ผลสำรวจระดับโลกที่นำเสนอในการประชุม Digital Liver Cancer Summit 2021 สะท้อนผลกระทบอันหนักหน่วงของโควิด-19 ระลอกแรกที่มีต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ

ข่าวทั่วไป Friday February 5, 2021 08:55 —ข่าวประชาสัมพันธ์พีอาร์นิวส์ไวร์

Digital Liver Cancer Summit 2021: ผลสำรวจระดับโลกเพื่อประเมินผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ เผยให้เห็นว่าโควิด-19 ทำให้การคัดกรอง การวินิจฉัย และการรักษาโรคมะเร็งตับล่าช้าออกไป ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญได้ออกมาเตือนเกี่ยวกับอัตราการรอดชีวิตจากโรคมะเร็งตับที่น่าเป็นห่วง

ผลสำรวจเผยให้เห็นว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการรักษาโรคมะเร็งตับ โดยก่อให้เกิดปัญหามากมาย เช่น การคัดกรอง การวินิจฉัยด้วยภาพ และการตรวจชิ้นเนื้อต้องล่าช้าออกไป, จำนวนแพทย์ที่รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งตับน้อยลง, การผ่าตัดถูกยกเลิก และจำนวนผู้ป่วยที่เข้าร่วมการทดลองทางคลินิกลดลง

การสำรวจ Liver Cancer Outcomes in Covid-19 (CERO-19) Survey จัดทำโดยกลุ่ม Barcelona Clinic Liver Cancer จาก Hospital Clinic of Barcelona, CIBEREH และ Ospedale Maggiore Policlinico of Milan ในศูนย์รักษาโรคมะเร็ง 76 แห่งที่กระจายอยู่ในยุโรป อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ แอฟริกา และเอเชีย ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดระลอกแรก ซึ่งผลปรากฏว่า 87% ของศูนย์ทั้งหมดมีการปรับเปลี่ยนแนวทางเวชปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ  

ทั่วโลกมีผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งตับราว 800,000 คนในแต่ละปี และเสียชีวิตราว 700,000 คน

ผลการสำรวจดังกล่าวได้รับการนำเสนอในวันนี้ที่การประชุม Digital Liver Cancer Summit 2021 ของสมาคม European Association for the Study of the Liver (EASL) โดยเผยให้เห็นอุปสรรคของการวินิจฉัยและรักษาโรคมะเร็งตับ จากการสำรวจพบว่า 40.8% ของศูนย์รักษาโรคมะเร็งได้เปลี่ยนแปลงขั้นตอนการวินิจฉัยโรค, 80.9% เปลี่ยนแปลงวิธีการคัดกรอง และ 39.5% เปลี่ยนแปลงการวินิจฉัยด้วยภาพ  

Dr. Sergio Munoz-Martinez ผู้นำการศึกษาครั้งนี้ อธิบายว่า "ผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของโควิด-19 ที่มีต่อการคัดกรอง การวินิจฉัย และการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งตับทั่วโลกในช่วงโควิดระบาดระลอกแรก การเปลี่ยนแปลงวิธีบริหารจัดการโรคมะเร็งตับอาจทำให้มีผู้ป่วยมากขึ้นที่ได้รับการวินิจฉัยเมื่อเป็นมะเร็งระยะสุดท้ายแล้ว"

ผลการศึกษาหลายครั้งก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่า ผลการรักษาแย่ลงเมื่อรอหรือชะลอการรักษาโรคมะเร็งเพียง 2 เดือน

พยาบาลดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งตับมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยทางโทรศัพท์ รวมถึงให้บริการผ่านระบบดิจิทัล "วิกฤตโควิด-19 ก่อให้เกิดการลงทุนมากขึ้นเพื่อสนับสนุนพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ รวมถึงให้ความรู้และคำปรึกษาแก่ผู้ป่วยและครอบครัว" Dr. Munoz-Martinez กล่าว

"การวิเคราะห์เพิ่มเติมในอนาคตจะทำให้เราได้รับข้อมูลที่มีค่าเกี่ยวกับประสิทธิภาพทางคลินิกของกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่มีการนำมาใช้ในระหว่างที่เกิดวิกฤตสุขภาพที่สร้างความเสียหายอย่างหนักในครั้งนี้"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ