นักวิทยาศาสตร์จัดอันดับหอคอยเก็บน้ำจากภูเขาที่มีความสำคัญและถูกคุกคามมากที่สุดในโลก

ข่าวทั่วไป Wednesday December 11, 2019 10:11 —ข่าวประชาสัมพันธ์พีอาร์นิวส์ไวร์

วอชิงตัน--11 ธ.ค.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์ งานวิจัยชิ้นใหม่เผยข้อมูลเชิงลึกว่าด้วยระบบทรัพยากรน้ำจากธารน้ำแข็งภูเขา ที่มีบทบาทหรือส่งผลกระทบต่อประชากรถึง 1.9 พันล้านคนทั่วโลก นักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกได้ประเมินระบบน้ำจากธารน้ำแข็งภูเขา (mountain glacier) 78 แห่งทั่วโลก และเป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์ได้จัดอันดับความสำคัญของระบบน้ำเหล่านี้ที่มีต่อชุมชนที่ราบลุ่มซึ่งอยู่ในบริเวณใกล้เคียง รวมทั้งประเมินความเปราะบางจากการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมและสังคมเศรษฐกิจในอนาคตที่จะส่งผลต่อระบบน้ำ ระบบเหล่านี้ หรือที่เรียกว่า หอคอยเก็บน้ำจากภูเขา (mountain water towers) ทำหน้าที่กักเก็บและขนส่งน้ำผ่านธารน้ำแข็ง ทุ่งหิมะ ทะเลสาบ และลำธาร ซึ่งถือเป็นการจัดหาทรัพยากรน้ำที่มีค่าแก่ประชากร 1.9 พันล้านคนทั่วโลก หรือประมาณหนึ่งในสี่ของประชากรโลก งานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิทยาศาสตร์ Nature ที่มีชื่อเสียง โดยแสดงหลักฐานว่า หอคอยเก็บน้ำทั่วโลกกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง และหลายแห่งอยู่ในขั้นวิกฤต เนื่องจากภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น การจัดการทรัพยากรน้ำที่ผิดพลาด และปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์อื่น ๆ นอกจากนี้ ผู้เขียนสรุปว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนานโยบายและยุทธศาสตร์ว่าด้วยการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการอนุรักษ์ภูเขาในระดับนานาชาติ เพื่อปกป้องทั้งระบบนิเวศและประชาชนที่อยู่ปลายน้ำ จากการศึกษาทั่วโลกพบว่า ระบบภูเขาที่คนพึ่งพามากที่สุดคือ หอคอยเก็บน้ำจากแม่น้ำสินธุในเอเชีย ขณะเดียวกัน หอคอยกักเก็บน้ำสินธุ ซึ่งประกอบไปด้วยพื้นที่อันกว้างใหญ่ของเทือกเขาหิมาลัย และครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของอัฟกานิสถาน จีน อินเดีย และปากีสถาน ยังเป็นหนึ่งในระบบภูเขาที่เปราะบางมากที่สุดอีกด้วย ส่วนระบบหอคอยกักเก็บน้ำแห่งอื่น ๆ ที่ติดอันดับสูงรองลงมา ได้แก่ บริเวณเทือกเขาแอนดีสตอนใต้ เทือกเขาร็อคกี้ และเทือกเขาแอลป์ของยุโรป ในการกำหนดความสำคัญของหอคอยกักเก็บน้ำทั้ง 78 แห่งนั้น นักวิจัยได้วิเคราะห์ปัจจัยที่หลากหลายเพื่อทราบว่า ชุมชนปลายน้ำพึ่งพาแหล่งน้ำจากระบบเหล่านี้อย่างไร นอกจากนี้ นักวิจัยยังได้ประเมินความเปราะบางของทรัพยากรน้ำ ตลอดจนผู้คน และระบบนิเวศที่พึ่งพาแหล่งน้ำเหล่านี้ โดยพิจารณาจากการพยากรณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต หอคอยกักเก็บน้ำที่มีประชากรพึ่งพามากที่สุด 5 อันดับ จาก 78 แห่งทั่วโลก โดยแบ่งตามทวีป ได้แก่ - เอเชีย: สินธุ ทาริม อามูดาร์ยา ซีร์ดาร์ยา คงคา-พรหมบุตร - ยุโรป: โรน โป ไรน์ ชายฝั่งทางตอนเหนือของทะเลดำ ชายฝั่งทะเลแคสเปียน - อเมริกาเหนือ: เฟรเซอร์ โคลัมเบียและภูมิภาคตะวันตกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา ชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกและอาร์กติก ซัสแคตเชวัน-เนลสัน โคโลราโด - อเมริกาใต้: ชิลีใต้ อาร์เจนตินาใต้ เนโกร ภูมิภาคลาปูนา ชีลีเหนือ งานวิจัยดังกล่าวเขียนโดยนักวิทยาศาสตร์ 32 คนจากทั่วโลก นำโดย ศ.วอลเตอร์ อิมเมอร์ซีล และ ดร.อาร์เธอร์ ลุตซ์ จากมหาวิทยาลัยอูเทรคต์ สองนักวิจัยผู้ศึกษาด้านน้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบริเวณเทือกเขาสูงของเอเชียมาเป็นเวลายาวนาน ศ. อิมเมอร์ซีล ระบุว่า "สิ่งที่พิเศษเกี่ยวกับงานวิจัยของเราคือ เราได้ประเมินความสำคัญของหอคอยเก็บน้ำ โดยไม่เพียงสังเกตว่าหอคอยเหล่านี้กักเก็บและจัดส่งน้ำอย่างไร แต่ยังรวมถึงปริมาณน้ำจากภูเขาที่ปลายน้ำต้องการ ตลอดจนระบบน้ำและชุมชนเหล่านี้มีความเปราะบางอย่างไรต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า" ขณะที่ดร.ลุตซ์ เสริมว่า "จากการประเมินหอคอยเก็บน้ำจากธารน้ำแข็งทุกแห่งบนโลกใบนี้ เราสามารถบ่งชี้แอ่งน้ำสำคัญที่ควรถูกหยิบยกขึ้นเป็นระเบียบวาระสำคัญทางการเมืองระดับภูมิภาคและระดับโลก" งานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนโดย National Geographic และ Rolex โดยเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างสององค์กรในนามพันธมิตร Perpetual Planet ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อเผยให้เห็นถึงความท้าทายที่ระบบช่วยชีวิต (life-support system) ที่สำคัญยิ่งของโลกกำลังเผชิญ พร้อมทั้งสนับสนุนวิทยาศาสตร์และการสำรวจระบบเหล่านี้ ตลอดจนเสริมสร้างโอกาสให้แก่ผู้นำทั่วโลกในการพัฒนาแนวทางแก้ปัญหาเพื่อปกป้องโลก "ภูเขาถือเป็นสัญลักษณ์และสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ทั่วโลก แต่บทบาทสำคัญยิ่งของภูเขาที่มีต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์บนโลกกลับยังไม่มีการทำความเข้าใจอย่างดีพอ" โจนาธาน เบลลี รองประธานบริหารและหัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ National Geographic Society กล่าว "งานวิจัยชิ้นนี้จะช่วยให้ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจ ทั้งระดับโลกและระดับท้องถิ่น จัดลำดับความสำคัญของการดำเนินการเพื่อปกป้องระบบภูเขา ทรัพยากรที่ได้จากภูเขา และผู้คนที่ต้องพึ่งพาอาศัยทรัพยากรที่มีความสำคัญยิ่งเหล่านี้" รับชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ natgeo.com/PerpetualPlanet Photo - https://mma.prnewswire.com/media/1041075/National_Geographic_Society_Khumbu_Glacier.jpg Logo - https://mma.prnewswire.com/media/1041076/National_Geographic_Society_Rolex_Logo.jpg

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ