ดัชนีก่อการร้ายโลกปี 2562 เผยจำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายลดลงครึ่งหนึ่งในช่วง 4 ปีหลัง แต่จำนวนประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายมีเพิ่มมากขึ้น

ข่าวทั่วไป Wednesday November 20, 2019 12:01 —ข่าวประชาสัมพันธ์พีอาร์นิวส์ไวร์

ลอนดอน--20 พ.ย.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์ - จำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายลดลง 15.2% ในปี 2561 แตะที่ 15,952 คนทั่วโลก นับว่าลดลงเป็นปีที่สี่ติดต่อกัน - กลุ่มตาลีบันเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่อันตรายที่สุดในโลก แทนที่กลุ่ม ISIL โดยจำนวนผู้เสียชีวิตจากฝีมือของกลุ่มตาลีบันเพิ่มขึ้น 71% คิดเป็นสัดส่วน 38% ของผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายทั้งหมดทั่วโลกในปี 2561 - ในปี 2561 คะแนนการก่อการร้ายดีขึ้นใน 98 ประเทศ และแย่ลงใน 40 ประเทศ นับว่าประเทศที่คะแนนดีขึ้นเมื่อเทียบรายปีมีจำนวนมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2547 - การก่อการร้ายยังคงเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของทั่วโลก โดย 71 ประเทศมีรายงานผู้เสียชีวิตอย่างน้อยหนึ่งคนในปี 2561 ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นอันดับสองนับตั้งแต่ปี 2545 และมากกว่าปี 2560 อยู่ 4 ประเทศ - จำนวนผู้เสียชีวิตในยุโรปลดลง 70% โดยยุโรปตะวันตกเกิดการก่อการร้ายน้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2555 - การก่อการร้ายโดยกลุ่มขวาจัดเพิ่มขึ้นเป็นปีที่สามติดต่อกันในยุโรปตะวันตก อเมริกาเหนือ และโอเชียเนีย โดยมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 52% ในปี 2561 และแนวโน้มดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไปในปี 2562 โดยมีผู้เสียชีวิต 77 คน ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 - ผลกระทบของการก่อการร้ายที่มีต่อเศรษฐกิจโลกคิดเป็นมูลค่า 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561 ลดลง 38% จากปีก่อนหน้า ดัชนีก่อการร้ายโลก (Global Terrorism Index: GTI) ประจำปี 2562 เผยให้เห็นว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายปรับตัวลดลงเป็นปีที่สี่ติดต่อกัน หลังจากพุ่งสูงสุดในปี 2557 โดยจำนวนผู้เสียชีวิตลดลง 52% จาก 33,555 คนในปี 2557 เป็น 15,952 คนในปี 2561 ทั้งนี้ สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (Institute for Economics & Peace: IEP) ได้จัดทำดัชนีก่อการร้ายโลกเป็นปีที่ 7 เพื่อให้ข้อมูลที่ครอบคลุมที่สุดเกี่ยวกับแนวโน้มการก่อการร้ายทั่วโลก จำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายลดลงกว่า 15% ในปี 2561 โดยลดลงมากที่สุดในอิรักและโซมาเลีย อันเป็นผลมาจากความพ่ายแพ้ของกลุ่ม ISIL ในอิรัก และการที่กองทัพอเมริกาโจมตีทางอากาศถล่มกลุ่มอัล-ชาบับ ในโซมาเลีย นอกจากนี้ คะแนนการก่อการร้ายยังดีขึ้นใน 98 ประเทศ และแย่ลงใน 40 ประเทศ นับว่าประเทศที่คะแนนดีขึ้นเมื่อเทียบรายปีมีจำนวนมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2547 อย่างไรก็ตาม แม้ความรุนแรงของการก่อการร้ายจะลดลง แต่ความแพร่หลายของการก่อการร้ายกลับเพิ่มมากขึ้น โดย 71 ประเทศมีรายงานผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายอย่างน้อยหนึ่งคน ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นอันดับสองนับตั้งแต่ปี 2545 - ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายเพิ่มขึ้นจาก 67 ประเทศ เป็น 71 ประเทศในปี 2561 - อัฟกานิสถานมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยเพิ่มขึ้น 59% จากปีก่อนหน้า และอัฟกานิสถานก็รั้งท้ายดัชนี - นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2546 ที่อิรักไม่ใช่ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายมากที่สุด - นอกเหนือจากอัฟกานิสถาน มีอีกสามประเทศที่จำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2561 ได้แก่ ไนจีเรีย มาลี และโมซัมบิก โดยแต่ละประเทศมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเกิน 100 คน - เอเชียใต้ได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายหนักที่สุดนับตั้งแต่ปี 2545 ขณะที่อเมริกากลางและแคริบเบียนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด สตีฟ คิลเลเลีย ประธานบริหารสถาบัน IEP กล่าวว่า "ผลวิจัยของ IEP พบว่า ความขัดแย้งและการก่อการร้ายที่สนับสนุนโดยรัฐเป็นสาเหตุสำคัญของการก่อการร้าย ในปี 2561 การเสียชีวิตจากการก่อการร้ายกว่า 95% เกิดขึ้นในประเทศที่มีความขัดแย้งอยู่แล้ว และเมื่อรวมประเทศที่มีการก่อการร้ายทางการเมืองในระดับสูง ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 99% ทั้งนี้ ใน 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายมากที่สุด* ทุกประเทศมีความขัดแย้งรุนแรงอย่างน้อยหนึ่งครั้งในปีที่แล้ว" สำหรับอเมริกาเหนือ ยุโรปตะวันตก และโอเชียเนีย การก่อการร้ายทางการเมืองโดยกลุ่มขวาจัดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดห้าปี และมี 19 ประเทศที่ได้รับผลกระทบในช่วงเวลาดังกล่าว โดยการโจมตีของกลุ่มขวาจัดในภูมิภาคเหล่านี้พุ่งขึ้นถึง 320% ในช่วงปี 2557-2561 และแนวโน้มดังกล่าวยังดำเนินต่อไปในปี 2562 โดยนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นเดือนกันยายน มีผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายของกลุ่มขวาจัด 77 คน ทั้งนี้ ในปี 2561 ไม่มีผู้ก่อการรายใดออกมาอ้างว่าเป็นสมาชิกของกลุ่มก่อการร้าย จึงทำให้หน่วยงานรักษาความปลอดภัยป้องกันการโจมตีได้ยาก การก่อการร้ายในอัฟกานิสถานที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงความขัดแย้งในซีเรียและอิรักที่บรรเทาเบาบางลง ส่งผลให้กลุ่มตาลีบันขึ้นแท่นกลุ่มก่อการร้ายที่อันตรายที่สุดในโลก แทนที่กลุ่ม ISIL ในปี 2561 โดยจำนวนผู้เสียชีวิตจากฝีมือของกลุ่มตาลีบันเพิ่มขึ้น 71% เป็น 6,103 คน คิดเป็นสัดส่วน 38% ของผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายทั้งหมดทั่วโลก ในทางตรงกันข้าม จำนวนผู้เสียชีวิตจากฝีมือของกลุ่ม ISIL ลดลง 70% จาก 4,350 คนในปี 2560 เป็น 1,328 คนในปี 2561 อย่างไรก็ตาม กลุ่มก่อการร้ายบางกลุ่มในเครือ ISIL มีการก่อการร้ายเพิ่มขึ้น เช่น กลุ่ม IS ในโคราซาน ซึ่งเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่อันตรายที่สุดอันดับ 4 ในโลกในปี 2561 โดยสังหารผู้คนกว่า 1,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอัฟกานิสถาน ทั้งนี้ ในปี 2561 กลุ่มก่อการร้ายที่สังหารผู้คนมากกว่า 100 คน มีจำนวนทั้งสิ้น 13 กลุ่ม ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการก่อการร้ายมากขึ้น แม้ยังมีสัดส่วนน้อยมากก็ตาม แนวโน้มดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นในช่วงห้าปีหลัง โดยการโจมตีของมือระเบิดฆ่าตัวตายหญิงเพิ่มขึ้น 450% ในช่วงปี 2556-2561 ส่วนการโจมตีของมือระเบิดฆ่าตัวตายชายลดลง 47% ในช่วงเวลาเดียวกัน กลุ่มโบโกฮารามโจมตีโดยใช้มือระเบิดฆ่าตัวตายหญิงมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 80% ของการโจมตีโดยใช้มือระเบิดฆ่าตัวตายหญิงทั้งหมดตลอดห้าปี ในยุโรป จำนวนผู้เสียชีวิตจากการก่อการร้ายลดลงเป็นปีที่สองติดต่อกัน จากกว่า 200 คนในปี 2560 เป็น 62 คนในปี 2561 และมีการโจมตีเพียงสองครั้งที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 คนขึ้นไป คุณคิลเลเลียอธิบายว่า "ความพ่ายแพ้ของกลุ่ม ISIL ในซีเรียและอิรัก เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ยุโรปตะวันตกมีการก่อการร้ายเกิดขึ้นน้อยที่สุดนับตั้งแต่ปี 2555 และไม่มีผู้เสียชีวิตด้วยฝีมือของกลุ่ม ISIL เลยแม้แต่คนเดียวในปี 2561 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ยังคงอ่อนไหว โดยหลายพื้นที่ในซีเรียยังคงมีความขัดแย้ง และกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยที่เข้าข้าง ISIL ยังเคลื่อนไหวอยู่ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการโจมตีในยุโรปอีก" การก่อการร้ายที่ลดลงทำให้ผลกระทบของการก่อการร้ายที่มีต่อเศรษฐกิจโลกลดลงตามไปด้วย โดยคิดเป็นมูลค่า 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561 ลดลง 38% จากปีก่อนหน้า ขณะเดียวกัน ต้นทุนที่เกิดจากการก่อการร้ายมีสัดส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับต้นทุนที่เกิดจากความรุนแรงในรูปแบบอื่น ๆ เช่น ฆาตกรรม ความขัดแย้งทางอาวุธ และปฏิบัติการทางทหาร โดยมีต้นทุนราว 14.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561 อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่แท้จริงของการก่อการร้ายที่มีต่อเศรษฐกิจโลกน่าจะสูงกว่านี้มาก เพราะตัวเลขนี้ยังไม่รวมผลกระทบทางอ้อมที่มีต่อธุรกิจ การลงทุน และต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความปลอดภัยและต่อต้านการก่อการร้าย หมายเหตุสำหรับบรรณาธิการ ดูรายงานฉบับเต็มและแผนที่แบบอินเทอร์แอคทีฟได้ที่ www.visionofhumanity.org กรุณาติดตาม @GlobPeaceIndex #TerrorismIndex กรุณากดไลก์ www.facebook.com/globalpeaceindex * 10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการก่อการร้ายมากที่สุด 1) อัฟกานิสถาน 2) อิรัก 3) ไนจีเรีย 4) ซีเรีย 5) ปากีสถาน 6) โซมาเลีย 7) อินเดีย 8) เยเมน 9) ฟิลิปปินส์ 10) สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ดัชนีก่อการร้ายโลก ดัชนีก่อการร้ายโลก (GTI) ซึ่งจัดทำโดยสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (IEP) ให้ข้อมูลที่ครอบคลุมเกี่ยวกับแนวโน้มและรูปแบบของการก่อการร้ายทั่วโลกตลอด 18 ปีที่ผ่านมา รายงานนี้จัดอันดับ 163 ประเทศ (99.7% ของประชากรโลก) ตามผลกระทบที่ได้รับจากการก่อการร้าย โดยพิจารณาจากจำนวนครั้งที่เกิดการก่อการร้าย จำนวนผู้เสียชีวิต จำนวนผู้บาดเจ็บ และความเสียหายของทรัพย์สิน ฐานข้อมูลก่อการร้ายโลก ดัชนีก่อการร้ายโลกใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลก่อการร้ายโลก (GTD) ของกลุ่มความร่วมมือเพื่อศึกษาการก่อการร้ายและตอบสนองต่อการก่อการร้าย (START) ภายใต้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ โดยเป็นแหล่งรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้ก่อการร้ายทั่วโลกที่ครอบคลุมที่สุด สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (IEP) คือหน่วยงานมันสมองชั้นนำระดับโลกที่อุทิศตนให้กับการพัฒนาเครื่องมือวิเคราะห์สันติภาพและคุณค่าที่มีต่อเศรษฐกิจ ด้วยการพัฒนาดัชนีระดับชาติและระดับโลกหลายดัชนี เช่น ดัชนีสันติภาพโลก เพื่อคำนวณผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากความรุนแรง และทำความเข้าใจผลเชิงบวกของสันติภาพ โลโก้ - https://mma.prnewswire.com/media/792052/IEP_Logo.jpg

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ