มูลค่าเงินตามเวลา (Time Value of Money) : เงินมีมูลค่าเปลี่ยนไป เพราะอะไร ?

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 18, 2014 16:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ส.ค.--TERRABKK เมื่อเวลาเปลี่ยน ค่าของเงินก็เปลี่ยน การอุปโภคบริโภคบางสินค้า แม้ไม่ได้รับการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ใดๆ แต่ทำไมมีราคาขายแพงขึ้น อย่างที่ทุกคนทราบดีว่า ปัจจัยคงไม่ได้อยู่ แค่ผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่เป็นพราะมูลค่าของเงินที่ลดลงไปเรื่อยตามกาลเวลา และสิ่งที่ช่วยอธิบายคำตอบได้ดีที่สุด นั้นคือ มูลค่าเงินตามเวลา (Time Value of Money) พื้นฐานความรู้ด้านการเงินที่สำคัญในการใช้ชีวิตประจำวัน TerraBKK ขออธิบายภาพรวมความเป็นมา เรื่องมูลค่าเงินตามเวลา (Time Value of Money) ด้วยความเข้าใจง่ายๆ อย่างที่เคยได้ยินมาว่า เงิน 100 บาทในวันนี้ จะมีมูลค่าไม่ถึง 100 บาทในอีก 1 ปีข้างหน้า และถ้าปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ มูลค่าของเงินจะลดลงไปเรื่อยในปีถัดไป สังเกตได้จากค่าครองชีพที่สูงขึ้นทุกปี จากอัตราเงินเฟ้อ ขณะเดียวกัน หากนำเงิน 100 บาทนั้น ไปลงทุน ฝากแบงค์ก็จะได้รับดอกเบี้ยตามอัตราเงินฝากที่ธนาคารกำหนด เมื่อฝากเงินนานขึ้น มูลค่าของเงินก็จะเพิ่มขึ้น ทั้งหมดนี้ เป็นกลไกพื้นฐานด้านการเงินง่ายๆ ที่เราพบเจอได้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น มูลค่าเงินตามเวลา (Time Value of Money) จึงประกอบไปด้วย 4 ส่วนหลัก ดังนี้ มูลค่าปัจจุบัน ( Present value :PV ) หมายถึง มูลค่าของเงิน ณ ปัจจุบัน เช่น เงิน 100 บาทในวันนี้ เป็นต้น มูลค่าอนาคต ( Future value : FV ) หมายถึง มูลค่าของเงินในอนาคต เช่น เงินที่มีมูลค่าไม่ถึง 100 บาทในอนาคต เป็นต้น จำนวนครั้งการทบต้น ( Compounding Periods : n ) หมายถึง ระยะเวลาในการคำนวณหามูลค่าเงินก้อนนั้นๆ เช่น ระยะเวลาการลงทุน , ระยะเวลาเงินฝากธนาคาร เป็นต้น อัตราคิดลด ( Discount rate : I ) หมายถึง อัตราที่ใช้คำนวณหามูลค่าเงินก้อนนั้นๆ ตามปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น อัตราเงินเฟ้อ , อัตราเงินฝาก , อัตราผลตอบแทนการลงทุน เป็นต้น อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ : TerraBKK.com - http://terrabkk.com/?p=18962

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ