280-290 นั่ง ซึ่งมากกว่าพรรคแรงงานอยู่เล็กน้อยอยู่ 10 กว่าที่นั่ง แต่ไม่น่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะพรรคเสรีประชาธิปไตย ซึ่งเคยจับมือกันเป็นรัฐบาลผสมด้วยกันมา อาจได้ที่นั่งน้อยลงจากคราวก่อน เหลือเพียง 30 กว่าที่นั่งเท่านั้น ซึ่งรวมกันแล้วยังคงน้อยกว่าที่นั่งครึ่งหนึ่งในรัฐสภา ขณะที่พรรคอนุรักษ์นิยมในสมัยของนายเดวิด คาเมรอน ก็มีพรรคพันธมิตรไม่มากนัก การจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคอนุรักษ์นิยมจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนพรรคแรงงาน มีแววจะได้จัดตั้งรัฐบาลมากกว่า เนื่องจากพรรค SNP ซึ่งคาดว่าจะสามารถคว้า 59 ที่นั่งทั้งหมดในเขตเลือกตั้งสก็อตแลนด์นั้น เคยออกมาประกาศว่าพร้อมที่จะร่วมมือกับพรรคแรงงานด้วย กระทั่งพรรคเสรีประชาธิปไตยเองก็เคยเสนอร่วมมือความทำนองเดียวกันกับพรรคแรงงานเช่นกัน โอกาสจึงเข้าทางพรรคแรงงานมากกว่า

ถึงแม้ว่าสุดท้ายผลการเลือกตั้งสหราชอาณาจักรในวันพรุ่งนี้จะออกมาเป็นเช่นไร แต่ผู้เขียนมั่นใจว่า ผลที่ออกมาจะมีนัยสำคัญต่อทั่วโลกอย่างแน่นอน...


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ