บิล และ เมลินดา เกตส์ เรียกร้องให้ผู้นำทั่วโลกร่วมมือกันกำจัดโรคมาลาเรียให้หมดสิ้นไปจากโลก

ข่าวต่างประเทศ Thursday October 18, 2007 11:03 —Asianet Press Release

ซีแอ็ตเทิล, วอชิงตัน--18 ต.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์ - เอเชียเน็ท / อินโฟเควสท์
ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และแหล่งเงินทุนใหม่ๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การกำจัดโรคมาลาเรียให้หมดสิ้นไป
เสียงเรียกร้องให้ผู้ลงสมัครเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขยายโครงการกำจัดโรคมาลาเรียของทำเนียบประธานาธิบดีต่อไปอีก
บิล และ เมลินดา เกตส์ ได้ออกมาเรียกร้องให้ผู้นำจากทั่วโลกเดินหน้า “มุ่งสู่เป้าหมายในการสร้างโลกที่ปราศจากโรคมาลาเรีย และไม่มียุงแม้แต่เพียงตัวเดียวในโลกที่เป็นพาหะ” ในการประชุมของนักวิทยาศาสตร์ด้านมาลาเรียและผู้กำหนดนโยบาย 300 คนจากทั่วโลก
“ความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และการแพทย์ การวิจัยที่มีคุณภาพ และความใส่ใจของผู้คนทั่วโลก มิได้เป็นเพียงสิ่งที่จะทำให้เกิดการรักษาและควบคุมโรคมาลาเรียเท่านั้น แต่ยังเป็นการปูทางไปสู่การกำจัดโรคมาลาเรียให้หมดไปจากโลกในสักวันหนึ่งด้วย” เมลินดา เกตส์ กล่าว
ในแต่ละปีโรคมาลาเรียได้คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 1 ล้านคน โดยผู้เสียชีวิตจำนวนมากเป็นเด็ก โครงการขจัดโรคมาลาเรียในยุคทศวรรษ 1950 และ 1960 ประสบความล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า อันเป็นผลมาจากจำนวนผู้บริจาคเงินที่ลดลงอย่างมาก ในขณะที่เชื้อโรคและยุงกลับดื้อยาและยาฆ่าแมลงมากขึ้น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โครงการมาลาเรียก็ให้ความสำคัญกับการลดจำนวนผู้ป่วย มิใช่การกำจัดโรคมาลาเรียให้หมดไปจากโลก
“เรามีโอกาสพัฒนาความร่วมมือระหว่างกัน กำหนดนโยบายทางการเมือง และพัฒนานวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์เพื่อขจัดโรคมาลาเรียให้หมดไป” บิล เกตส์ กล่าว “เราจะพยายามต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งจนกว่าโรคมาลาเรียจะหมดสิ้นไปจากโลก”
การสร้างความร่วมมือด้านมาลาเรียและการได้รับเงินทุน ก่อให้เกิดความสำเร็จได้ในวงกว้าง
บิล เกตส์ กล่าวว่า องค์กรใหม่ๆ อย่าง กองทุนโลกสำหรับต่อสู้โรคเอดส์ วัณโรค และ มาลาเรีย, โครงการสนับสนุนการขจัดโรคมาลาเรียของธนาคารโลก และ โครงการมาลาเรียของทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐฯ มีส่วนร่วมอย่างมากในการให้การสนับสนุนด้านกำลังกายและกำลังทรัพย์เพื่อควบคุมโรคมาลาเรีย องค์การดังกล่าวบริจาคเงินรวมกันกว่า 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการควบคุมโรคมาลาเรียในกว่า 70 ประเทศทั่วโลก
บิล เกตส์ ยังกล่าวชื่นชมประเทศต่างๆในทวีปแอฟริกาที่ดำเนินโครงการควบคุมโรคมาลาเรียในเชิงรุกอย่างครอบคลุมและทั่วถึง โดยเฉพาะโครงการมาลาเรียของประเทศแซมเบีย ซึ่งเขายกย่องว่าเป็น “ตัวอย่างที่ดีที่แสดงให้เห็นถึงการร่วมมือร่วมใจของคนทั้งชาติ”
รายงานล่าสุดของกองทุนเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ซึ่งได้รับการเปิดเผยในการประชุม แสดงให้เห็นว่ามีความก้าวหน้าอย่างมากในการพยายามควบคุมโรคมาลาเรีย โดยตัวอย่างจากรายงานระบุว่า
- ความต้องการยาฆ่าแมลงและมุ้งเพื่อป้องกันยุงซึ่งเป็นพาหะของโรคมาลาเรียมีมากขึ้นถึงสองเท่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จากเดิมที่ 30 ล้านหลังในปี 2547 เป็น 63 ล้านหลังในปี 2549
- ทั่วโลกมีความต้องการยาอาร์ธีมิซินินซึ่งเป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษาโรคมาลาเรียเพิ่มขึ้นจาก 3 ล้านโดสในปี 2546 เป็น 100 ล้านโดส ในปี 2549
เพื่อช่วยให้เกิดความก้าวหน้าในการขจัดโรคมาลาเรียยิ่งขึ้น บิล และ เมลินดา เกตส์ ได้เรียกร้องให้ผู้ลงสมัครเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนโครงการมาลาเรียของทำเนียบประธานาธิบดี ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยประธานาธิบดีบุชเมื่อปี 2548 ด้วยเงินทุน 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย บิล เกตส์ กล่าวกับผู้ลงสมัครเลือกตั้งว่า “ถ้าท่านได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ขอให้ท่านสืบทอดโครงการดังกล่าวเพื่อต่อสู้กับโรคมาลาเรีย ทั้งโลกต้องการให้ท่านพัฒนาโครงการดังกล่าวต่อไป โรคมาลาเรียไม่มีวันหมดไปจากโลกถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างเต็มที่จากประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา”
ความก้าวหน้าด้านการพัฒนาวัคซีน ยารักษาโรค และยาฆ่าแมลงชนิดใหม่
บิล เกตส์ กล่าวว่า “การวิจัยด้านยารักษาโรค วัคซีน และเครื่องมืออื่นๆ ในการควบคุมโรค” เป็นสัญญาณที่ดีในการต่อสู้กับโรคมาลาเรีย โดยตัวอย่างความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ขององค์กรที่ได้รับเงินสนับสนุนจากมูลนิธิเกตส์ ประกอบด้วย
- วัคซีน: ผลการวิจัยล่าสุดจาก PATH Malaria Vaccine Initiative ซึ่งได้รับการตีพิมพ์โดยวารสารแพทย์ Lancet แสดงให้เห็นว่า การทดลองวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรีย RTS,S มีความปลอดภัยและอาจช่วยลดการติดเชื้อมาลาเรียในเด็กทารกลงได้อย่างมาก โดยจากการศึกษาในเด็ทารก 200 คน วัคซีนดังกล่าวช่วยลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลงได้ถึง 65% ภายในเวลาสามเดือนครึ่ง ทั้งนี้ การทดลองในวงกว้างขั้นที่ 3 จะเริ่มขึ้นในปีหน้า ในพื้นที่ 10 จุดของแอฟริกา
- ยารักษาโรค: องค์กร Malaria Venture ซึ่งกำลังทำการวิจัยยาตัวใหม่แทนยาตัวเก่า เพราะคาดว่าเชื้อมาลาเรียเริ่มดื้อยา ได้พัฒนายารักษาโรคมาลาเรียที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก คาดว่า ยาดังกล่าวจะได้รับการอนุมัติให้ใช้กับเด็กได้ในปีหน้า
- การควบคุมพาหะของโรค: องค์กร Innovative Vector Control Consortium กำลังพัฒนายาฆ่าแมลงตัวใหม่ซึ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการควบคุมและกำจัดยุงซึ่งเป็นพาหะของโรค
วัคซีน ยารักษาโรค และยาฆ่าแมลงชนิดใหม่ จะช่วย “ตัดวงจรการแพร่ระบาดและกำจัดโรคให้หมดไป” เมลินดา เกตส์ กล่าว “สถาบันวิจัยของทั้งภาครัฐและเอกชนต้องลงทุนในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยให้การขจัดโรคมาลาเรียให้หมดไปจากโลกเป็นความจริงขึ้นมาได้”
บิล และ เมลิดา เกตส์ กล่าวถ้อยแถลงดังกล่าวในการประชุมของนักวิจัยด้านมาลาเรีย ผู้นำด้านสุขภาพ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบาย และเจ้าหน้าที่รัฐจากทั่วโลก ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 ตุลาคม ที่โรงแรมเชอราตันในซีแอ็ตเทิล ท่านที่สนใจสามารถชมการถ่ายทอดการประชุมบางส่วนผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ที่ www.kaisernetwork.org/healthcast/malariaforum2007
ด้วยความเชื่อที่ว่าทุกคนในโลกมีคุณค่าเท่าเทียมกัน มูลนิธิ บิล และ เมลินดา เกตส์ จึงทำทุกวิถีทางเพื่อช่วยให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทางมูลนิธิให้ความสำคัญกับการพัฒนาสุขภาพของผู้คนในประเทศกำลังพัฒนา และให้โอกาสผู้คนเหล่านั้นหลุดพ้นจากความหิวโหยและความยากจนข้นแค้น ส่วนในสหรัฐอเมริกา ทางมูลนิธิสร้างโอกาสด้านการศึกษาและการใช้ชีวิตให้กับผู้ยากไร้ ทั้งนี้ มูลนิธิตั้งอยู่ที่เมืองซีแอ็ตเทิล ภายใต้การบริหารงานของ แพตตี้ สโตนไซเฟอร์ ซีอีโอ และ วิลเลียม เอช เกตส์ ซีเนียร์ ประธานร่วม ภายใต้การนำของ บิล และ เมลินดา เกตส์ และ วอร์เรน บัฟเฟต
แหล่งข่าว: มูลนิธิ บิล และ เมลินดา เกตส์
หมายเหตุถึงบรรณาธิการ:
สามารถติดต่อขอรับข่าวจาก UNICEF และ PATH Malaria Vaccine Initiative ได้ที่
สำหรับ UNICEF
ติดต่อ: แองเจล่า ฮอว์ค
โทร: 1 212-326-7269
อีเมล์: hawke@unicef.org
สำหรับ PATH Malaria Vaccine Initiative
ติดต่อ: เดวิด โปแลนด์
โทร: +1 240-395-2703
อีเมล์: dpoland@malariavaccine.org
ติดต่อ: เจนนี่ โซเรนสัน จาก มูลนิธิ บิล และ เมลินดา เกตส์
โทร: +1-206-709-3400
อีเมล์: media@gatesfoundation.org
เว็บไซต์: http://www.kaisernetwork.org/healthcast/malariaforum2007
--เผยแพร่โดย เอเชียเน็ท ( www.asianetnews.net )--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ