ผู้นำด้านสุขภาพขานรับวัคซีนใหม่ หวังหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคไข้ไทฟอยด์

ข่าวต่างประเทศ Tuesday November 5, 2013 14:58 —ข่าวประชาสัมพันธ์พีอาร์นิวส์ไวร์

กรุงเทพมหานคร--5 พ.ย.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์ - การดื้อยาปฏิชีวนะที่กำลังขยายตัวในวงกว้างนับเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วง แนวร่วมต่อต้านโรคไข้ไทฟอยด์ (The Coalition against Typhoid: CaT) ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มของสถาบันวัคซีนเซบิน (Sabin Vaccine Institute) จะจัดการประชุม Vaccines for Enteric Diseases (VED) Conference ในสัปดาห์นี้ เพื่อให้นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพได้ร่วมกันอภิปรายในประเด็นที่ว่าวัคซีนโรคไข้ไทฟอยด์แบบเชื่อมผนึกที่ทุกคนรอคอยจะกระตุ้นความพยายามในระดับโลกเพื่อช่วยป้องกันโรคนี้ได้อย่างไร วัคซีนตัวใหม่จะช่วยป้องกันโรคไข้ไทฟอยด์ในระยะยาวทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยนับเป็นครั้งแรกที่เด็กทารกอายุ 6 เดือนสามารถรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ไทฟอยด์ได้ “การฉีดวัคซีนเป็นวิธีที่คุ้มทุน ปลอดภัย และเห็นผลทันที เพื่อเป็นเกราะป้องกันผู้ด้อยโอกาสทั่วโลกจากโรคไข้ไทฟอยด์” ดร.นาวีน แธคเกอร์ ผู้อำนวยการ Deep Children Hospital and Research Centre ประเทศอินเดีย และว่าทีประธานคนใหม่ของสมาคมกุมารเวชศาสตร์แห่งเอเชียแปซิฟิค กล่าว “วัคซีนเชื่อมผนึกนับเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการป้องกันโรคไข้ไทฟอยด์ และจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของนักเรียน ผู้ใหญ่ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็ก ซึ่งต้องรับภาระโรคมากที่สุด” องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ออกข้อแนะนำต่างๆ ซึ่งส่งเสริมให้มีการใช้วัคซีนไข้ไทฟอยด์มากขึ้นกว่าเมื่อช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามหลายประเทศที่มีการระบาดของโรคไข้ไทฟอยด์ยังไม่ได้ปฏิบัติตามข้อแนะนำเหล่านี้ โรคไข้ไทฟอยด์ได้รับความสนใจมากขึ้น ภายหลังมีข่าวว่าโรคนี้กำลังแพร่ระบาดอย่างหนักในเอเชีย และระบาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในทวีปแอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาร่า นอกจากนี้ การดื้อยาปฏิชีวนะทุกกลุ่มที่ใช้ในการรักษาโรคไข้ไทฟอยด์ยังเป็นอันตรายต่อประชาชนด้วย อย่างไรก็ตาม ข้อมูลใหม่ล่าสุดเกี่ยวกับภาระและการกระจายทางภูมิศาสตร์ของการดื้อยากำลังอุบติขึ้น “อุบัติการณ์ของเชื้อดื้อยารักษาโรคไข้ไทฟอยด์ เช่น H58 กำลังสร้างความหวาดวิตก โดยเชื้อดื้อยาดังกล่าวเป็นสาเหตุให้โรคไข้ไทฟอยด์แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วทั่วโลกแล้วในขณะนี้” ดร.กอร์ดอน ดูแกน หัวหน้าฝ่ายหัวหน้าฝ่ายจุลชีพก่อโรค และตัวแทนคณะกรรมการบริหารของสถาบัน Wellcome Trust Sanger Institute ในสหราชอาณาจักร กล่าว “การจัดทำแผนที่การกระจายตัวของการดื้อยามีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อช่วยให้ประเทศต่างๆสามารถควบคุมโรคไข้ไทฟอยด์ และทำให้มั่นใจว่าผู้ป่วยจะได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม และไม่ประสบโรคโดยไม่จำเป็น” WHO ระบุว่าโรคไข้ไทฟอยด์ส่งผลกระทบต่อประชากรประมาณ 21 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้มากกว่า 216,000 รายต่อปี โดยเฉพาะเด็กก่อนวัยเรียนและเด็กในวัยเรียน WHO รายงานว่า 90% ของการเสียชีวิตด้วยโรคไข้ไทฟอยด์เกิดขึ้นในเอเชีย อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานใหม่ที่เปิดเผยว่าโรคไข้ไทฟอยด์มีการแพร่ระบาดอย่างหนักในทวีปแอฟริกา “เพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดนั้น จะต้องมีการผสมผสานการฉีดวัคซีนโรคไข้ไทฟอยด์เข้ากับกลยุทธ์แทรกแซงอื่นๆ เช่น การรักษาพยาบาล น้ำสะอาดและปลอดภัย และสุขอนามัยพื้นฐาน” ดร.ซามีร์ ซาฮา จากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งบังคลาเทศ โรงพยาบาลธากาชิชู กล่าว “แต่ในทวีปเอเชีย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีการแพร่ระบาดของโรคไทฟอยด์สูงมาก กลับมีเพียงจีน ไทย และเวียดนามเท่านั้นที่ได้ดำเนินความพยายามนี้” ในท้ายที่สุดแล้ว โรคไข้ไทฟอยด์จะสามารถถูกกำจัดได้เป็นส่วนใหญ่ ด้วยการปรับปรุงคุณภาพน้ำและระบบสุขอนามัย อย่างไรก็ตาม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวจำเป็นต้องมีเงินลงทุนเป็นจำนวนมาก ซึ่งมากกว่าที่ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคจะสามารถหาได้ในอนาคตอันใกล้ ทั้งนี้ จนกว่าจะถึงเวลานั้น ควรมีการจัดหาวัคซีนที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และประหยัดค่าใช้จ่าย เพื่อใช้ร่วมกับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที ผู้ร่วมอภิปรายในการประชุมว่าด้วยวัคซีนโรคไข้ไทฟอยด์ ที่งาน VED Conference ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญจากอินเดีย เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ซึ่งจะแสดงการนำเสนอที่เน้นย้ำว่าการสร้างความตระหนักรู้โดยทั่วไป การเพิ่มความเข้าใจเรื่องภาระโรค การลำดับความสำคัญของวัคซีน ตลอดจนการพัฒนาและดำเนินกลยุทธ์ระยะยาวนั้น จะช่วยให้เราสามารถเอาชนะความท้าทายต่างๆในการป้องกันและควบคุมโรคไข้ไทฟอยด์ที่เราเผชิญอยู่ในปัจจุบันได้ เกี่ยวกับแนวร่วมต่อต้านโรคไข้ไทฟอยด์ แนวร่วมต่อต้านโรคไข้ไทฟอยด์ (Coalition against Typhoid: CaT) เป็นชุมชนผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและการสร้างภูมิคุ้มกันระดับโลกที่ทำงานเพื่อกระตุ้นและสนับสนุนการตัดสินใจโดยอิงตามเหตุผลและหลักฐาน ทั้งในระดับโลก ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ ไปจนถึงระดับท้องถิ่น เกี่ยวกับการใช้วัคซีนรักษาโรคไข้ไทฟอยด์เพื่อป้องกันโรคนี้ในวัยเด็ก CaT ยังดำเนินงานเพื่อจัดการกับความท้าทายที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้วัคซีนโรคไข้ไทฟอยด์ในชุมชนที่จะได้รับประโยชน์สูงสุด ตลอดจนกิจกรรมสำคัญๆที่จำเป็นต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สถาบันวัคซีนเซบิน (Sabin Vaccines Institute) เป็นสำนักงานเลขาธิการของ CaT และได้รับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิบิล แอนด์ เมลินดา เกตส์ (Bill & Melinda Gates Foundation) ทั้งนี้ CaT บรรลุวัตถุประสงค์ต่างๆผ่านกิจกรรมการดำเนินงานของสมาชิก สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม สามารถรับชมได้ที่ www.COALITIONagainstTYPHOID.ORG และ www.TyphoidConference.org เกี่ยวกับสถาบันวัคซีนเซบิน สถาบันวัคซีนเซบิน เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรประเภท 501(c)(3) ของกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และผู้สนับสนุน ซึ่งอุทิศตนทำงานเพื่อลดความทุกข์ทรมานที่มนุษย์ไม่ควรต้องเผชิญอันเป็นผลมาจากโรคที่วัคซีนสามารถป้องกันได้และโรคเมืองร้อนอื่นๆที่ขาดการเอาใจใส่ (NTDs) นับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2536 เพื่อเป็นเกียรติแก่ ดร. อัลเบิร์ท บี. เซบิน (Dr. Albert B. Sabin) ผู้พัฒนาวัคซีนโปลิโอชนิดรับประทาน ทางสถาบันได้เป็นผู้นำความพยายามในการกำจัด ป้องกัน และรักษาโรคติดต่อ รวมถึงโรคเมืองร้อนที่ขาดการเอาใจใส่ทั่วโลกมาโดยตลอด เซบินพัฒนาวัคซีนใหม่ๆ สนับสนุนการใช้วัคซีนที่มีอยู่ และส่งเสริมการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ไม่แพง ร่วมกับบรรดาหน่วยงานรัฐบาล สถาบันวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ และองค์กรไม่แสวงผลกำไรอื่นๆ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.sabin.org

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ