ไทย-ลาว ร่วมประชุมโครงการสองฝั่งโขง

ข่าวทั่วไป Monday November 22, 2010 15:46 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการตามนโยบาย โครงการ 3 วงแหวน 5 ประตู โดยโครงการแรก คือ โครงการลิมอร์ ดาซาร์ เป็นโครงการที่เปิดประตูด้านใต้ เพื่อเชื่อมกับมาเลเซีย ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก โครงการที่ดำเนินการต่อมา คือ การจัดทำ Joint Summit Business Forum ร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านอื่น เช่น ลาว กัมพูชา พม่า เวียดนาม โดยนายอลงกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จัดทำโครงการดังกล่าว ให้เป็นยุทธศาสตร์ของกรมฯ โดยให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ เพื่อเริ่มดำเนินการเจรจาเรื่องนี้ในปี 2554 โดยจะแบ่งความร่วมมือกันออกเป็น 2 ประเด็น สำคัญ คือรูปแบบคณะกรรมการร่วมไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน และการพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนร่วมกัน โดยประเทศแรกที่เริ่มมีการจัดทำความร่วมมือกัน คือ ประเทศลาว โครงการสองฝั่งโขง เพื่อเปิดประตูอีสาน ที่เชื่อมระหว่างไทยกับลาว

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า โครงการสองฝั่งโขง จะดำเนินการระหว่างวันที่ 26 - 30 มกราคม 2554 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งประกอบด้วย 3 กิจกรรม คือ กิจกรรมที่ 1 : เป็นการประชุมเพื่อสนับสนุนให้มีการทำธุรกิจร่วมกันและแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้าระหว่างไทยกับลาว โดยจะมีการหารือในความร่วมมือ 5 สาขา คือ 1) ความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน 2) ความร่วมมือด้านการเกษตร-อุตสาหกรรม 3) ความร่วมมือด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ 4) ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว และ 5) ความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สำหรับการประชุม จะมีการประชุมภาครัฐ ระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัด 23 จังหวัด (ภาคอีสาน 19 จังหวัด + ภาคเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา น่าน และอุตรดิตถ์) กับเจ้าแขวง 16 แขวง + เจ้าครองนครหลวงเวียงจันทน์ และการประชุม Business Forum ไทย-ลาว ซึ่งประกอบด้วยผู้แทน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าจังหวัด 19+4 จังหวัดของไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมจังหวัด 19+4 จังหวัดของไทย สภาธุรกิจไทย-ลาว และสภาอุตสาหกรรมและการค้า สปป.ลาว สภาอุตสาหกรรมและการค้าแขวง 16 แขวง + นครหลวงเวียงจันทน์ ของ สปป.ลาว สำหรับ กิจกรรมที่ 2 : เป็นการจับคู่ทางธุรกิจ(Business Matching) และกิจกรรมที่ 3 : การจัดงานแสดงสินค้า(Exhibition)ไทย-ลาว “สปป.ลาว จะเริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 7 ระหว่างปี 2554-2558 ซึ่งจะเน้นนโยบายและกลไกที่จะกระตุ้นการดำเนินการด้านการปฏิรูปการศึกษา การพัฒนาชนบทอย่างต่อเนื่อง และการแก้ไขปัญหาความยากจน รักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม นอกจากนี้ จะมีการปรับปรุงแก้ไข กฎระเบียบ และกลไกบริหารจัดการภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประสานงานระหว่างหน่วยงานทุกระดับ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน เคร่งครัดการจัดการด้านราคาสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งดำเนินนโยบายต่างประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะความร่วมมือกับประเทศต่างๆ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับประชาคมระหว่างประเทศ ดังนั้น แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับใหม่ของลาว จะเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันการค้าระหว่างไทยกับลาว ให้มีการขยายตัวมากขึ้นตามลำดับ”นายอลงกรณ์ กล่าว ไทยเป็นคู่ค้าลำดับที่ 1 ของ สปป.ลาว การค้ารวมสองฝ่ายในช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.) ของปี 53 มีมูลค่า 1,868.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากระยะเวลาเดียวกันของปี 52 ร้อยละ 40.1 จำแนกเป็นมูลค่าการส่งออก 1,401.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มูลค่าการนำเข้า 466.5 ล้านเหรียญ สินค้าส่งออกไป สปป.ลาว ที่สำคัญ ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง รถยนต์ เครื่องจักรอื่นๆ สินค้านำเข้าจาก สปป.ลาว ที่สำคัญ ได้แก่ ทองแดง เชื้อเพลิง ไม้แปรรูป ข้าวโพด มูลค่าการลงทุนของไทยใน สปป.ลาว เพิ่มขึ้นจาก 655.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2549 เป็น 908.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2552 ทั้งนี้ ในปี 2548-2549 นักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนใน สปป.ลาวมีมูลค่าสูงเป็นอันดับ 1 แต่ในปี 2552 ได้กลายมาเป็นอันดับที่ 3 โดยเวียดนามเป็นอันดับ 1 (1,421.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และจีนเป็นอันดับ 2 (932.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) การลงทุนของไทยส่วนใหญ่อยู่ในสาขาไฟฟ้า พลังงาน เหมืองแร่ โทรคมนาคม และการเกษตร

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ