ทริสเรทติ้งเพิ่มอันดับเครดิตองค์กร &หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน “บ. บัตรกรุงไทย” เป็น “A-” จาก “BBB+” และจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันวงเงินไม่เกิน 12,000 ล้านบาท ที่ระดับ “A-/Stable&r

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday April 2, 2015 17:02 —ทริส เรตติ้ง

ทริสเรทติ้งปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ “A-” จากเดิมที่ระดับ “BBB+” ในขณะเดียวกันยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 12,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “A-” เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ อันดับเครดิตที่เพิ่มขึ้นสะท้อนฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่องและคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้นในระหว่างปี 2555-2557 ตลอดจนการได้รับการสนับสนุนที่เพิ่มขึ้นจาก ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดในภาวะการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัท

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะสามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดและรักษาประสิทธิภาพในการจัดเก็บและติดตามหนี้ ตลอดจนคงไว้ซึ่งมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวด รวมทั้งรักษาระดับอัตราส่วนโครงสร้างเงินทุน ณ ปัจจุบันเอาไว้ได้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่าธนาคารกรุงไทยจะยังคงให้การสนับสนุนบริษัทอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านการเงินและการดำเนินธุรกิจต่อไปด้วย

การปรับเพิ่มขึ้นของอันดับเครดิตและหรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นได้หากบริษัทมีผลประกอบการทางเงินที่ดีกว่าที่คาดไว้ซึ่งสามารถสร้างความแข็งแกร่งโดยรวมทางด้านการเงินให้เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายทางด้านเครดิตหรือหนี้สูญท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอและความท้าทายจากแรงกดดันทางด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมสินเชื่อเพื่อการอุปโภคและบริโภค

ถึงแม้ว่าโอกาสในการปรับลดลงของอันดับเครดิตและหรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทจะมีจำกัดในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้า แต่หากมีปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการทางการเงินและคุณภาพเครดิตโดยรวมของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญเกิดขึ้น เช่น ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น หรือคุณภาพสินทรัพย์ที่ถดถอยลง เป็นต้น อันดับเครดิตและหรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทก็อาจปรับลดลงได้

ธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ถือหุ้น 49.45% ในบริษัทบัตรกรุงไทย โดยบริษัทบัตรกรุงไทยจัดเป็นบริษัทร่วมเชิงกลยุทธ์แห่งหนึ่งในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารกรุงไทย ภายใต้กฎระเบียบการกำกับแบบรวมกลุ่มของธนาคารแห่งประเทศไทย บริษัทเป็นบริษัทร่วมซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม Non-solo Consolidation ในฐานะที่เป็นบริษัทในกลุ่มของธนาคารกรุงไทย บริษัทมีโอกาสได้ใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสาขาของธนาคารกรุงไทยที่มีอยู่ทั่วประเทศในการขยายฐานลูกค้า รวมถึงเป็นช่องทางการชำระเงินและบริการ บริษัทยังมีการทำการตลาดร่วมกับทางธนาคารกรุงไทยด้วย โดยจำนวนลูกค้าบัตรเครดิตรายใหม่ ๆ ของบริษัทในปี 2557 จำนวนกว่า 40% มาจากสาขาของธนาคารกรุงไทย ซึ่งเพิ่มขึ้น จาก 25% ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ บริษัทยังได้รับการสนับสนุนทางด้านเงินทุนจากธนาคารอีกด้วย กล่าวคือ บริษัทได้รับวงเงินสินเชื่อ 18,030 ล้านบาทจากธนาคาร โดยวงเงินดังกล่าวยังไม่มีการเบิกใช้ ณ สิ้นปี 2557

หลังจากวิกฤติอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 บริษัทได้ตัดสินใจโอนงานจัดเก็บและติดตามหนี้กลับมาบริหารเองทั้งหมด นอกจากนี้ บริษัทยังเน้นให้ความสำคัญกับการจัดเก็บและติดตามหนี้ตั้งแต่ก่อนที่หนี้ปกติจะกลายเป็นหนี้เสียด้วย ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการจัดเก็บและติดตามหนี้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องดังเห็นได้จากสินเชื่อค้างชำระที่ลดลง ทั้งนี้ อัตราสินเชื่อค้างชำระของบัตรเครดิต (เกิน 90 วัน) ลดลงจาก 5.3% ในไตรมาสแรกของปี 2555 เหลือ 2.2% ณ สิ้นปี 2556 และ 1.7% ณ สิ้นปี 2557 สินเชื่อส่วนบุคคลก็มีอัตราสินเชื่อค้างชำระ (เกิน 90 วัน) ที่ลดลงเช่นกัน โดยลดจาก 4.7% ในไตรมาสแรกของปี 2555 เหลือ 1.5% ณ สิ้นปี 2556 และ 1.2% ณ สิ้นปี 2557 แม้ว่าอัตราสินเชื่อค้างชำระจะมีแนวโน้มที่ลดลง แต่อัตราหนี้สูญตัดบัญชีของบริษัทกลับเพิ่มขึ้นจาก 7.4% ในปี 2555 มาเป็น 10.3% ในปี 2556 และ 9.4% ในปี 2557 ทั้งนี้ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากนโยบายการตั้งสำรองที่เข้มงวดมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อค้างชำระ (เกิน 90 วัน) ที่เพิ่มขึ้นจาก 195% ณ สิ้นปี 2555 มาเป็น 293% ณ สิ้นปี 2556 และ 364% ณ สิ้นปี 2557 บริษัทได้เพิ่มค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญให้สูงขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมให้บริษัทสามารถรับมือกับความไม่แน่นอนจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น

ในปี 2555 บริษัทให้ความสำคัญในเรื่องการปรับปรุงระบบงานภายในและการควบคุมค่าใช้จ่ายเป็นส่วนใหญ่ โดยบริษัทเริ่มกลับมามุ่งเน้นด้านการตลาดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2555 ซึ่งทำให้รายได้ในปี 2556 กลับมาเติบโตหลังจากที่ค่อนข้างนิ่งมาตั้งแต่ปี 2551 โดยมีกำไรสุทธิ (หลังหักรายการพิเศษจากการขายเงินลงทุน) ในปี 2556 อยู่ที่ 1,037 ล้านบาท เทียบกับ 255 ล้านบาทในปี 2555 บริษัทมีกำไรสูงเป็นประวัติการณ์ในปี 2557 โดยมีกำไรอยู่ที่ 1,755 ล้านบาท อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 3.3% ในปี 2557 จาก 2.5% ในปี 2556 บริษัทได้เพิ่มการตั้งประมาณการหนี้สินสำหรับคะแนนสะสมแลกของรางวัลอย่างเพียงพอแล้วในช่วงปี 2554 และ 2555 ทำให้ภาระดังกล่าวลดต่ำลงมากตั้งแต่ช่วงปี 2556 เป็นต้นไป นอกจากนี้ ประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่ดีขึ้นตลอดจนนโยบายการตั้งสำรองอย่างระมัดระวังของบริษัทน่าจะช่วยให้บริษัทสามารถรักษาระดับกำไรนี้ได้ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า บริษัทมีความเสี่ยงด้านกฎระเบียบอยู่บ้างโดยอาจมีกฏระเบียบใหม่ในเรื่องวิธีการคำนวณดอกเบี้ยซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทได้ อย่างไรก็ตาม กฎระเบียบใหม่ดังกล่าวได้เลื่อนการพิจารณาออกไป ภายหลังจากการยุบสภาในเดือนธันวาคม 2556 ทั้งนี้ ผลกระทบจากความไม่แน่นอนดังกล่าวจะเลื่อนออกไปจนกว่ากฎระเบียบใหม่ถูกนำกลับมาพิจารณาอีกครั้ง

จากการที่บริษัทสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่หลากหลาย ประกอบกับการสนับสนุนทางการเงินที่ได้รับจากธนาคารกรุงไทย ทำให้ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องระยะสั้นมิได้เป็นประเด็นที่น่าห่วงมากนัก กล่าวคือ บริษัทมีเงินทุนที่ใช้สนับสนุนสภาพคล่องจากเงินกู้ที่ได้จากสถาบันการเงินหลายแห่งและจากหุ้นกู้ที่มีวันครบกำหนดชำระหนี้ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน โดยไม่มียอดเงินกู้จากสถาบันการเงินใดที่มีสัดส่วนสูงมากเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับยอดเงินกู้โดยรวม อย่างไรก็ตาม การที่บริษัทใช้การกู้ยืมและการออกตราสารหนี้เป็นแหล่งเงินทุนหลักในขณะที่คู่แข่งในกลุ่มธนาคารพาณิชย์มีต้นทุนทางการเงินที่ถูกกว่าจากการมีฐานเงินฝากเป็นแหล่งเงินทุน ผลประกอบการที่ปรับตัวที่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยตลาดที่มีแนวโน้มลดลงในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของบริษัทปรับตัวลดลงจาก 5.0% ในปี 2552 เป็น 4.4% ในปี 2556

การขาดทุนที่สูงในปี 2554 ทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทลดต่ำลงอย่างมาก อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนเพิ่มขึ้นเป็น 8.8 เท่า ณ สิ้นปี 2554 เทียบกับเกณฑ์ที่บริษัทต้องดำรงไว้ที่ระดับไม่เกิน 10 เท่า ผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นในปี 2555-2557 ส่งผลให้ฐานทุนแข็งแกร่งขึ้น ซึ่งช่วยลดอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนลงเหลือ 6.4 เท่า ณ สิ้นปี 2557 หากบริษัทคงนโยบายการจ่ายเงินปันผลที่ระมัดระวัง ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะรักษาส่วนของผู้ถือหุ้นในระดับนี้ในอีก 2 -3 ปี ข้างหน้า อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเติบโตของสินเชื่ออาจทำให้บริษัทมีการกู้เงินเพิ่มขึ้นและส่งผลต่ออัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของบริษัทอยู่บ้าง

บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTC)
อันดับเครดิตองค์กร: A-
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
KTC158A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 3,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A-
KTC15OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A-
KTC162A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A-
KTC165A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A-
KTC165B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A-
KTC167A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A-
KTC168A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A-
KTC168B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A-
KTC172A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 138 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A-
KTC174A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A-
KTC175A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A-
KTC175B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A-
KTC177A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A-
KTC178A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A-
KTC178B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 200 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A-
KTC17DA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 130 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A-
KTC17NA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 5,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A-
KTC17OA: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A-
KTC183A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A-
KTC188A: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 800 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A-
KTC188B: หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A-
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ในวงเงินไม่เกิน 12,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2564 A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable
ติดต่อ santaya@trisrating.com  โทร. 0-2231-3011 ต่อ 500 อาคารสีลมคอมเพล็กซ์ ชั้น 24 191 ถ. สีลม กรุงเทพฯ 10500
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2558 ห้ามมิให้บุคคลใด ใช้ เปิดเผย ทำสำเนาเผยแพร่ แจกจ่าย หรือเก็บไว้เพื่อใช้ในภายหลังเพื่อประโยชน์ใดๆ ซึ่งรายงานหรือข้อมูลการจัดอันดับเครดิต ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน และไม่ว่าในรูปแบบ หรือลักษณะใดๆ หรือด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต การจัดอันดับเครดิตนี้มิใช่คำแถลงข้อเท็จจริง หรือคำเสนอแนะให้ซื้อ ขาย หรือถือตราสารหนี้ใดๆ แต่เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับความเสี่ยงหรือความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้นั้นๆ หรือของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะ ความเห็นที่ระบุในการจัดอันดับเครดิตนี้มิได้เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการลงทุน หรือคำแนะนำในลักษณะอื่นใด การจัดอันดับและข้อมูลที่ปรากฏในรายงานใดๆ ที่จัดทำ หรือพิมพ์เผยแพร่โดย บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้จัดทำขึ้นโดยมิได้คำนึงถึงความต้องการด้านการเงิน พฤติการณ์ ความรู้ และวัตถุประสงค์ของผู้รับข้อมูลรายใดรายหนึ่ง ดังนั้น ผู้รับข้อมูลควรประเมินความเหมาะสมของข้อมูลดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุน บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้รับข้อมูลที่ใช้สำหรับการจัดอันดับเครดิตนี้จากบริษัทและแหล่งข้อมูลอื่นๆ ที่เชื่อว่าเชื่อถือได้ ดังนั้น บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด จึงไม่รับประกันความถูกต้อง ความเพียงพอ หรือความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลใดๆ ดังกล่าว และจะไม่รับผิดชอบต่อความสูญเสีย หรือความเสียหายใดๆ อันเกิดจากความไม่ถูกต้อง ความไม่เพียงพอ หรือความไม่ครบถ้วนสมบูรณ์นั้น และจะไม่รับผิดชอบต่อข้อผิดพลาด หรือการละเว้นผลที่ได้รับหรือการกระทำใดๆโดยอาศัยข้อมูลดังกล่าว ทั้งนี้ รายละเอียดของวิธีการจัดอันดับเครดิตของ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เผยแพร่อยู่บน Website: http://www.trisrating.com/th/rating-information-th2/rating-criteria.html

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ