ความตกลงการค้าเสรีไทย - ออสเตรเลีย(Thailand-Australia Free Trade Agreement: TAFTA)

ข่าวทั่วไป Wednesday October 24, 2012 15:36 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ความเป็นมา/การดำเนินการ ความเป็นมา

  • เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๔๕ นายกรัฐมนตรีไทยและนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ได้ประกาศให้เริ่มการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงการค้าเสรีระหว่างไทย-ออสเตรเลีย (Thailand-Australia Free Trade Agreement: TAFTA)
กรอบการเจรจา
  • ครอบคลุมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจทุกด้าน (Comprehensive) การเจรจาแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ

-การเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า บริการและการลงทุน

-ความร่วมมือทางเศรษฐกิจสาขาต่างๆ

สรุปผลความตกลงฯ
  • ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามความตกลง TAFTA เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ณ กรุงแคนเบอร์ร่าประเทศออสเตรเลีย และความตกลง ได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๘ โดยมี
สาระสำคัญ ดังนี้

(๑) การเปิดเสรีการค้าสินค้า ออสเตรเลียลดภาษีเหลือ ๐% ในวันที่ความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ประมาณ ๘๓% ของรายการสินค้า ส่วนที่เหลือทยอยลดภาษีเหลือ ๐% ภายในปี ๒๕๕๓ และ ๒๕๕๘ส่วนไทยลดภาษีเหลือ ๐% ในวันที่ความตกลงฯ มีผลบังคับใช้ประมาณ ๔๙% ของรายการสินค้า ส่วนที่เหลือทยอยลดภาษีเหลือ ๐% ภายในปี ๒๕๕๓ สำหรับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมบางรายการที่มีความอ่อนไหว เช่น สิ่งทอและเสื้อผ้า (ออสเตรเลีย) และเนื้อวัว เนื้อหมู นม เนย ชา และกาแฟ(ไทย) ภาษีจะเหลือ ๐% ภายใน ๑๐ ๑๕ และ ๒๐ ปี โดยมีมาตรการปกป้องพิเศษ (Special Safeguards) สำหรับสินค้าบางรายการ

(๒) การค้าบริการและการลงทุน ออสเตรเลียให้ไทยเข้าไปลงทุนในธุรกิจทุกประเภทได้ ๑๐๐%ยกเว้น หนังสือพิมพ์ การกระจายเสียง การขนส่งทางอากาศ และท่าอากาศยาน แต่หากเป็นการลงทุนเกิน ๑๐ ล้านเหรียญออสเตรเลียต้องขออนุญาตก่อน และได้ผ่อนคลายเงื่อนไขการให้บุคลากรไทยเข้าไปให้บริการ ส่วนไทยเปิดให้ออสเตรเลียถือหุ้นข้างมากได้ถึง ๖๐% สำหรับกิจกรรมย่อยๆ บางประเภท เช่น ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ หอประชุม มารีน่า และเหมืองแร่ เป็นต้น

(๓) กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า ใช้หลัก i) สินค้าที่ผลิตโดยใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งหมด(Wholly obtained) ii) การแปรสภาพอย่างเพียงพอ (Substantial Transformation) หรือ iii)กำหนดมูลค่าของวัตถุดิบ (Regional Value Content: RVC)

(๔) ความร่วมมือด้านต่างๆ เช่น ด้านมาตรการสุขอนามัย โดยจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาโดยกำหนดแผนงานและกรอบระยะเวลาที่แน่นอน ด้านพิธีการศุลกากร พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ทรัพย์สินทางปัญญา และนโยบายการแข่งขัน เป็นต้น

พันธกรณีที่จะต้องเจรจาต่อ

  • ความตกลง TAFTA กำหนดว่าภายใน ๓ ปี หลังจากความตกลงมีผลบังคับใช้ จะต้องมีการเจรจาเพิ่มเติม/ทบทวนในประเด็นดังต่อไปนี้ ๑) การค้าบริการ ๒) นโยบายการแข่งขัน และ 3) การทบทวนมาตรการปกป้องพิเศษ นอกจากนี้ ความตกลงฯ ยังกำหนดให้มีการเจรจาเพิ่มเติมด้านการจัดซื้อโดยรัฐด้วย
  • การดำเนินการ : เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๓ ไทยมีการจัดตั้งคณะเจรจาภายใต้กรอบ TAFTA โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นหัวหน้าคณะ และเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๓ รัฐสภามีมติให้ความเห็นชอบกรอบการเจรจาเพิ่มเติม TAFTA

การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA JC)

  • ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒548 ณ ประเทศไทย
  • ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2554 ณ ประเทศออสเตรเลีย
  • ครั้งทึ่ ๓ เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๕ ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทย โดยที่ประชุมได้มีการหารือกันในประเด็นสำคัญต่างๆ อาทิ

(1) การปรับโครงสร้างกลไกการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการร่วมฯ: ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้จัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการขึ้น 3 คณะ เรื่องการเข้าสู่ตลาด มาตรฐานสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช และกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า เพื่อหารือประเด็นที่จะนำมาพิจารณาทบทวนเป็นอันดับแรก

(2) ปัญหาการดำเนินงานภายใต้ความตกลง TAFTA: ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและหารือปัญหาต่าง ๆ ในการดำเนินการตามพันธกรณีความตกลง เช่น มาตรการ SSG การบริหารสินค้า TRQการออกใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า และมาตรการสุขอนามัยพืชและสัตว์ เป็นต้น

(3) การเจรจาต่อตามพันธกรณี: จะมีการดำเนินการทบทวนการปฏิบัติตามพันธกรณีความตกลงฯในระดับรัฐมนตรี เพื่อทบทวนภาพรวมความตกลง TAFTA สถานะล่าสุด

  • ไทยและออสเตรเลียอยู่ระหว่างจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการทั้ง ๓ คณะ เพื่อหารือประเด็นที่จะนำมาพิจารณาทบทวนภาพรวมความตกลง TAFTA

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000 โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ