Movieปัญญาเรณู 3 ตอน รูปู รูปี

ข่าวบันเทิง Tuesday February 12, 2013 14:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.พ.--สหมงคลฟิล์ม กลับมาสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะอีกครั้งกับแก๊ง “ปัญญาเรณู” พร้อมเพิ่มสีสันด้วยสมาชิกใหม่สุดแสบใส แถมยังไปถ่ายทำไกลถึงประเทศอินเดีย ผลงานโกอินเตอร์สู่แดนภารตะจากทีมผู้สร้าง “ปัญญาเรณู” กับเรื่องราวความม่วนซื่นในการเดินทางของ “น้ำขิง” และเพื่อนๆ จากแดนอีสานสู่เมืองพุทธคยาเพื่อสืบทอดศิลปะประจำชาติที่น่าประทับใจ ไปจนถึงความชุลมุนสุดหรรษาเมื่อต่างเกิดพลัดหลงกันขึ้นโดยไม่คาดคิด การเดินทางในเมืองที่แตกต่างทั้งภาษาและวัฒนธรรม กลุ่มเด็กๆ ได้เห็นวิถีชีวิตและประเพณีวัฒนธรรมของอินเดียมากมาย ความรัก ความสามัคคี รวมถึงมิตรภาพในวัยเด็กที่ไม่มีการแบ่งชนชั้นวรรณะ ความประทับใจที่คุณจะสัมผัสได้ใน... สนุกทะลุส่าหรี ถึงคราวเมืองโรตีโดนตะลุย 7 มีนาคมนี้ ในโรงหนังนะจ๊ะ นายจ๋า กำหนดฉาย 7 มีนาคม 2556 แนวภาพยนตร์ คอเมดี้-ดราม่า บริษัทผู้สร้าง สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล, บิณฑ์ บูม บิสซิเนส บริษัทจัดจำหน่าย สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทดำเนินงานสร้าง บิณฑ์ บูม บิสซิเนส อำนวยการสร้าง สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ, บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ควบคุมงานสร้าง วราภรณ์ พิบำรุง กำกับภาพยนตร์ บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ บทภาพยนตร์ บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ กำกับภาพ พีระพันธ์ เหล่ายนตร์ ลำดับภาพ พีระพันธ์ เหล่ายนตร์ ออกแบบงานสร้าง สุวัฒน์ชัย สุทธิรักษ์ ออกแบบเครื่องแต่งกาย ธนสรร ไอยเรศกร ดนตรีประกอบ ธิปไตย ภิรมย์ภักดิ์ คัดเลือก-สอนการแสดง สุรชัย เที่ยงธรรม ออกแบบท่าเต้น พิลานันทร์ มาตรเลิง ที่ปรึกษาด้านภาษา ลักษมี ญาณเกียรติพงศ์ ฟิล์มแล็บ สยามพัฒนาฟิล์ม บันทึกเสียง ห้องบันทึกเสียงรามอินทรา ทีมนักแสดง ด.ญ.สุธิดา หงษา, ด.ช.พงษ์สิทธิ์ นาเวียง, ด.ช.บุญฤทธิ์ จันทร์แก้ว, ด.ช.วิชิต สมดี, ด.ช.ปกรณ์ ผ่องศรี, ด.ญ.ศศิธร อัปมานะ, ด.ช.ธงรบ ดีเมืองปัก, ด.ญ.พิมพ์รพี ดีเมืองปัก, ด.ญ.วาทินี พงษ์ภาพ, กุ๊ดดู กุมาร, นพดล ดวงพร, ยุทธพิชัย ชาญเลขา, อุษณียาภรณ์ ผลเจริญ, เหลือเฟือ มกจ๊ก, จั๊กกะบุ๋ม เชิญยิ้ม, ซ่าส์ หมาว้อ, ยาว ลูกหยี, ศิกษก บรรลือฤทธิ์ เรื่องย่อ ภาพยนตร์สะท้อนกลิ่นอายวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวอีสานส่งผ่านให้ชาวต่างชาติได้รับรู้ จากเรื่องราวความม่วนซื่นในการเดินทางของ “น้ำขิง” (สุธิดา หงษา) และเพื่อนๆ จากหมู่บ้านชนบทของไทยสู่เมืองพุทธคยา เพื่อไปทอดผ้าป่าและแสดงโปงลาง-วัฒนธรรมพื้นบ้านของภาคอีสานที่วัดไทยในอินเดีย เรื่องราวสนุกสนานและประทับใจเริ่มต้นตั้งแต่การเตรียมตัวขึ้นเครื่องบินเป็นครั้งแรก จนกระทั่งเดินทางไปถึงอินเดีย แต่ในระหว่างที่กลุ่มเด็กๆ พักอยู่ที่อินเดีย ทางวัดได้พาเด็กๆ ไปเที่ยว ขณะนั้นเองที่กลุ่มเด็กๆ เกิดพลัดหลงจากคณะของพระโดยไม่คาดคิด เรื่องชุลมุนสุดหรรษาจึงเกิดขึ้นเมื่อกลุ่มเด็กไทย 7 คน (น้ำขิง, เปเล่, ชิต, เซฟ, พลอย, ภีม, โบ๊ต) ต้องหลงทางในดินแดนที่ไม่รู้จัก ไม่คุ้นเคย และไม่สามารถสื่อสารได้ แต่แล้วโชคชะตาก็นำพาให้พวกเด็กๆ ได้พบกับ “รูปี” (กุ๊ดดู กุมาร) เด็กชายชาวอินเดียที่พยายามจะช่วยเหลือ แม้จะไม่สามารถสื่อสารกันได้ แต่เด็กก็ย่อมเข้าใจในเด็กด้วยกัน ขณะเดียวกันทางกลุ่มพระและคณะทัวร์ก็ออกตามหาเด็กๆ แต่ก็มีเหตุให้ต้องคลาดกันทุกครั้งไป ความรัก, ความสามัคคี และไหวพริบของเด็กๆ จะช่วยให้พวกเขากลับวัดไทยได้อย่างไร จากการขุด “รูปู” เล่นสนุกสู่ทริป “รูปี” ตะลุยอินเดีย การผจญภัยในเมืองที่แตกต่างทั้งภาษาและวัฒนธรรม แต่มิตรภาพในวัยเด็กที่ไม่มีการแบ่งชนชั้นวรรณะ จะสร้างความประทับใจให้คุณสัมผัสได้ใน “ปัญญาเรณู 3 ตอน รูปูรูปี” เบื้องหลังการผจญภัย จากแดนข้าวเหนียวสู่แคว้นโรตี หลังจากประสบความสำเร็จจาก “ปัญญาเรณู 1 และ 2” ผู้กำกับใจบุญมากความสามารถ “บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์” ก็ได้แรงบันดาลใจจากการเดินทางไปท่องเที่ยวและทำบุญที่ประเทศอินเดีย งานนี้จึงขอโกอินเตอร์โดยยกกองถ่ายเกือบร้อยชีวิตไปตะลุยแดนภารตะในภาพยนตร์เรื่องใหม่ “ปัญญาเรณู 3 ตอน รูปูรูปี” กับเรื่องราวการผจญภัยของแก๊งเด็กบ้านนาที่เกิดพลัดหลงกันขึ้นระหว่างการเดินทางจากแดนอีสานสู่เมืองพุทธคยาเพื่อไปงานบุญครั้งใหญ่ ความชุลมุนสุดหรรษาจึงบังเกิดโดยไม่คาดคิด “เรื่องนี้ก็เกิดจากความประทับใจของผมในการเดินทางไปอินเดีย โดยเฉพาะที่พุทธคยา-เมืองที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ระหว่างเดินทางก็เห็นความเป็นอยู่ของแต่ละเมืองที่มีความแตกต่างกัน ก็มีความคิดว่าถ้าเอาเด็กอีสานไปเจอกับเด็กอินเดียให้ลองใช้ชีวิตด้วยกันซิว่ามันจะเป็นยังไง มันน่าจะมีมีข้อคิดอะไรที่ดีๆ ให้กับเราได้ ก็เลยกลายเป็นโปรเจ็คต์หนังตลกใสๆ มีดราม่าชีวิตเข้ามาด้วย ไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องตลกมากหรือว่าดราม่ามากๆ มันเป็นเรื่องราวสนุกๆ ของเด็กๆ ที่พลัดหลงกันระหว่างเดินทางในอินเดีย ก็ได้ผจญภัยกันไปกับเรื่องราวที่สนุกสนานน่าติดตามระหว่างเด็กไทยและเด็กอินเดีย หนังเรื่องนี้จะสนุกตรงที่เด็กๆ ไม่รู้เรื่องด้านภาษาและวัฒนธรรมแต่ต้องมาอยู่ด้วยกัน ก็จะเป็นเรื่องของความมีน้ำใจ เรื่องจิตใจของเพื่อนที่ไม่เคยทิ้งกัน” เมื่อปิ๊งไอเดียเด็ดแล้ว ผู้กำกับบิณฑ์ก็เริ่มเตรียมงานสร้างทันที ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางไปดูโลเกชั่น, การเขียนบท, การแคสติ้งนักแสดง รวมถึงการประสานงานด้านต่างๆ ซึ่งใช้เวลาเกือบครึ่งปีกว่าจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ “น่าจะประมาณหลังจากปิดกล้อง ปัญญาเรณู 2 ซัก 2-3 เดือนในการเขียนบทและวางตัวละคร และก็การประสานงานทางด้านโน้น สถานที่ก็โอเค ที่ลำบากหน่อยก็คือเรื่องของอากาศ มันสารพัดร้อนมากๆ 50 องศา เพราะฉะนั้นเราต้องเตรียมงานตั้งแต่กรุงเทพฯ ไปเลย พอถึงที่นั่นปุ๊บเราถ่ายเลย เราไปดูโลเกชั่นมาตั้งแต่ครั้งแรกแล้วว่าเราจะมีหมู่บ้านอย่างนี้ วัดอยู่ที่นี่ แล้วเด็กต้องไประหกระเหินเร่ร่อนจากเมืองพุทธคยา ห่างจากที่เราพักซัก 50 กิโล เพราะฉะนั้นการเตรียมงานของเรา เรารู้ว่าเราต้องเซฟอะไร รถบัสต้องกี่คัน รถตู้วันๆ หนึ่งใช้ประมาณสิบคัน ไฟเราไม่ได้ขนไป เราไปทำที่นั่น เราถ่ายกันแบบอย่างนั้นเลย ถ้าเกิดเอาไฟเอาอะไรไปผมว่ามันเป็นเรื่อง แล้วถ้าเช่ามันก็ต้องไปเช่าอีกเมืองหนึ่ง แล้วการเดินทางมาประมาณเกือบ 20 ชั่วโมง มันไม่คุ้ม แล้วเรื่องนักแสดงเด็กอินเดีย เราก็ต้องเอาเด็กอินเดียหลายคนมาแคสดูว่าคนไหนเล่นได้-ไม่ได้ ให้แคสเด็กที่อินเดียไว้รอเราเลย แล้วเราก็จะไปเลือกเองว่าเอาคนไหนๆ ก็เซ็ตเรียบร้อย ก็ประมาณ 3 เดือนกว่าเกือบ 4 เดือนในการเตรียมงานก่อนที่จะต้องไปถ่ายที่นั่น” โดยในเรื่องนี้ ผู้กำกับมากฝีมือยังคงสร้างสรรค์เรื่องและเขียนบทเองเหมือนเรื่องที่ผ่านมา โดยอิงจากประสบการณ์จริงของตนเองและคนรอบข้างที่เคยไปสัมผัสดินแดนแห่งนี้มาแล้ว บวกกับจินตนาการของผู้กำกับให้ออกมาสนุกสนานอย่างมีสีสัน “ทั้งหมดผมจะคิดเรื่องเอง เขียนบทเอง กำกับเอง แต่เรื่องราวจะไม่ต่อเนื่องจากภาคที่แล้ว จะเปลี่ยนเป็นเรื่องใหม่เลย แต่ตัวแสดงก็มีทั้งทีมเก่าจากปัญญาเรณูทั้งสองภาคและก็จะมีน้องๆ นักแสดงหน้าใหม่เข้ามาเสริมความสนุก น้องๆ สุดยอดเล่นดีมากๆ คาแร็คเตอร์หลักก็จะเป็นทีมนักแสดงเด็กๆ ทั้งเก่าและใหม่ซึ่งจะรับบทเป็นตัวของเค้าเองทุกคนผมคิดว่าคำว่า ปัญญาเรณู คงเป็นอะไรที่ประทับใจมาตั้งแต่ภาค 1-2 ก็เลยคิดว่าคงไม่ทิ้งเรื่องปัญญาเรณูไป ก็จะเป็น ปัญญาเรณู 3 ตอนรูปูรูปี ที่ไปบุกอินเดียกัน เรื่องราวก็มาจากตอนที่เราไปประเทศอินเดียแล้วมีพระเล่าเหตุการณ์ให้ฟังว่าคนไทยจะเดินทางไปประเทศอินเดียปีหนึ่งหลายสิบล้านคน ไปไหว้พระไปตามสถานที่ต่างๆ ของพระพุทธเจ้า แล้วเมืองพุทธคยา ที่เราอยู่เป็นเมืองที่พระพุทธเจ้าไปตรัสรู้ที่นั่น เรารู้สึกว่ามันเป็นเมืองที่สำคัญจริงๆ เขาบอกว่าเวลาคนไทยเอารถทัวร์มาทอดผ้าป่าก็จะมีรถบางคันโดนโจรที่ประเทศอินเดียปล้นแล้วเรื่องจริงมีพระองค์หนึ่งที่โดนแทงแล้วปล้นเอาทรัพย์สินไปได้ประมาณ 2-3 ล้านบาท หลายครั้งมาก เราก็เลยคิดเรื่องราวของเด็กภาคอีสานกับเด็กที่อินเดียมาเจอกัน มีการหลงทางผจญภัยสนุกๆ เกิดขึ้น มีการทอดผ้าป่าทอดกฐินกัน คือพระจากประเทศอินเดียขอผ้าป่ามาที่พระไทย แล้วพระไทยก็เอาไปทอดที่ประเทศอินเดีย แล้วก็มีวัฒนธรรมจากภาคอีสานไปโชว์ที่อินเดียด้วย เราก็เอาเด็กทั้งหมดเดินทางไปประเทศอินเดียเพื่อจะไปโชว์โปงลางศิลปวัฒนธรรมของภาคอีสาน แล้วทางอินเดียจะมีโชว์ระบำแขกโชว์อะไรของเขา เราก็จัดเซ็ตฉากขึ้นมาแบบอลังการที่ประเทศอินเดีย เรื่องตัวประกอบ extra ไม่ต้องห่วงเขามาทีเป็นพันๆ คนเข้ามาดูกัน คือเราทำงานยากมาก แต่ก็ถือว่าโอเคเป็นงานอะไรที่มันแปลกใหม่ของเด็กๆ ภาคอีสาน แล้วเมืองพุทธคยาก็ไม่เคยมีใครไปถ่ายหนังที่นั่นเลย เพราะว่ามันสุดสาหัสสากรรจ์มากจริงๆ” แม้จะมีการวางแผนการถ่ายทำกันเป็นอย่างดีแล้ว แต่แน่นอนว่าการถ่ายทำในต่างถิ่นต่างแดน ต่างภาษา ต่างวัฒนธรรมย่อมเกิดอุปสรรคปัญหาทั้งภายในภายนอก ทั้งคาดคิดและไม่คาดฝันขึ้นได้ ซึ่งทางทีมงานจำเป็นต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อให้การถ่ายทำดำเนินไปได้สำเร็จลุล่วง “อุปสรรคในการถ่ายทำอย่างมากก็คือแขกมุง เรารู้กันเลยว่าอินเดียเนี่ยเป็นอะไรที่มุงกันตลอด มีอะไรนิดๆ หน่อยๆ ก็มุงกันตลอด เพราะฉะนั้นเรื่องการทำงานของเราก็ยากมาก นี่คืออุปสรรคจริงๆ ไม่ว่าเราตั้งกล้องตรงไหน พี่น้องชาวอินเดียก็จะมามุงดูการถ่ายทำหนังโบกไม้โบกมือจนบางทีเราต้องทน และพยายามเอาพวกล่ามมาพูดให้ชาวบ้านได้เข้าใจ บางทีเราก็ต้องเอากล้องไปตั้งหลอกเหมือนกับว่าเราจะไปถ่ายตรงด้านนั้น แล้วเราก็รีบถ่ายกันด้านนี้ ต้องทำงานกันแบบนี้เลย ต้องตั้งเป็นสองกอง กองนั้นหลอก กองนี้ถ่ายจริงอะไรแบบนี้ ส่วนเรื่องอาหารการกิน เนื่องจากการทำงานของเราทุกวันมันเร่งรีบ แล้วอากาศมันก็ร้อนมาก บางครั้งการกินน้ำอย่างผลไม้ปั่นหรืออะไรพวกนี้ก็ทำให้บางคนท้องเสียกัน 3-4 วัน ผมเองก็โดนไปด้วยแทบตายทั้งถ่ายทั้งอาเจียน แต่เป็นแค่วันเดียวเพราะเรารู้สึกว่าไม่อยากจะนอนพักเพราะมันทำให้เสียงาน เรื่องป่วยไข้อย่างอื่นไม่ค่อยมี ส่วนใหญ่ที่เป็นก็เรื่องท้องเสีย อาหารเป็นพิษ เรื่องเกี่ยวกับน้ำ บางครั้งเผลอเอาน้ำวางไว้แมลงวันมาตอม เราก็ไม่รู้ คนเสิร์ฟน้ำก็ไม่รู้ ก็เอามากินกันอะไรอย่างงี้ ก็ต้องคอยระวังกันให้มากขึ้น ซึ่งระยะเวลาในการถ่ายทำ ผมตั้งไว้จริงๆ จะไม่เกินประมาณสัก 20 คิวที่ประเทศอินเดีย แต่พอไปถ่ายจริงๆ ก็ประมาณ 27-28 คิว เพราะบางวันเด็กตัวหลักบางคนเล่นไม่ได้ เพราะว่าอากาศร้อนแล้วไม่สบายท้องเสียประจำอะไรประมาณนี้ เราต้องถ่ายฉากอื่นถ่ายเก็บภาพโน้นภาพนี้อะไรกันไป แล้วก็ถ่ายภาคอีสานอีกประมาณสัก 3-4 คิว ก็ตกแล้วเรื่องนี้ก็ประมาณ 30 คิว ซึ่งจริงๆ หนังปกติก็ประมาณ 18-20 ไม่เกินนี้ เราล่อไปสัก 30 คิว มันล่าช้ามาจากอินเดียแล้วทำให้งานเราต้องเพิ่มเพื่อความเหมาะสม รวมๆ แล้วอยู่ที่อินเดียประมาณเดือนครึ่ง แล้วมาถ่ายที่อีสานอีกก็ตกประมาณสองเดือนได้ในการถ่ายทำ ผมประทับใจทีมงานและนักแสดงของผมทุกคนซึ่งมีความอดทนอดกลั้นมากๆ อดทนทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อให้หนังเรื่องนี้ออกมาเสร็จสมบูรณ์ บางคนถ้าเกิดท้อใจหรืออะไรเขาก็คงขอกลับบ้าน แต่นี่เขาอยู่เพื่อหนังเรื่องนี้นี่ประทับใจมาก เราทุกคนพร้อมที่จะสู้ทุกๆ วัน แม้บางวันจะถ่ายมาดึกดื่น เช้ามีถ่ายต่อเค้าก็พร้อมที่จะถ่ายต่อ พร้อมที่จะทำงานกับเรา เป็นความประทับใจของเรา แล้วก็ประทับใจหลายๆ คนที่เป็นคนไทยในอินเดียซึ่งช่วยเหลือเรามาตลอดโดยที่เขาไม่ได้หวังอะไรมากมาย มาช่วยเพราะเราเป็นคนไทยด้วยกัน ผมรู้สึกว่าการไปถ่ายทำครั้งนี้ประสบความสำเร็จได้เหมือนปาฏิหาริย์ บางสิ่งที่ไม่น่าทำได้ก็ทำได้ เพราะหลายคนบอกว่าการไปถ่ายที่อินเดียไม่ใช่เรื่องง่ายเลย มันยากมาก เป็นเมืองที่กันดารที่สุด เป็นเมืองที่คนมากที่สุด เมืองพุทธคยาแค่นั้นมีคนตั้ง 100 ล้านคนมากกว่าประเทศไทยอีก แต่เราก็สามารถทำงานได้ ผมก็รู้สึกขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นั่น และอีกหลายอย่าง ประทับใจมาก พอได้เห็นภาพหนังออกมาก็หายเหนื่อยได้เลย” ทั้งหมดทั้งมวลในการทำภาพยนตร์เรื่องนี้ของผู้กำกับฯ เพื่อเผยภาพชีวิตเด็กๆ ต่างชนชั้นในอินเดียกับเด็กบ้านนอกไทยแท้ที่ต้องมาใช้ชีวิตร่วมกันด้วยความน่ารักสดใส สนุกสนาน สร้างรอยยิ้ม และความประทับใจที่ไม่เคยมีภาพยนตร์ไทยเรื่องไหนสร้างมาก่อน “หนังเรื่องนี้ถือว่าเป็นหนังไทยที่เดินทางไปถ่ายทำไกลถึงพุทธคยา ประเทศอินเดียซึ่งเป็นหนึ่งในสังเวชนียสถานของโลก จุดหมายที่ชาวพุทธทั่วโลกต้องไปเยือนสักครั้ง ภาพที่หนังถ่ายทอดออกมาสื่อสารเรื่องราวความเป็นอยู่ของชาวอินเดีย จะได้เห็นวิถีชนบท ได้เห็นถึงวัฒนธรรมใหม่ๆ ที่เราไม่เคยเห็น และสถานที่สวยแปลกตาอีกมากมาย โดยไม่ต้องคิดซับซ้อนมากมาย และยังคงสไตล์ปัญญาเรณูแบบโกอินเตอร์ มันจะมีภาษาอีสานแล้วก็ภาษาอังกฤษ ภาษาอินเดียปะปนกันไปด้วยความเหมาะสมของท้องเรื่อง ก็จะมีทั้งเรื่องเกี่ยวกับชีวิต ความสนุกสนานเฮฮาที่จะให้ข้อคิดกับเด็กๆ และอีกหลายๆ คนที่อาจไปตกระกำลำบากอยู่ต่างประเทศ เรื่องนี้ก็จะให้ข้อคิดดีๆ ที่จะให้คนได้จดจำได้เลยครับ ผมเชื่อว่าเด็กๆ ในเรื่องนี้จะทำให้ท่านยิ้ม หัวเราะ และประทับใจได้ไม่ยากเลยครับ” แก๊งภารตะฮัดช่า “น้ำขิง” (ด.ญ.สุธิดา หงษา) - เด็กหญิงบ้านนา ใจกล้า แก่นแก้ว มีความเป็นผู้นำอยู่สูง เป็นหัวโจกของกลุ่มเพื่อนในการผจญภัยในอินเดีย จนทำให้เจอกับเหตุการณ์ต่างๆ อันไม่คาดคิด เรื่องรักไม่ยุ่ง มุ่งแต่ตะลุยอินเดียหาทางกลับบ้านให้ได้ “เรื่องนี้หนูรับบทคล้ายๆ กับตัวเองอยู่เหมือนกันค่ะ จะเป็นหัวหน้ากลุ่มคอยพาเพื่อนไปเฮไหนเฮนั่น จะแสบๆ ซ่าๆ เป็นคู่ปรับกับพี่เปเล่ในเรื่อง ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่หนูไปอินเดียค่ะ ตื่นเต้นมากค่ะ กลัวร้อนมากก็เลยเตรียมกันแดดไปเยอะมาก แต่พอไปถึงจริงๆ ก็ไม่ค่อยร้อนเท่าไหร่นะคะ เล่นหนังเรื่องสนุกมากค่ะ ได้ไปเที่ยวอินเดียด้วยแล้วก็ได้เพื่อนใหม่ๆ เพิ่มขึ้นด้วย หลายคนอาจสงสัยว่าชื่อหนังหมายถึงอะไร รูปูก็คือรูปูที่เด็กอีสานชอบขุดเล่น ส่วนรูปีก็คือเงินตราของประเทศอินเดีย ผู้กำกับก็คิดอยู่นานว่าจะตั้งชื่อว่าอะไร รูอะไรดีนั่งคิดอยู่ 3-4 วันคิดได้ว่าไปอินเดียเงินตราก็เป็นของอินเดีย คิดไปคิดมาลุงท็อปเขาก็คิดได้ว่าต้องเป็นรูปุรูปี คือจะเป็นเหมือนเด็กอีสานกับเด็กอินเดียมาเจอกัน มันจะเกิดอะไรขึ้น ต้องดูค่ะ” “เปเล่” (ด.ช.บุญฤทธิ์ จันทร์แก้ว) - เป็นพี่ใหญ่ที่สุดในกลุ่ม คาแร็คเตอร์เปิ่นๆ เชยๆ แต่ค่อนข้างหงุดหงิดง่าย และฉลาดแกมโกงนิดหน่อย ไม่ค่อยจะสนใจเพื่อนในกลุ่มนี้สักเท่าไหร่ แต่ก็ยอมรับความคิดเห็นของเพื่อนรุ่นน้องถ้ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นคู่ซี้ปึ้กกับชิต ไปไหนไปกันตลอด “ภาพที่คิดไว้ในหัวกับตอนที่ไปเจอจริงๆ ผิดกันมากเลยครับ แตกต่างฟ้ากับเหวเลย นึกว่าเมืองที่ไปจะสวยงามน่าอยู่ แต่ไปถึงแล้วมันกันดารมากเลยครับ แต่มันก็มีหลายสถานที่ที่ทำให้สงบได้แม้จะมีผู้คนเยอะแยะวุ่นวายก็ตาม หนังเรื่องนี้จะทำให้เห็นถึงมิตรภาพของกลุ่มเด็กๆ ที่แม้จะต่างภาษาและวัฒนธรรม แต่ก๋สามารถเชื่อมถึงกันได้ครับ” “ชิต” (ด.ช.วิชิต สมดี) - เด็กชายผู้เงียบขรึม ไม่ค่อยพูดอะไรมากมาย เพราะกลัวคนจะฟังไม่รู้เรื่อง เป็นคนรักเพื่อนพ้อง และเสียสละ เป็นคู่หูกับเปเล่ เพราะอาศัยอยู่วัดเดียวกัน “ตื่นเต้นและสนุกดีครับได้ไปถ่ายหนังกับเพื่อนๆ ที่อินเดีย ได้เห็นลูกเห็บเป็นครั้งแรก มันเหมือนน้ำแข็งตกลงมาจากฟ้าเลยครับ เล่นเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ 3 แล้ว ผมก็กล้าขึ้นและสนุกขึ้นด้วยครับ” “โบ๊ต” (ด.ช.ปกรณ์ ผ่องศรี) - จิ๋วแจ๋วภารตะฮัดช่า เล็กพริกขี้หนูที่สุดในกลุ่ม เป็นเด็กที่ตีโปงลางได้เก่งที่สุด เป็นเด็กที่มีความคิดอ่านดี มองโลกในแง่ดี และคอยออกความคิดนำพาแก๊งไปตะลุยอินเดียอย่างไม่สิ้นหวัง “เล่นหนังเรื่องแรกสนุกมากครับ ได้เพื่อนใหม่ๆ ได้ไปเที่ยวอินเดียครั้งแรกด้วยครับ มีฉากผจญภัยสนุกๆ หลายฉากเลยครับ อย่างฉากอาบน้ำนี่ เราไม่รู้ว่าเป็นน้ำ 4 วรรณะที่เค้าใช้อาบกันมาจากชั้นบนๆ ครับ พวกผมก็กระโดดลงไปเล่นอย่างเย็นสบาย พอมารู้ว่าเป็นน้ำที่เค้าใช้แล้วสกปรกก็รีบกระโดดขึ้นมาจากสระเลยครับ” “เซฟ” (ด.ญ.ศศิธร อัปมานะ) - เด็กหญิงหน้าตาสวยงาม น่ารักสดใส เป็นคนมองโลกในแง่ดี เป็นตัวกลางประสานระหว่างเพื่อนคนไทยกับอินเดีย เพราะสื่อสารภาษาอังกฤษได้รู้เรื่องที่สุดในกลุ่ม เลยต้องเป็นไกด์นำเพื่อนๆ ไปผจญภัยตามที่ต่างๆ เพื่อหาทางกลับบ้านให้ได้ “ดีใจค่ะที่ได้ไปต่างประเทศครั้งแรก แล้วเราก็รู้สึกเสียใจนิดหนึ่งด้วยว่าทำไมประเทศเขายากจน ประทับใจที่ได้แลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรม หนูอยากให้ไปดูการผจญภัยของเด็กๆ ได้ประสบการณ์ ความคิด เพื่อนรุ่นพี่รุ่นน้องที่ดีๆ ทุกคนเลย สนุกดีค่ะที่ได้เข้ามาทำงานในกองถ่ายเป็นครั้งแรก” “ภีม” (ด.ช.ธงรบ ดีเมืองปัก) - เป็นคนเงียบๆ ชอบสนุกสนานกับเพื่อนๆ แต่แล้วก็หลงทางไปกับเพื่อน เป็นคนพูดน้อย ชอบอยู่ในกลุ่มเพื่อน ไม่ตีตัวออกห่างจากกลุ่ม “เรื่องแรกเลยครับ ทั้งตื่นเต้นทั้งสนุก แต่คาแร็คเตอร์จะไม่ค่อยเหมือนตัวจริงนะครับ เพราะตัวจริงจะเป็นคนพูดมาก ซนนิดหน่อย ไปอินเดียครั้งแรกก็รู้สึกรักประเทศไทยขึ้นมาเลย เพราะประเทศเขามันยากจนมาก กันดาร แต่มีความสนุกที่ได้ไปถ่ายหนังกับเพื่อนๆ ครับ” “พลอย” (ด.ญ.พิมพ์รพี ดีเมืองปัก) - เด็กหญิงอ้วนท้วนสมบูรณ์ เป็นคนกล้าแสดงออก แต่เป็นคนอ่อนไหว ขี้แง ร้องไห้ง่าย “รู้สึกตื่นเต้นที่ได้เล่นหนังเป็นเรื่องแรก ไม่รู้ว่าเราจะทำได้ไหม แต่สุดท้ายแล้วก็ผ่านไปด้วยดี หนังเรื่องนี้เป็นความสนุกสนานที่ครบรส จะเป็นความสนุกที่เป็นกันเอง แล้วหนังเรื่องนี้ก็จะเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยของเรากับวัฒนธรรมอินเดียจะจะเห็นมิตรภาพความรักความสามัคคีของเด็กๆ ที่ไม่แบ่งชนชั้นวรรณะด้วยค่ะ” “รูปี” (กุ๊ดดู กุมาร) - เด็กชายอินเดียหน้าตาท่าทางซื่อๆ มีเสน่ห์ที่รอยยิ้มหวานๆ ฟันขาว ตาโต สดใส เป็นเด็กยากจนแต่มีน้ำใจมากๆ คอยช่วยเหลือเด็กไทยให้หาทางกลับบ้านให้ได้ แม้จะสื่อสารกันไม่ค่อยรู้เรื่องก็ตาม แต่ก็ไม่อาจขวางกั้นมิตรภาพอันงดงามครั้งนี้ได้ “ดีใจมากครับที่ได้เล่นหนังครั้งแรก ตอนที่แคสติ้งก็ไม่คิดว่าจะได้เล่น พี่ๆ ทีมงานบอกให้ทำอะไรผมก็ทำตามครับ ก็พยายามปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนๆ คนไทย และคอยแนะนำเพื่อนๆ ว่าที่พุทธคยานั้นมีอะไรน่าสนใจบ้างครับ เพื่อนๆ น่ารักทุกคน วันไหนที่ผมไม่มีคิวถ่าย ผมก็จะไปเที่ยวเล่นในกอง พอหนังถ่ายเสร็จ ทุกคนบินกลับ ทำให้ผมคิดถึงเพื่อนๆ มากครับ ผมอยากดูหนังเรื่องนี้เร็วๆ ครับ” ฉากเด็ดสะระตี่ สนุกดีดี๊ดี ส่าหรีกระจาย ฉากในตลาด - เป็นอะไรที่ยากมากๆ เพราะคนมามุงดูกันเป็นหมื่น เราต้องใช้กล้องแอบถ่ายไม่ให้ใครเห็นกล้อง ก็โอเคได้ภาพที่ดี นี่คือฉากที่ใช้คนเยอะมากในตลาดเมืองพุทธคยา ใช้คนเยอะมากแต่ไม่ได้จ้างเพราะเราแค่บอกว่าถ่ายหนัง เค้าก็มากันแล้ว เราเอากล้องแอบไว้บนหลังคาตึก ก็ได้ภาพแบบธรรมชาติ ถ้าเค้ารู้ว่ากล้องอยู่ไหนเค้าก็อยากออกกล้อง ฉากไฟไหม้ - เป็นฉากที่พวกโจรมาปล้นเผาบ้านเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา ไม่ได้ทำร้ายผู้คน ฉากนี้ต้องใช้ม้าใช้คน ทำงานค่อนข้างลำบาก เราเซ็ตบ้านทั้งหมด 12 หลัง แต่มีปัญหากับชาวบ้านเพราะเค้าไม่ให้เผา เค้ากลัวว่าไฟจะติดบ้านเค้า ต้องเอาผู้ใหญ่มาเคลียร์ ก็ยังไม่ให้เผา แต่เราก็เผา พอเผาตรงไหนเค้าก็เอาน้ำมาดับ หงุดหงิดมาก แต่ก็โอเคถ่ายได้จนจบ ฉากอาบน้ำ 4 วรรณะ - เป็นอีกฉากที่ถ่ายทำค่อนข้างลำบาก ต้องเซฟพวกเด็กๆ เพราะว่าต้องลงไปเล่นน้ำจริงๆ ที่ผ่านการอาบมาแล้ว 3 ชั้น ลงมาชั้นที่ 4 น้ำเก่าๆ ที่ใช้แล้ว เราก็ต้องเซฟเด็กเดี๋ยวเป็นอะไรขึ้นมา แต่ก็ไม่เป็นอะไร มันเป็นความเชื่อเรื่องวรรณะ ทุกวันนี้พวกคนจนขอทานก็ยังอาบน้ำวรรณะที่ 4 อยู่ เราก็อยากจะให้ดูว่ายังมีสิ่งเหล่านี้อยู่บนโลกใบนี้นะ ฉากเทศกาลโฮลี่ - เหมือนสงกรานต์บ้านเรา แต่เป็นสงกรานต์สี เป็นฉากที่สร้างสีสันสวยงาม เค้าก็เล่นกันทุกที่ของอินเดีย เหมือนบ้านเราที่เล่นสาดน้ำกันทุกที่ วันโฮลี่ของอินเดียจะมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวกันเยอะ เราก็ต้องเซ็ตฉากนี้ขึ้นมา ต้องจ้างคนเข้าฉาก 500-600 คน มาเล่นปาสีกัน ฉากนี้ลงทุนมากฉากหนึ่ง และการหาสถานที่ในการถ่ายทำก็ยาก แต่ก็ได้ฉากสวยงามตามต้องการ ฉากเต้นระบำอินเดียกับโปงลาง - เราไปขอเช่าสถานที่กลางแจ้ง ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผู้นำใหญ่ๆ จะมาปราศรัย มาเล่นการแสดง ก่อนถ่ายฉากนี้เราก็จะมีการประกาศว่าเดี๋ยวเราจะมีการเอาโปงลางของไทย และระบำอินเดียมาโชว์ ตอนเช้าๆ คนมาเป็นพันๆ แต่เรายังรอเซ็ตโน่นนี่กว่าจะได้ถ่ายก็ 4 โมงกว่าแดดเปรี้ยงคนหายเกลี้ยง เราต้องออกไปประกาศใหม่ขอความร่วมมือ เขาก็ออกมากันอีกที แล้วเราก็ต้องรีบถ่ายจนได้ฉากใหญ่นี้ เกร็ดหนัง 1) "ปัญญาเรณู 3 ตอน รูปู รูปี" (7 มี.ค. 56) เป็นผลงานกำกับเรื่องที่ 7 ของผู้กำกับ “บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์" โดยผลงานก่อนหน้านี้ได้แก่ ปัญญาเรณู 2 (2555), ปัญญาเรณู (2554), เดอะโกร๋น ก๊วน กวน ผี (2547), ช้างเพื่อนแก้ว (2546), ตำนานกระสือ (2545), มนต์รักเพลงลูกทุ่ง (2538) 2) ผู้กำกับฯ ได้คิดเรื่องใหม่หมด, เขียนบท และกำกับการแสดงเองทั้งหมด โดยได้ไอเดียและแรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์จริงและเรื่องเล่าต่างๆ เมื่อครั้งเดินทางไปเที่ยวที่อินเดีย บวกกับเรื่องราวการผจญภัยและมิตรภาพที่ไม่มีชนชั้นวรรณะของกลุ่มเด็กๆ จนสร้างสรรค์ออกมาเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้ 3) "ปัญญาเรณู 3 ตอน รูปู รูปี" เป็นภาพยนตร์ไทยที่มีซับไตเติ้ลภาษาไทยด้วย เพราะหนังพูดทั้งภาษาอีสาน, ภาษาไทยกลาง และภาษาปะกิต (อังกฤษกะปริดกะปรอย) 4) “รูปู” หมายถึงเด็กอีสาน และ “รูปี” สกุลเงินอินเดียก็หมายถึงเด็กอินเดีย 5) นำทีมชุลมุนสุดหรรษาด้วยแก๊งปัญญาเรณู “น้องน้ำขิง” (ด.ญ.สุธิดา หงษา), “เปเล่” (ด.ช.บุญฤทธิ์ จันทร์แก้ว), “ชิต” (ด.ช.วิชิต สมดี) พร้อมเพิ่มสีสันความแสบใสกับ “น้องเซฟ” (ด.ญ.ศศิธร อัปมานะ), “น้องพลอย” (ด.ญ.พิมพ์รพี ดีเมืองปัก), “น้องภีม” (ด.ช.ธงรบ ดีเมืองปัก), “น้องโบ๊ต” (ด.ช.ปกรณ์ ผ่องศรี) และขอแนะนำ “กุ๊ดดู กุมาร” (ในบท “รูปี” เด็กชายอินเดียที่คอยช่วยเหลือแก๊งเด็กไทย), เสริมทัพความสนุกด้วย “แซกกี้” (ด.ช.พงษ์สิทธิ์ นาเวียง) และทีมนักแสดงรุ่นใหญ่ นพดล ดวงพร, ยุทธพิชัย ชาญเลขา, อุษณียาภรณ์ ผลเจริญ, เหลือเฟือ มกจ๊ก, จั๊กกะบุ๋ม เชิญยิ้ม ฯลฯ 6) โลเกชั่นหลัก 90% ของเรื่องถ่ายทำกันที่เมืองพุทธคยา ประเทศอินเดีย ให้ได้เห็นวิถีชีวิตชนบทของอินเดีย ประเพณีวัฒนธรรม และสถานที่แปลกๆ อีกมากมายทั้งวัดวาอาราม และสถาปัตยกรรมเก่าๆ นับพันปี 7) ยกทีมงานนักแสดงเกือบร้อยคนไปใช้ชีวิตและถ่ายทำกันที่อินเดียนานถึงหนึ่งเดือนเต็ม 8) ผู้กำกับฯ ยังคงสอดแทรกวัฒนธรรมอีสานที่มีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่ายอย่างฉากขุดรูปูเล่นสนุกของเด็กๆ และฉากใหญ่ๆ ที่ถ่ายกันที่อินเดียไม่ว่าจะเป็นฉากโจรปล้นเผาบ้าน, ฉากอาบน้ำ 4 วรรณะ, ฉากตามหาเด็กในตลาด (ท่ามกลางอินเดียมุงเป็นหมื่น), ฉากโปงลางปะทะระบำอินเดีย, ฉากในสถานีรถไฟ, ฉากเทศกาลโฮลี่ (สงกรานต์สี) 9) “โรตีแกงกะหรี่” เป็นอาหารอินเดียที่ผู้กำกับฯ ติดใจและคอนเฟิร์มว่า “มันอร่อยมาก” นะจ๊ะ นายจ๋า ประวัติพุทธคยา “พุทธคยา” คือคำเรียกกลุ่มพุทธสถานสำคัญในอำเภอคยา จังหวัดมคธ รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นพุทธสถานที่มีความสำคัญที่สุด 1 ใน 4 แห่งของชาวพุทธ เนื่องจากเป็นที่ตั้งของสถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธสังเวชนียสถานที่มีความสำคัญที่สุดของชาวพุทธทั่วโลก ปัจจุบันบริเวณพุทธศาสนสถานอันเป็นที่ตั้งของสถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วัดมหาโพธิ” อยู่ในความดูแลของคณะกรรมการร่วม พุทธ-ฮินดู พุทธคยา ปัจจุบันตั้งอยู่ด้านตะวันตกของแม่น้ำเนรัญชรา ไกลจากฝั่งแม่น้ำประมาณ 350 เมตร (นับจากพระแท่นวัชรอาสน์) พุทธคยามีสัญลักษณ์ที่สำคัญคือองค์เจดีย์สี่เหลี่ยมที่สูงใหญ่ โดยสูงถึง 51 เมตร ฐานวัดโดยรอบได้ 121.29 เมตร ล้อมรอบด้วยโบราณวัตถุและโบราณสถานสำคัญ เช่น ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พระแท่นวัชรอาสน์ ที่ประทับตรัสรู้ และอนิมิสสเจดีย์ เป็นต้น ซึ่งนอกจากพุทธสถานโบราณแล้ว บริเวณโดยรอบพุทธคยายังเป็นที่ตั้งของวัดพุทธนานาชาติ รวมทั้งวัดไทยคือ วัดไทยพุทธคยา สำหรับชาวพุทธ พุทธคยานับเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่สำคัญที่สุดของนักแสวงบุญชาวพุทธทั่วโลกที่ต้องการมาสักการะสังเวชนียสถานสำคัญ 1 ใน 4 แห่งของพระพุทธศาสนา โดยในปี พ.ศ. 2545 วัดมหาโพธิ (พุทธคยา) สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรมขององค์การยูเนสโก(ข้อมูลจากวิกิพีเดีย)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ