ผลวิจัยใหม่ชี้ ทารกที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อย มีโอกาสเป็นโรคไขมันพอกตับมากกว่ากลุ่มอื่นถึง 4 เท่า

ข่าวทั่วไป Monday October 16, 2023 08:23 —ข่าวประชาสัมพันธ์พีอาร์นิวส์ไวร์

ผลการวิจัยใหม่ที่นำเสนอวันนี้ที่งานยูอีจี วีค (UEG Week) ประจำปี 2566 พบความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญระหว่างน้ำหนักแรกเกิดกับการเกิดโรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ ไขมันพอกตับที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของเมตาบอลิซึม (MASLD) ในกลุ่มคนหนุ่มสาว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทารกที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อย มีโอกาสเป็นโรค MASLD ในวัยเด็ก วัยรุ่น หรือวัยผู้ใหญ่มากกว่าปกติถึง 4 เท่า

นักวิจัยได้ทำการศึกษาแบบมีกลุ่มควบคุมกับประชากรที่มีอายุ 25 ปีหรือน้อยกว่า ซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรค MASLD ระหว่างเดือนมกราคม 2535 ถึงเดือนเมษายน 2560 รวมทั้งสิ้น 165 ราย ผู้ที่มีโรค MASLD แต่ละรายจะถูกจับคู่กับกลุ่มควบคุมสูงสุด 5 รายจากประชากรทั่วไปที่มีความคล้ายคลึงกันในแง่ของอายุ เพศ ปีปฏิทิน และเขตที่อยู่อาศัย

ผู้ที่เกิดมาพร้อมกับน้ำหนักแรกเกิดน้อย (น้อยกว่า 2,500 กรัม หรือ 5 ปอนด์ 8 ออนซ์) มีโอกาสที่จะเกิดโรค MASLD มากกว่าผู้ที่เกิดมาพร้อมกับน้ำหนักแรกเกิดปกติถึง 4 เท่า ผู้ที่เกิดมามีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์อายุครรภ์ (SGA) ซึ่งต่ำกว่าเปอร์เซ็นไทล์ที่ 10 ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดโรค MASLD ตั้งแต่เนิ่น ๆ มากกว่าถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่มีน้ำหนักแรกเกิดปกติ (เปอร์เซ็นไทล์ที่ 10-90)

นอกจากนี้ นักวิจัยพบว่า ผู้ที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อยหรือมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์อายุครรภ์ มีความเสี่ยงสูงกว่าถึง ~6 เท่าที่จะเกิดโรค MASLD ระยะรุนแรง ในรูปแบบของภาวะพังผืดของตับและภาวะตับแข็ง

ดร.ฟาฮีม เอบราฮิมี (Fahim Ebrahimi) ผู้นิพนธ์หลัก แสดงความเห็นว่า "แม้งานวิจัยก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างน้ำหนักแรกเกิดกับโรคที่สำคัญ แต่ความเชื่อมโยงกับ MASLD นั้นยังไม่ชัดเจน งานวิจัยของเรานำเสนอหลักฐานที่น่าสนใจว่าปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการของทารกในครรภ์ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการเกิดโรค MASLD และโรคตับที่ลุกลาม"

เมื่ออัตราโรคอ้วนเพิ่มสูงขึ้น โรค MASLD กลายเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของโรคตับเรื้อรังทั่วโลก โดยในยุโรปเพียงแห่งเดียวก็คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผู้ใหญ่มากกว่า 25% แล้ว และความชุกของโรคนี้ก็เพิ่มมากขึ้น

ดร.เอบราฮิมิ เสริมว่า "เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่งที่ผู้มีน้ำหนักแรกเกิดน้อยอาจมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคนี้มากขึ้นตั้งแต่อายุยังน้อย เนื่องจากโรค MASLD ที่เริ่มมีอาการตั้งแต่เนิ่น ๆ มักดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการเกิดภาวะตับแข็งและโรคตับระยะสุดท้าย สิ่งสำคัญคือ เราจะต้องพัฒนากลยุทธ์เชิงรุกที่มีประสิทธิภาพเพื่อระบุผู้ที่มีความเสี่ยงและช่วยลดภาระของโรคนี้"

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอสัมภาษณ์ กรุณาติดต่อ media@ueg.eu 


แท็ก ทารก  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ