ญี่ปุ่นบี้ไทยยกเลิกภาษีรถเพิ่ม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 26, 2005 15:02 —สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

          ญี่ปุ่นเร่งส่งคณะผู้แทนระดับสูงทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าพบ "ทักษิณ" วันนี้ อ้างหากจะให้จบทันปลายเดือนนี้ ไทยต้องลดภาษี CBU และชิ้นส่วนยานยนต์ให้เพิ่ม เน้นขอยกเลิกภาษีรถยนต์ขนาดสูงกว่า 3000 ซีหวังกินรวบค่ายรถยุโรป ขณะที่ฝ่ายเจรจาและเอกชนค้านสุดฤทธิ์ เผยข้อเสนอญี่ปุ่นจะส่งผลให้ค่ายรถญี่ปุ่นถ่ายโอนรายได้รัฐเข้ากระเป๋าเต็มที่ สภาหอฯ หวั่นไทยตกเป็นเบี้ยล่าง ขอเข้าพบนายกฯด้วย28ก.ค. นี้ ย้ำยังเห็นด้วยกับเอฟทีเอ พร้อมปรับตัวรองรับเต็มที่แต่วอนฝ่ายการเมืองอย่าใจอ่อน ชี้ญี่ปุ่นต้องพิสูจน์ความจริงใจก่อน ถ้าจบใน ก.ค. นี้แต่ไทยไม่ได้เรื่องกฎแหล่งกำเนิดสินค้าก็ไม่มีประโยชน์ ฝ่ายฟิลิปปินส์กับมาเลเซียส่อเค้าขอเจรจาใหม่กับญี่ปุ่น
แหล่งข่าวจากสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำไทยเผยว่า ในวันนี้(25ก.ค.) นายโยอิชิ โอกุดะประธานสหพันธ์ภาคธุรกิจญี่ปุ่นหรือเคดันเร็นจะเดินทางมาเข้าเยี่ยมคารวะ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือเรื่องการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่นหรือ เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น โดยนายโอกุดะจะมายืนยันข้อเรียกร้องญี่ปุ่นในเรื่องการเปิดเสรีสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการเปิดเสรีสินค้ารถยนต์สำเร็จรูปหรือ CBU และชิ้นส่วนยานยนต์ พร้อมกับจะแสดงความพร้อมของเอกชนญี่ปุ่นในการเพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยหากฝ่ายไทยยอมเปิดเสรีสินค้าอุตสาหกรรมให้ตามที่เอกชนญี่ปุ่นเรียกร้อง
ทั้งนี้ ในการเจรจาเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น รอบ 8 ที่กรุงโตเกียวเมื่อ 30 มิ.ย. ที่ผ่านมา ฝ่ายไทยได้แสดงความพร้อมที่จะตอบสนองข้อเรียกร้องของญี่ปุ่นเรื่องการเปิดเสรีสินค้าเหล็ก ซึ่งรวมถึงเหล็กรีดร้อนที่เป็นสินค้าละเอียดอ่อนมากของผู้ผลิตเหล็กไทย ซึ่งข้อเสนอของไทยได้สร้างความพอใจอย่างมากในภาคเอกชนญี่ปุ่น นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้มีการหารือในเรื่องการเปิดเสรีสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ตลอดจนเรื่องการลงทุน การเปิดเสรีการค้าบริการ กฎแหล่งกำเนิดสินค้าและแนวทางความร่วมมือเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กและยานยนต์ในไทย ส่วนเรื่องการเปิดเสรีสินค้าเกษตรนั้น ฝ่ายญี่ปุ่นยังคงปฏิเสธไม่นำมาหารือในห้องเจรจา
อย่างไรก็ดี รายงานข่าวล่าสุดจากการเจรจานอกรอบระดับคณะทำงานซึ่งมีขึ้นที่กรุงเทพฯ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แจ้งว่า ฝ่ายญี่ปุ่นไม่เพียงแต่จะยังไม่สามารถตอบสนองข้อเรียกร้องไทยโดยเฉพาะในเรื่องการเปิดเสรีสินค้าเกษตร เรื่องกฎแหล่งกำเนิดสินค้าและความร่วมมือเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กและยานยนต์ได้ แต่ญี่ปุ่นยังคงเดินหน้ารุกไทยให้พิจารณาตอบสนองข้อเรียกร้องญี่ปุ่นในเรื่องชิ้นส่วนยานยนต์และรถยนต์เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน ฝ่ายญี่ปุ่นขอให้ไทยยกเลิกภาษีรถยนต์สำเร็จรูปทั้งขนาดต่ำและสูงกว่า 3,000 ซีซี ภายในปี 2553 และในระหว่าง 5 ปีนับจากวันที่ลงนามความตกลงนี้ไปจนถึงปี 2553 ขอให้มีโควตาปลอดภาษีให้รถยนต์สำเร็จรูปญี่ปุ่นด้วย ส่วนชิ้นส่วนยานยนต์ ญี่ปุ่นขอให้ไทยยกเลิกภาษีให้ทุกรายการเร็วกว่า 7 ปี
สำหรับเรื่องการเปิดเสรีรถ CBU ที่มีขนาดเครื่องยนต์สูงกว่า 3,000 ซีซีซึ่งเป็นประเด็นที่บริษัทรถยนต์ค่ายยุโรปและสหรัฐฯ ในไทยก็คอยจับตาดูท่าทีของรัฐบาลไทยอย่างใกล้ชิดและเชื่อว่า เป็นสาเหตุสำคัญที่ประธานเคดันเร็นและคณะเดินทางมาขอเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ นั้น ขณะนี้คณะเจรจาฯ ไทยและภาคเอกชนไทยยังไม่เห็นด้วย เนื่องจากมองว่า ข้อเรียกร้องเรื่อง CBU ของญี่ปุ่นเป็นเพียงการถ่ายโอนรายได้ภาษีของรัฐบาลไทยไปเป็นรายได้ของบริษัทญี่ปุ่น มิได้ช่วยเสริมสร้างสมรรถนะในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยตามที่ฝ่ายญี่ปุ่นกล่าวอ้าง ตลอดจนจะก่อให้เกิดปัญหาการขาดดุลทางการค้ามากขึ้นโดยมิได้เพิ่มมูลค่าการส่งออกเช่นในกรณีเหล็กหรือชิ้นส่วนยานยนต์ อีกทั้งเป็นการส่งสัญญาณที่สวนทางกับนโยบายสนับสนุนการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานของไทย
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวจากคณะเจรจาฯ ไทยรายงานว่า จากการหารือครั้งล่าสุดกับผู้แทนภาคเอกชนไทยในสาขาต่าง ๆ พบว่า โดยรวม แม้ว่าภาคเอกชนไทยจะเริ่มไม่พอใจต่อแนวทางการเจรจาของฝ่ายญี่ปุ่นที่เจรจาแยกเป็นเรื่อง ๆ รุกแต่เรื่องเปิดตลาดภาคอุตสาหกรรมไทยในขณะที่ปิดประตูเรื่องเกษตร แต่ภาคเอกชนไทยก็ยังคงยืนยันที่จะรวมพลังกันสนับสนุนแนวทางของนายกรัฐมนตรีไทยที่ต้องการเห็นการเจรจาฯ นี้สะท้อนความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะในฐานะที่เอกชนญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ของไทย และแม้แต่ภาคเอกชนไทยที่จะได้รับผลกระทบทางลบในระยะสั้นก็ยังเห็นว่า อย่างไรเสียก็เร่งปรับตัวในเรื่องการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอยู่แล้ว เพียงแต่ขอให้ฝ่ายการเมืองช่วยทวงคำตอบจากญี่ปุ่นที่จะยกขบวนมาพบฝ่ายการเมืองไทยในช่วงนี้ด้วยว่า ญี่ปุ่นพร้อมจะตอบสนองข้อเรียกร้องไทยเรื่องใดได้บ้างโดยเฉพาะในเรื่องการเปิดเสรีสินค้าเกษตร กฎแหล่งกำเนิดสินค้าและความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรม
แหล่งข่าวจากสภาหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาคเอกชนไทยร่วมกันทำหนังสือขอเข้าพบประธานเคดันเร็นในวันจันทร์นี้ด้วย เพื่อย้ำจุดยืนของไทยและสนับสนุนท่าทีของคณะเจรจาฯ ไทย ทั้งในเรื่องเกษตร กฎแหล่งกำเนิดสินค้าและโครงการความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมเหล็กและยานยนต์ไทยกับญี่ปุ่น แต่ถูกปฎิเสธจากฝ่ายญี่ปุ่นโดยอ้างว่าไม่มีเวลาให้
ปัจจุบัน ข้อเรียกร้องอันดับต้น ๆ ของไทยในการเจรจาเอฟทีเอกับญี่ปุ่น ประกอบด้วยเรื่องการเปิดเสรีสินค้าเกษตรที่ไทยมีศักยภาพและญี่ปุ่นได้ให้ประเทศอื่น ๆ เช่น เม็กซิโกและฟิลิปปินส์แล้ว เรื่องความร่วมมือในด้านอุตสาหกรรม และเรื่องกฎแหล่งกำเนิดสินค้าที่จะต้องไม่เป็นอุปสรรคในการค้าเพราะปัจจุบัน ยังมีอีกไม่น้อยกว่า 500 รายการซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรและประมงแปรรูป เช่น ทูน่ากระป๋อง ที่แม้ญี่ปุ่นจะยอมลดภาษีนำเข้าให้สินค้าไทย เอกชนไทยก็ยังไม่สามารถส่งเข้าไปขายในตลาดญี่ปุ่นได้
"เราดีใจที่คณะเจรจาฯ แข็งขันและเราเชื่อว่า ฝ่ายการเมืองไทยก็อ่านเกมญี่ปุ่นออก ดังนั้น ญี่ปุ่นจะยกคณะมากี่คณะ ก็ไม่น่ากลัว แต่อยากขอให้ท่านนายกฯ และฝ่ายการเมืองไทยช่วยทวงถามญี่ปุ่นให้ด้วยเพราะคนไทยอยากได้ยินชัด ๆ ว่า สิ่งที่เราขอ ญี่ปุ่นพร้อมตอบสนองให้หรือไม่ อย่างไร ไม่ใช่ให้แต่คำหวานหรือสัญญาว่างเปล่าที่เราไม่ได้ประโยชน์ ญี่ปุ่นยกคณะมาคราวนี้เราเชื่อว่า เค้าน่าจะมีอะไรเก็บไว้ในกระเป๋าให้ไทยบ้าง ก็ขอให้ท่านนายกฯ รับไว้แต่อย่าเพิ่งตกปากรับคำไปแลกอะไร เพราะยังมีรายละเอียดที่น่าเป็นห่วงอีกหลายเรื่องที่เค้าไม่เคยกล้ายกกับคนระดับท่านนายกฯ ภาคเอกชนไทยนำโดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจะยกประเด็นเหล่านี้ขึ้นหารือกับท่านนายกฯ ในวันที่ 28 ก.ค. นี้" แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ภาคเอกชนเห็นด้วยกับพ.ต.ท.ทักษิณอย่างเต็มที่ว่า ถ้าเอฟทีเอนี้ไม่ได้ประโยชน์ ไทยก็ไม่รีบร้อน เราไม่อยากน้ำตาร่วงอย่างฟิลิปปินส์ ซึ่งขณะนี้พยายามขอเจรจาใหม่กับญี่ปุ่นโดยเฉพาะเรื่องเปิดเสรีรถยนต์ แต่ญี่ปุ่นก็ยังยืนยันว่าไม่มีทาง มาเลเซียเองก็เริ่มมีปัญหารุนแรงภายในเรื่องเปิดเสรีรถยนต์กับญี่ปุ่น ดังนั้น ไทยยิ่งไม่ควรรีบ อะไรที่ยังมีปัญหาก็ควรจะร่วมมือกันไปก่อนไม่ใช่เน้นแต่จะรุกให้ไทยลดภาษีให้ญี่ปุ่น ญี่ปุ่นกับไทยเป็นเพื่อนที่ดีกันอยู่แล้ว มีเอฟทีเอกันหรือไม่ เมื่อไร ไม่สำคัญ เมื่อเพื่อนเราไม่พร้อม เราก็รอได้ แต่ถ้าจบการเจรจาแบบไม่สมดุลและฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เพียงฝ่ายเดียว ความตกลงนี้ก็ไม่ยั่งยืน อย่างไรเสียภาคเอกชนไทยไม่ยอมลดราในเรื่องกฎแหล่งกำเนิดสินค้า เกษตรและความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมแน่นอน
นอกจากประธานเคดันเร็นและคณะจะขอเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีไทยในวันจันทร์นี้แล้ว ในวันที่ 27 ก.ค. ศกนี้ ปลัดกระทรวง METI ก็จะเดินทางเข้าร่วมหารือกับนายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทยอีกครั้งหลังจากการหารือครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา ส่วนการเดินทางมาเยือนประเทศไทยของนายนาคากาวา รัฐมนตรี METI ที่คาดว่าจะมีการขอเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีไทยนั้น ในชั้นนี้ ยังไม่ได้รับการยืนยันจากกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น เพราะฝ่ายญี่ปุ่นต้องการให้ไทยยอมโอนอ่อนต่อข้อเรียกร้องของญี่ปุ่นในเรื่องการเปิดเสรีสินค้าอุตสาหกรรมให้ได้มากที่สุดก่อน
ที่มา: สภาหอการค้าไทย www.thaiechamber.com
-ดท-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ