นครหนานหนิงเปิดตัวดัชนี China-ASEAN Monetary Index แสดงความเคลื่อนไหวของเงินหยวนเทียบกับสกุลเงินอาเซียน

ข่าวต่างประเทศ Monday December 21, 2015 12:26 —Asianet Press Release

หนานหนิง, จีน--21 ธ.ค.--ซินหัว-เอเชียเน็ท/อินโฟเควสท์ China Finance Corporate และเทศบาลนครหนานหนิง ร่วมกันจัดทำดัชนี China-ASEAN Monetary Index (CAMI) ขึ้นเป็นครั้งแรก และได้เปิดตัวเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ณ เมืองหนานหนิง ซึ่งเป็นเมืองเอกของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงในภาคใต้ของจีน ดัชนี CAMI บ่งชี้ว่า เงินหยวนของจีน หรือ Renminbi แข็งค่าขึ้นในอัตราที่รวดเร็วกว่าสกุลเงินของกลุ่มประเทศอาเซียน และยังเร็วกว่าการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับสกุลเงินของกลุ่มประเทศอาเซียนอีกด้วย ดัชนี CAMI จะแสดงความเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนจีนกับสกุลเงินของประเทศในกลุ่มอาเซียนอย่างครอบคลุม โดยอิงกับข้อมูลอัตราการแลกเปลี่ยนของสกุลเงินหลักๆ และข้อมูลการค้าระหว่างจีนและประเทศในกลุ่มอาเซียน ดัชนี CAMI ถือเป็นเกณฑ์อ้างอิงที่มีประสิทธิภาพสำหรับการแลกเปลี่ยนทางการเงินในเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน (China-Asean Free Trade Area: CAFTA) ตลอดจนการส่งเสริมความร่วมมือทางการเงิน ด้วยความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในตลาด อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินจึงถือเป็นประเด็นที่สำคัญของ CAFTA โดยการถือครองสินทรัพย์สกุลเงินหยวนของต่างประเทศและการใช้เงินหยวนในการชำระเงินระหว่างประเทศที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วนั้น มีแนวโน้มที่จะทำให้ต้นทุนการแลกเปลี่ยนสกุลเงินปรับตัวลดลงในระยะยาว โปรแกรม CAMI ไม่เพียงแต่จะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเงินหยวนให้เป็นสกุลเงินสากลเท่านั้น แต่ยังจะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการค้าในภูมิภาค รวมถึงการลงทุนระหว่างจีนและอาเซียนอีกด้วย ตามหลักเกณฑ์การจัดทำดัชนี CAMI นั้น ได้มีการกำหนดให้วันที่ 19 สิงหาคม 2553 เป็นวันเริ่มต้นและ 100 เป็นจุดเริ่มต้นของดัชนี โดยสกุลเงินของ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ถูกรวมอยู่ในตระกร้าสกุลเงิน ขณะที่การถ่วงน้ำหนักแต่ละสกุลเงินจะคำนวณด้วยวิธีการถ่วงน้ำหนักทางการค้าในระดับทวิภาคี และจะมีการปรับปรุงทุก 3 ปี เพื่อความมีเสถียรภาพของดัชนีและเพื่อการเปรียบเทียบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดัชนี CAMI ณ วันที่ 14 ธันวาคม 2558 อยู่ที่ 135.82 จุด เพิ่มขึ้น 35.82 เมื่อเทียบกับจุดเริ่มต้น ซึ่งบ่งชี้ว่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศในอาเซียน ซึ่งริงกิตมาเลเซีย ดอลลาร์สิงคโปร์ เงินบาทของไทย รูปีอินโดนีเซีย ดองเวียดนาม และเปโซของฟิลิปปินส์ เป็นสกุลเงินที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่อแนวโน้มของดัชนี แหล่งข่าว: หน่วยงานข่าวแห่งเทศบาลนครหนานหนิง AsiaNet 62921

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ