การรวมกลุ่มของประเทศในลาตินอเมริกา (Regional Integration in Latin America)

ข่าวทั่วไป Tuesday October 4, 2011 13:33 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศในกลุ่มลาตินอเมริกามีความพยายามในการเจรจาเพื่อรวมกลุ่มในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม การดำเนินการเพื่อให้เกิดความคืบหน้ายังมีน้อยมาก โดยในช่วงปี 1990 อเมริกาใต้มีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่สำคัญ คือตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง หรือ MERCOSUR(1) และ Andean Community(2) ซึ่งกลุ่มเศรษฐกิจทั้งสองมีเป้าหมายที่จะให้มีการเปิดเสรีทางการค้าและขยายตลาด การค้า แต่เมื่อรัฐบาลฝ่ายซ้ายได้เข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้อย่างมาก ทำให้การรวมกลุ่มของลาตินอเมริกามีทิศทางที่แตกต่างไปจากเดิม ตัวอย่างที่สำคัญ เช่น บราซิลยุติการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีแห่งอเมริกา(Free-Trade Area of the Americas: FTAA) และหันไปสนับสนุนการรวมตัวของสหภาพกลุ่มประเทศอเมริกาใต้ (Union of South American Nations: UNASUR)(3) ในฐานะที่เป็นเวทีความร่วมมือทางด้าน การเมือง ในขณะที่เวเนซุเอลาก็สนับสนุนการจัดตั้งองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศที่เรียกว่า ALBA(4) ร่วมกับคิวบา และประเทศสมาชิกอื่นๆ

ความพยายามในการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของลาตินอเมริกาในปัจจุบันนับเป็นการเปลี่ยนแปลงทรรศนะคติของลาตินอเมริกาจากช่วงปี 1990 เริ่มต้นจากแนวคิดของประธานาธิบดีคนก่อนของเปรู (นาย Alan Garcia Perez) ซึ่งมีพื้นฐานแนวคิดมาจากความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นของประเทศที่มีเศรษฐกิจแบบตลาด มีการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งมีการค้ากับประเทศในภูมิภาคเอเชียเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และด้วยการริเริ่มของชิลี ทั้งชิลี เปรู โคลอมเบีย รวมทั้งเม็กซิโกจึงได้จัดการประชุมเพื่อวางแผนในการรวมตัวที่ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นในภูมิภาค ทั้งนี้ ปัจจุบัน ประเทศเหล่านี้มี FTA ระหว่างกันแล้ว(ยกเว้นเม็กซิโกและเปรูที่อยู่ระหว่างการเจรจา) สำหรับในระดับภูมิภาค ชิลี เปรู และเม็กซิโกเป็นสมาชิก เอเปค ซึ่งโคลอมเบียต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิก ในด้านการค้ากับภูมิภาคเอเชีย ชิลีและเปรูมี FTA กับจีน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยหวังว่าจะมีความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงสินค้าของทั้ง 3 ประเทศเพื่อสนองความต้องการในการนำเข้าสินค้าของจีน โดยโคลอมเบียได้เปิดสำนักงานร่วมทางการค้ากับชิลีในภูมิภาคเอเชีย และกำลังจะทำเช่นเดียวกันนี้กับเปรู ทั้งนี้ ประธานาธิบดี Humala ของเปรูกล่าวว่า จะสนับสนุนการรวมตัวกับประเทศอื่นๆ โดยไม่เลือกให้ความสำคัญกับประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าประธานาธิบดีคนปัจจุบันของเปรูมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคแรงงานของบราซิล (Brazil’s ruling workers’ Party)

ในส่วนของภาคเอกชนของทั้งสามประเทศก็มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยมีการเข้าไปประกอบธุรกิจซึ่งกันและกัน เช่น สายการบินแห่งชาติของชิลี (LAN Chile) มีศูนย์กลางในอเมริกาใต้อยู่ที่กรุงลิมาของเปรู บริษัท Brescia ของเปรูเป็นเจ้าของบริษัทปูนซีเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดในชิลี และบริษัท ISA ของโคลอมเบีย เข้าไปจัดการระบบไฟฟ้าในเปรู เป็นต้น นอกจากนี้ ประธานาธิบดีซานโตสของโคลอมเบียยังหาแนวทางที่จะเชื่อมต่อระบบส่งจ่ายไฟฟ้าจากเม็กซิโกไปยังชิลี และมีแผนที่จะสร้างการเชื่อมต่อระบบการจ่ายไฟฟ้าในส่วนที่ยังขาดอยู่ระหว่าง 4 ประเทศ คือ เปรู ชิลี โคลอมเบีย และปานามา อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนบางกลุ่มยังมีข้อสงสัยในการรวมตัวกันเป็นตลาดร่วม เช่น นักธุรกิจเปรูเห็นว่า ปัจจุบัน ธนาคารต่างประเทศสามารถเข้ามาจัดตั้งกิจการในเปรูได้แล้วอย่างเสรี และเห็นว่า แม้ว่าอุปสรรคทางการค้ากับชิลีและโคลอมเบียจะหมดไปจากการเป็นตลาดร่วม แต่เปรูก็ยังต้องการการลงทุนจากต่างชาติอีกมากในการแข่งขันกับอีก 2 ประเทศ นอกจากนี้ ยังมองว่า การรวมกลุ่มอาจเป็นการเพิ่มอำนาจในการเจรจาเพื่อจะรวมตัวกับบราซิลให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม มีอุปสรรคบางประการในการจัดตั้งตลาดร่วมระหว่าง ชิลี เปรู และโคลอมเบียที่สำคัญ ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างชิลีกับเปรูซึ่งเป็นผลมาจากสงครามแปซิฟิกที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2422-2426 (ค.ศ. 1879-1883) ความขัดแย้งเรื่องอาณาเขตทางทะเลซึ่งเปรูอยู่ระหว่างการฟ้องร้องต่อศาลระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบให้นักการเมืองชาวเปรูบางคนคัดค้านการขายก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้าให้กับชิลี และอุปสรรคด้านลักษณะทางภูมิศาสตร์ เช่น กรุงโบโกตา เมืองหลวงของโคลอมเบีย อยู่ห่างจากกรุงซานติอาโกของชิลีกว่า 4 พันกิโลเมตร และเอกวาดอร์มีที่ตั้งอยู่ระหว่างโคลอมเบียกับเปรูเป็นแนวเส้นตรง เป็นต้น

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 ที่ผ่านมา ชิลี เปรู และโคลอมเบีย ได้ร่วมกันจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ที่เรียกว่า the Integrated Latin American Market (MILA) ซึ่งจะทำให้ประเทศสมาชิกสามารถซื้อและขายหุ้นของบริษัทของอีกสองประเทศได้ โดยดำเนินการผ่านตลาดกลางที่มีเงินทุนมากกว่า 6 แสนล้านเหรียญ และ MILA จะกลายเป็นตลาดหุ้นที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในลาตินอเมริกา รองจากตลาดหลักทรัพย์ BM&F Bovesa ของบราซิล การก่อตั้ง MILA เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงความใกล้ชิดมากขึ้นของ 3 ประเทศเศรษฐกิจขนาดกลางของภูมิภาคอเมริกาใต้ ซึ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยเปรูมีการเติบโตของ GDP เฉลี่ยต่อปีสูงสุดที่ร้อยละ 7.2 ตามด้วยโคลอมเบีย (ร้อยละ 4.6) และชิลี (ร้อยละ 3.3) นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งสัญญาณที่จะนำไปสู่ความต้องการการเป็นตลาดร่วม (common market) ของภูมิภาคลาตินอเมริกา อีกด้วย

การรวมกลุ่มของ MILA แสดงให้เห็นว่าประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกาต้องการแสวงหาทางเลือกอื่นๆ นอกเหนือจากการพึ่งพาประเทศใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา โดยโคลอมเบียเชื่อว่าการรวมกลุ่มดังกล่าวจะทำให้สหรัฐฯ ตื่นตัวมากขึ้นและเร่งนำความตกลง FTA สหรัฐฯ-โคลอมเบีย เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเพื่อให้มีการให้สัตยาบันโดยเร็ว นอกจากนี้ เป็นไปได้ว่าการรวมกลุ่มของ 3 ประเทศ อาจทำให้เกิดขั้วทางเลือกโดยสามารถดึงดูดความสนใจของบราซิล แม้ว่าประเทศเหล่านี้ยังคงเชื่อว่า บราซิลให้ความสนใจที่จะมีบทบาทในเวทีระดับโลกมากกว่าการรวมตัวในระดับภูมิภาค นอกจากนี้ ยังหวังว่า MILA จะสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติและเป็นการสร้างทางเลือกให้กับนักลงทุนที่ต้องการเข้ามาลงทุนในลาตินอเมริกานอกเหนือจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ใหญ่ของบราซิลเพียงแห่งเดียว อย่างไรก็ตาม การรวมตัวของ MILA ในระยะสั้นอาจส่งผลกระทบต่อการวางนโยบายทางการเงินเพื่อป้องกันการแข็งค่าของค่าเงินในประเทศซึ่งประเทศสมาชิกจะต้องเตรียมตัวเพื่อรับมือกับเรื่องดังกล่าว

ปัจจุบัน ประเทศเศรษฐกิจขนาดกลางในภูมิภาคลาตินอเมริกามีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องประเทศเหล่านี้สนใจที่จะรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระหว่างกันเพื่อขยายการค้าและการลงทุน รวมทั้งสนใจที่จะขยายตลาดออกไปยังประเทศนอกกลุ่มมากกว่าเดิมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยให้ความสำคัญกับภูมิภาคเอเชียมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีประเทศคู่ค้าสำคัญคือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ประเทศเหล่านี้มีความพยายามในการจัดทำ FTA ระหว่างกัน โดยชิลีได้จัดทำ FTA กับ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน แล้วและเปรูได้จัดทำ FTA กับจีนและเกาหลีใต้ สำหรับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งสองฝ่ายยังมีการค้าระหว่างกันไม่มากนัก แต่ก็ได้เริ่มต้นจัดทำ FTA เพื่อช่วยส่งเสริมการขยายการค้าระหว่างกันแล้ว เช่น ชิลีได้ทำ FTA กับมาเลเซีย และเวียดนาม รวมทั้งไทย ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของชิลีในอาเซียน และอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำ FTA กับประเทศอื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย และฮ่องกง และเปรูได้จัดทำ FTA กับสิงคโปร์ และอยู่ระหว่างการเจรจากับไทย เป็นต้น คาดว่า FTA จะเป็นกลไกในการช่วยส่งเสริมโอกาสในการขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน รวมทั้งช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในด้านต่างๆ ระหว่างสองภูมิภาค

          หมายเหตุ
          แหล่งที่มา: http:// www.economist.com
          (1) MERCOSUR ประกอบด้วยสมาชิก 4 ประเทศ คือ อาร์เจนตินา บราซิล ปารากวัย และอุรุกวัย
          (2) Andean Community ประกอบด้วยสมาชิก 5 ประเทศ คือ โบลิเวีย โคลอมเบีย เอกวาดอร์ เปรู และเวเนซุเอลา
          (3) Union of South American Nations (UNASUR) ก่อตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 พัฒนามาจากประชาคมแห่งรัฐอเมริกาใต้ (Southern American Community of Nations: SCAN) UNASUR ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 12 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล โบลิเวีย ชิลี โคลอมเบีย เอกวาดอร์ ปารากวัย เปรู ซูรินาเม อุรุกวัย เวเนซุเอลา และกายอานา
          (4) the Agreement for The Application of the Bolivarian Alternative for the Americas เป็นการ
รวมตัวของกลุ่มประเทศในแถบลาตินอเมริกาและแคริบเบียนที่เพื่อต่อต้านการรวมกลุ่มที่มีสหรัฐฯ เป็นประเทศสมาชิก โดยมีความร่วมมือด้านต่างๆ ทั้งการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ปัจจุบันมีประเทศสมาชิก 8 ประเทศ ประกอบด้วย แอนติกาและบาร์บูดา โบลิเวีย คิวบา เอกวาดอร์ นิการากัว เครือรัฐโดมินิกาเซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ และเวเนซุเอลา

          กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ