"ธุรกิจการรับฝากเก็บสินค้าไทย (Storage and Warehousing services) พร้อมหรือไม่กับการเข้าสู่ AEC”

ข่าวทั่วไป Friday October 4, 2013 15:13 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

ในปัจจุบันที่การแข่งขันทางธุรกิจได้มีความตื่นตัวมากขึ้นซึ่งเป็นผลกระทบโดยตรงจากการกระตุ้นของการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะเปิดโอกาสให้นักลงทุนทั้งในและต่างชาติสามารถแสวงหาโอกาสทางธุรกิจได้กว้างขวางขึ้นภายใต้การรวมตัวในภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ตาม เราอาจจะมองได้ว่าการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้นเป็นโอกาสที่ดีแต่ในอีกมุมมองหนึ่งก็อาจจะป็นภัยคุกคามต่อนักลงทุนได้เช่นกัน หากไม่มีความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ตลาดที่เปิดเสรีมากยิ่งขึ้น

ธุรกิจหนึ่งที่น่าจับตามองก็คือธุรกิจบริการคลังสินค้า เนื่องจากธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่มีความสำคัญต่อระบบโลจิสติกส์โดยภาพรวมเป็นอย่างมาก เนื่องจากคลังสินค้าเป็นเครื่องมือสำคัญในการประกอบธุรกิจต่างๆทั้งเป็นการจัดเก็บสินค้า การกระจายสินค้า การพักสินค้าเพื่อกระจายต่อ และภายใต้การค้ายุคใหม่นี้ การบริหารจัดการ Supply chain ที่มีประสิทธิภาพจะเป็นกลไกที่นำมาซึ่งความสำเร็จในการทำธุรกิจทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยซึ่งมีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ นักลงทุนไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาตนเองเพื่อให้สามารถแข่งขันกับนักลงทุนต่างชาติและผู้ประกอบการรายอื่นๆในภูมิภาค

ปัจจุบัน กิจการรับฝากเก็บสินค้าของประเทศไทยนั้น มีจำนวนผู้ประกอบการของไทยมีทั้งหมด 231 ราย แบ่งเป็นคลังสินค้า 56 ราย ไซโล 25 รายและห้องเย็น 150 รายโดยทั้งหมดมีความจุรวม 6.78 ล้านตันแต่มีอัตราขยายตัวของผู้ประกอบการไม่สูงนักเพียงร้อยละ 1.75 โดยธุรกิจบริการคลังสินค้า ไซโล และห้องเย็นของประเทศไทยนั้นส่วนใหญ่เป็นลักษณะ SMEs และเป็นธุรกิจครอบครัว ซึ่งยังมีความสามารถในการแข่งขันไม่สูงนักเนื่องจากยังไม่มีระบบการจัดการที่ดีซึ่งกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ได้สนับสนุนให้มีการพัฒนาให้ได้ตามมาตรฐานสากล ทั้งมาตรฐาน ISO และเกณฑ์คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับการเปิดเสรีตามประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัวรองรับการแข่งขัน และใช้โอกาสนี้หาผู้ร่วมลงทุนจากต่างประเทศ อย่างไรก็ตามโอกาสในการลงทุนในตลาดอาเซียนนั้นมีอยู่มาก แต่ผู้ประกอบการไทยมีความจำเป็นที่จะต้องสร้างมาตรฐานของตนเอง ประกอบกับการหาพันธมิตรในการลงทุนในต่างประเทศเพื่อให้สามารถเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาดอาเซียนให้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องการสร้างมาตรฐานให้ได้ระดับสากลเพื่อให้ได้รับการยอมรับและสร้างความเป็นที่รู้จักแก่ผู้ใช้บริการทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียนนั้น แต่ละประเทศได้มีการกำหนดข้อผูกพันในการเข้าสู่ตลาดในอัตราที่ต่างกันไป สำหรับในธุรกิจคลังสินค้านี้ ประเทศไทยได้ผูกพันภายใต้ตารางข้อผูกพันการค้าบริการของไทยชุดที่ 8 ให้ต่างชาติสามารถเข้ามาจัดตั้งธุรกิจได้ในรูปแบบบ ริษัทจำกัดโดยถือครองสัดส่วนหุ้นได้ไม่เกินร้อยละ 49 และจำนวนผู้ถือหุ้นต่างชาติต้องไม่เกินกึ่งหนึ่ง สำหรับในประเทศอื่นๆที่น่าสนใจเช่น บรูไน และเวียดนามที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติสามารถถือครองหุ้นได้ถึงร้อยละ 51 นับว่าเป็นโอกาสที่ดีที่นักลงทุนไทยจะสามารถขยายกิจการข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านได้ อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการต้องศึกษากฏระเบียบข้อบังคับต่างๆของประเทศนั้นๆและควรเข้าไปศึกษาตลาดให้เข้าใจก่อนที่จะตัดสินใจเข้าไปลงทุนเพื่อลดอุปสรรคที่จะส่งผลต่อการลงทุนของผู้ประกอบการ

จะเห็นได้ว่าโอกาสที่เกิดขึ้นจากการเปิดเสรีภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้นมีอยู่มาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้ประกอบการควรเร่งเตรียมความพร้อมก่อนที่จะมีการเปิดตลาดมากขึ้นในปี 2558 โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่เป็น SMEs ควรสร้างความแข็งแกร่งโดยการปรับมาตรฐานทั้งในด้านการบริหารจัดการ บุคคลากรทั้งในด้านภาษาและวัฒนธรรม การหาพันธมิตรคู่ค้า การศึกษาตลาด และความต้องการของผู้บริโภค ในขณะที่ผู้ประกอบการที่มีความแข็งแกร่งในตลาดภายในประเทศแล้ว ควรมองหาโอกาสที่จะขยายตลาดไปในประเทศเพื่อนบ้านเช่น เวียดนาม เมียนมาร์และ อินโดนีเซีย เป็นต้น โดยการศึกษาตลาด และความต้องการของผู้บริโภค รวมไปถึงการหาพันธมิตรคู่ค้า

หากนักลงทุนไทยสามารถคว้าโอกาสในการลงทุนและขยายตลาดจากการเข้าเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้ก็จะเป็นเรื่องที่น่ายินดี ทั้งนี้หน่วยงานภาครัฐทั้งในส่วนของกระทรวงพาณิชย์และสำนักงาน BOI ก็พร้อมที่จะให้คำปรึกษา ช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการลงทุนในต่างประเทศแต่มองเห็นโอกาสในการลงทุนในต่างประเทศได้

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


แท็ก อาเซียน  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ