ICCA สนับสนุนการทดสอบตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ เพื่อเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักระยะแพร่กระจาย

ข่าวต่างประเทศ Tuesday March 24, 2015 15:00 —ข่าวประชาสัมพันธ์พีอาร์นิวส์ไวร์

บรัสเซลส์--24 มี.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์ ห้ามเผยแพร่ในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร - เปิดตัวแคมเปญ “Get Tested” เนื่องในวันมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักระยะแพร่กระจายโลก - มุ่งกระตุ้นให้ผู้ป่วยเกิดความตระหนักและความเข้าใจเกี่ยวกับการทดสอบตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ RAS เพื่อนำไปวางแผนการรักษาโรคมะเร็ง สำหรับผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักระยะแพร่กระจาย (mCRC) - การทราบสถานะของยีน RAS ในเนื้องอกจะช่วยให้แพทย์สามารถปรับการรักษาให้เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย สมาคมมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักสากล (International Colorectal Cancer Association: ICCA)* ประกาศเปิดแคมเปญใหม่ในชื่อ “Get Tested” เนื่องในวันมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักระยะแพร่กระจายโลกครั้งปฐมฤกษ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ผู้ป่วยเกิดความตระหนักและเข้าใจถึงความสำคัญของการทดสอบ RAS สำหรับผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักระยะแพร่กระจาย (mCRC) พร้อมสนับสนุนให้ผู้ป่วยขอรับการทดสอบจากแพทย์ของตน แคมเปญนี้ได้รับการรับรองจากบรรดาองค์กรด้านการดูแลสุขภาพและกลุ่มผู้สนับสนุนผู้ป่วยทั่วโลก โดยเว็บไซต์ของแคมเปญได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับโรค mCRC และบทบาทของตัวบ่งชี้ทางชีวภาพในการเลือกแนวทางการรักษา ตลอดจนความหมายของการทดสอบ RAS รวมทั้งมีลิงค์ไปยังข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วย และมีแหล่งข้อมูลต่างๆจากกลุ่มสนับสนุนผู้ป่วยในหลายประเทศ นอกจากนี้ แคมเปญดังกล่าวยังได้ทำการยื่นสมุดปกขาวต่อสมาชิกรัฐสภาในบรัสเซลส์ เพื่อเรียกร้องให้มีการยกระดับการเข้าถึงการทดสอบสำหรับผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค mCRC และสนับสนุนให้การทดสอบตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ RAS เป็นขั้นตอนบังคับก่อนเริ่มกระบวนการรักษาพื้นฐาน ตามแผนการรักษาโรคมะเร็งของผู้ป่วยแต่ละราย “สำหรับผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค mCRC นั้น การเข้ารับการทดสอบตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ RAS ก่อนเริ่มกระบวนการรักษาขั้นพื้นฐานถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง” ศาสตราจารย์ Ciardiello ประธานสมาคม ICCA, ว่าที่ประธานสมาคม European Society for Medical Oncology และศาสตราจารย์สาขามะเร็งวิทยาประจำมหาวิทยาลัย Seconda Universita degli Studi di Napoli ในเมืองเนเปิลส์ ประเทศอิตาลี กล่าว “การทดสอบ RAS จะช่วยกำหนดกระบวนการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย เว็บไซต์ประจำแคมเปญของเราจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ mCRC และการทดสอบ RAS เพื่อให้มีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับตัวเลือกการรักษาที่เหมาะสมกับตนเอง และนำไปปรึกษากับแพทย์ต่อไป” Elisabetta Gardini สมาชิกสภายุโรปและหัวหน้าพรรคประชาชนยุโรปประจำอิตาลี กล่าวระหว่างการเปิดตัวแคมเปญในกรุงบรัสเซลส์ว่า “โรค mCRC เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การเลือกกระบวนการรักษาโรคที่มีความ “แม่นยำ” หรือ “เฉพาะบุคคล” โดยใช้ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพนั้น สามารถสร้างความแตกต่างอย่างแท้จริงต่อความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วย ดังนั้น เราต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้ประชาชนชาวยุโรปทุกคน ตลอดจนประชาชนทั่วโลก สามารถมั่นใจได้ว่าจะมีการทดสอบอย่างเหมาะสมภายหลังตรวจพบโรค mCRC ไม่ว่าผู้ป่วยจะอาศัยอยู่ที่ใดก็ตาม” มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก หรือเรียกสั้นๆว่ามะเร็งลำไส้ เป็นโรคมะเร็งที่พบได้มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ในเพศชาย และมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในเพศหญิงทั่วโลก โดยในปี 2555 มีผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคนี้กว่า 694,000 ราย [1] ส่วนโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักระยะแพร่กระจาย (mCRC) เป็นอาการระยะลุกลามของโรคนี้ ซึ่งเนื้องอกในลำไส้ใหญ่หรือทวารหนักได้ลุกลาม (แพร่กระจาย) ไปยังส่วนอื่นๆของร่างกาย พบได้ส่วนใหญ่ในตับหรือปอด ทำให้การรักษายากลำบากมากขึ้น โรค mCRC มีอัตราการรอดชีวิตต่ำ โดยมีผู้ป่วยเพียง 10-12% ที่สามารถอยู่รอดได้ 5 ปีภายหลังได้รับการวินิจฉัย [2],[3] อย่างไรก็ตาม ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคลินิกล่าสุดบ่งชี้ว่า การใช้ยาต้าน EGFR สามารถเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยโรค mCRC ที่ไม่มียีน RAS ประเภทกลายพันธุ์ในเนื้องอก [4]-[9] ความก้าวหน้าดังกล่าวทำให้เกิดการปรับปรุงแนวทางการรักษาทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกา โดยมีการแนะนำให้ผู้ป่วยโรค mCRC ทุกคนเข้ารับการทดสอบสถานะของยีน RAS ก่อนทำการรักษาด้วยยาต้าน EGFR [10],[11] การทดสอบตัวบ่งชี้ทางชีวภาพเป็นวิธีการเบื้องต้นในการตรวจสอบประเภทและสถานะของยีนมะเร็งบางชนิด [12],[13] โดยได้มีการตรวจพบตัวบ่งชี้ทางชีวภาพในมะเร็งหลากหลายประเภท ทั้งมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งเต้านม และมะเร็งปอด และยังมีบทบาทสำคัญมากขึ้นสำหรับแพทย์ในการใช้วางแผนดูแลรักษาผู้ป่วย อันเป็นขั้นตอนการรักษาที่มีชื่อเรียกเฉพาะว่า “การแพทย์แม่นยำ” หรือ “การแพทย์เฉพาะบุคคล” [12]-[14] ทั้งนี้ RAS ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพที่สามารถบ่งบอกอาการล่วงหน้าได้นั้น เป็นกลุ่มยีนที่ประกอบไปด้วยยีน KRAS และยีน NRAS ซึ่งสามารถใช้เลือกกระบวนการรักษาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้ป่วยโรค mCRC แต่ละราย [4]-[8] สำหรับโรค mCRC นั้น RAS ถือเป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพที่มีความสำคัญ เพราะช่วยคาดคะเนได้ว่าผู้ป่วยโรค mCRC จะตอบสนองต่อการรักษาได้ดีแค่ไหน ดังนั้นการตรวจสอบสถานะของ RAS ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรค mCRC ราวครึ่งหนึ่งมีเนื้องอกที่มียีน RAS ประเภทปกติ ขณะที่อีกครึ่งหนึ่งมียีน RAS ประเภทกลายพันธุ์ [15] เกี่ยวกับสมาคมมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักสากล สมาคมมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักสากล (ICCA)* เป็นโครงการริเริ่มระดับโลก เพื่อรวบรวมผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาวิชาที่มีความสนใจในการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักระยะแพร่กระจาย และการยกระดับการดูแลรักษาผู้ป่วย ICCA เป็นผู้รับผิดชอบแคมเปญ Get Tested ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นให้ผู้ป่วยเกิดความตระหนักและเข้าใจถึงความสำคัญของการทดสอบตัวบ่งชี้ทางชีวภาพ เพื่อนำไปกำหนดวิธีการรักษาโรคมะเร็งแบบเฉพาะบุคคล สำหรับผู้ป่วยที่เพิ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักระยะแพร่กระจาย แคมเปญ Get Tested ได้รับการรับรองโดยองค์กรต่างๆ ได้แก่ Association of Patients with Oncological Diseases, Bowel Cancer Australia, Bowel Cancer UK, CHU de Rouen, Dance with Cancer, EuropaColon, European Alliance Personalised Medicine, European Cancer Patient Coalition, Global Colon Cancer Association, Institut du Cancer de Montpellier, L'Istituto Nazionale Tumori, Irish Cancer Society, Italian Federation of Voluntary Associations in Oncology และ Seconda Universita di Napoli และยังได้รับการสนับสนุนจาก Merck Serono, Sysmex Inostics และ Amgen รับชมข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ RAS และแคมเปญ Get Tested ได้ที่ http://www.GetTestedCampaign.com *ปัจจุบัน ICCA อยู่ระหว่างการจดทะเบียนในกรุงบรัสเซลส์ ในฐานะสมาคมระหว่างประเทศที่ไม่แสวงผลกำไร (INPMA) อ้างอิง 1) Ferlay J, Soerjomataram I, Ervik M, Dikshit R, Eser S, Mathers C, Rebelo M, Parkin DM, Forman D, Bray F. GLOBOCAN 2012 V1.0, Cancer Incidence and Mortality Worldwide: IARC CancerBase No. 11 [Internet]. Lyon, France: International Agency for Research on Cancer; 2013. Available at: http://globocan.iarc.fr . Last accessed January 2015. 2) Sanoff HK, et al. J Clin Oncol. 2008;26(35):5721-7. 3) National Cancer Institute. SEER Stat Fact Sheets - Colon and Rectum Cancer. Available at: http://seer.cancer.gov/statfacts/html/colorect.html#survival . Last accessed January 2015. 4) Schwartzberg LS, et al. J Clin Oncol. 2014;32(21):2240-7. 5) Douillard J-Y, et al. N Engl J Med. 2013;369(11):1023-34. 6) Van Cutsem E, et al. J Clin Oncol. 2015:33(3). 7) Stintzing S, et al. European Cancer Congress 2013: Abstract No:LBA17. 8) Ciardiello F, et al. Oral presentation at the 2014 American Society of Clinical Oncology Annual Meeting, May 30-June 3, 2014. 9) Venook AP, J Clin Oncol. 2014:32:5s (suppl; abstr LBA3). 10) Bekaii-Saab T. J Natl Compr Canc Netw. 2014;12(2):299-300. 11) Van Cutsem E, et al. Ann Oncol. 2014;25(Suppl 3):iii1-iii9. 12) Moorcraft SY, et al. Therap Adv Gastroenterol. 2013;6(5):381-95. 13) Ong FS, et al. Expert Rev Mol Diagn. 2012;12(6):593-602. 14) Mallman MR, et al. EPMA J 2010;1(3):421-37. 15) Vaughn CP, et al. Genes Chromosomes Cancer 2011;50(5):307-12. แหล่งข่าว: สมาคมมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักสากล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ