มาตรการกักสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ณ จุดผ่านแดนของสหภาพยุโรป : สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 14, 2014 15:00 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

มาตรการกักสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ณ จุดผ่านแดนของสหภาพยุโรป : สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

(EU'S BORDER MEASURES FOR SUSPENSION OF RELEASE OF GOODS INFRINGING INTELLECTUAL PROPERTY RIGHTS: GEOGRAPHICAL INDICATIONS GOODS)

ประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) กับสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นความตกลงที่จัดทำกับประเทศพัฒนาแล้วและมีมาตรฐานสูง มีลักษณะเป็น FTA ยุคใหม่ที่ขยายขอบเขตครอบคลุมไปยังข้อบทเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Rights : IPR) ซึ่ง FTA ที่ผ่านมาไทยเจรจาจำกัดเฉพาะความร่วมมือในภาพรวม และการบังคับใช้กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่สอดคล้องกับความตกลงว่าด้วยเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา (Agreement on Trade Related Aspects of Intellectual Property Rights: TRIPs)1 อย่างไรก็ตาม FTA ที่สหภาพยุโรปทำกับประเทศคู่ค้าได้มีการเจรจา เรื่องมาตรการกักสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ณ จุดผ่านแดน (Border Measures) ของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI) ด้วย

GI ประกอบด้วย 2 องค์ประกอบ คือ ธรรมชาติที่สร้างสิ่งแวดล้อมหรือวัตถุดิบให้แก่การผลิตสินค้า และมนุษย์ในท้องถิ่นนั้น ก่อให้เกิดสินค้าที่มีคุณภาพหรือคุณลักษณะพิเศษเฉพาะของแต่ละท้องถิ่น GI จึงหมายถึง ชื่อ/สัญลักษณ์ที่ใช้แทนแหล่งภูมิศาสตร์และบ่งบอกว่าสินค้าเกิดจากแหล่งภูมิศาสตร์ที่มีคุณภาพ/ชื่อเสียง/ลักษณะเฉพาะของแหล่งภูมิศาสตร์ดังกล่าว ซึ่งแตกต่างจากสินค้าที่ผลิตในแหล่งผลิตอื่น2 โดยการคุ้มครอง GI จะให้สิทธิชุมชน หรือสิทธิของกลุ่มคนที่อยู่ในท้องถิ่นผลิตสินค้า GI นั้น

ไทยและสหภาพยุโรปเป็นภาคีขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) ซึ่งต้องปฏิบัติตามพันธกรณีในความตกลง TRIPs เรื่อง การคุ้มครอง GI ความตกลง TRIPs ระบุการคุ้มครอง GI ในมาตรา 22 คือ ระดับธรรมดา ซึ่งป้องกันไม่ให้นำชื่อ GI ไปใช้ในลักษณะที่จะทำให้สาธารณชนสับสนและหลงผิด และระดับพิเศษ ตามมาตรา 23 ซึ่งห้ามไม่ให้ผู้อื่นอ้างอิงชื่อทุกกรณีที่ใช้คำว่า ชนิด ประเภท และแบบ เป็นต้น เช่น กรณีผ้าไหมยกดอกลำพูน ซึ่งเป็นสินค้า GI ของจังหวัดลำพูน ผู้ผลิตในพื้นที่อื่นไม่สามารถใช้ชื่อ "ผ้าไหมยกดอกลำพูน" "ผ้าไหมยกดอกเชียงใหม่ ผลิตแบบผ้าไหมยกดอกลำพูน" หรือ "ผ้าไหมประเภทเดียวกับผ้าไหมยกดอกลำพูน ผลิตที่เชียงใหม่" กรณีชีส Feta ซึ่งเป็นสินค้า GI ของกรีซ ผู้ผลิตในพื้นที่อื่นไม่สามารถใช้ชื่อ "Feta-style" หรือ "imitation Feta" เป็นต้น ปัจจุบันไทยให้การคุ้มครอง GI ในระดับพิเศษ 4 รายการ คือ ข้าว ไหม ไวน์ สุรา

นอกจากนั้น ไทยและสหภาพยุโรปต้องปฏิบัติตามมาตรา 51-60 เรื่อง ข้อกำหนดสิทธิพิเศษเกี่ยวกับมาตรการ ณ จุดผ่านแดน ซึ่งได้บัญญัติข้อกำหนดขั้นต่ำที่ประเทศสมาชิกต้องจัดให้มีมาตรการกักสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ณ จุดผ่านแดน ซึ่งเป็นมาตรการด้านศุลกากรระงับ/ปล่อยสินค้าต้องสงสัยว่าจะละเมิด IPR อย่างไรก็ดี สหภาพยุโรปมีกฎระเบียบว่าด้วยเรื่องมาตรการกักสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ณ จุดผ่านแดน ที่บังคับใช้มาตรการที่ครอบคลุม IPR ทุกประเภท ซึ่งรวมถึง GI ด้วย

1. ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ณ จุดผ่านแดน ของสหภาพยุโรป

การคุ้มครอง IPR มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป โดยมีอุตสาหกรรมที่ได้รับการคุ้มครอง IPR ในสหภาพยุโรปร้อยละ 39 ของจำนวนอุตสาหกรรมในสหภาพยุโรปทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 4.7 พันล้านยูโรต่อปี และมีการจ้างงานในอุตสาหกรรมที่ได้รับการคุ้มครอง IPR คิดเป็นร้อยละ 26 ของการจ้างงาน ในสหภาพยุโรปทั้งหมด หรือประมาณ 56 ล้านคนในสหภาพยุโรป3สหภาพยุโรปมีความเข้มงวดในการควบคุมตรวจสอบสินค้าที่ผ่านเข้าออกเป็นอย่างมาก เพราะสินค้าที่ผ่านด่านศุลกากรเข้าสู่สหภาพยุโรปได้นั้น สามารถเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศสมาชิกได้อย่างเสรี สหภาพยุโรปมองว่าการละเมิด IPR นำมาซึ่งความเสียหายทางเศรษฐกิจ และความไม่เป็นธรรมต่อผู้ผลิต ปัจจุบัน สถานการณ์การพบการละเมิด IPR ของสหภาพยุโรปมีแนวโน้มสูงขึ้น จนอาจนำมาสู่การปราบปรามการละเมิด IPR อย่างจริงจัง ซึ่งอาจกระทบต่อสินค้าไทยที่ผ่านเข้าออกสหภาพยุโรปได้ คณะกรรมาธิการยุโรปได้รายงานสถิติการกักสินค้าที่ละเมิด IPR ของศุลกากรสหภาพยุโรป ปี 2555 4 พบว่า 1.1 มีการกักสินค้าที่สงสัยว่าละเมิด IPR จำนวน 90,473 คดี เป็นปริมาณสินค้า 39,917,445 ชิ้น ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 896,891,786 ยูโร และมีแนวโน้มเพิ่มากขึ้น

1.2 พิจารณาจากมูลค่าสินค้าที่ถูกกัก ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีน รองลงมา คือ ฮ่องกง ตุรกี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตามลำดับ ไทยอยู่ในอันดับที่ 6

1.3 ประเภทของสินค้าที่พบการละเมิด IPR มากที่สุดคือ บุหรี่ วัสดุบรรจุภัณฑ์ เสื้อผ้า ของเล่น น้ำหอมและเครื่องสำอาง ตามลำดับ

1.4 การละเมิด IPR มักตรวจพบจากการลักลอบนำเข้ามาในบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กขนส่งทางไปรษณีย์และการส่งพัสดุ

1.5 สินค้าที่ถูกกัก ณ จุดผ่านแดน จำนวนกว่าร้อยละ 90 ถูกพิสูจน์และยืนยันว่าละเมิด IPR จริง เป็นสินค้าละเมิดเครื่องหมายการค้า ออกแบบ และสิทธิบัตร ตามลำดับ โดยร้อยละ 77 ถูกทำลาย และร้อยละ 14 ฟ้องร้องเป็นคดีความ และอีกร้อยละ 8 ถูกปล่อยให้เข้าสหภาพยุโรปได้เพราะไม่มีการยืนยันจากเจ้าของสิทธิ

1.6 ด่านศุลกากรของประเทศเบลเยี่ยมเป็นด่านที่ตรวจพบสินค้าละเมิด IPR มากที่สุด มีการใช้มาตรการกว่า 6,692 ครั้ง และกักสินค้าต้องสงสัยได้กว่า 2.31 ล้านชิ้น เพราะเบลเยี่ยมมีท่าเรือ Antwerp ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของสหภาพยุโรป และมีตู้ container ผ่านเข้าออกกว่า 9 ล้านตู้ต่อปี และด่านศุลกากรที่สนามบิน ณ กรุง Brussels ได้ชื่อว่ามีการบังคับใช้มาตรการฯ ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งในสหภาพยุโรป

2. ขั้นตอนการกักสินค้าละเมิด IPR ของศุลกากรในสหภาพยุโรป

ด้วยความสำคัญของ IPR ต่ออุตสาหกรรมในสหภาพยุโรป ตลอดจนการพบการละเมิด IPR ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จึงนำมาสู่การบังคับใช้มาตรการเพื่อต่อต้านการละเมิด IPR สหภาพยุโรปมีการทบทวนกฎระเบียบ EC no. 1383/2003 เรื่องมาตรการการกักสินค้าละเมิด IPR ณ จุดผ่านแดน โดยมีการตรากฎหมายใหม่ภายใต้ EU no. 608/2013 ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2556 โดยมีขั้นตอนทางศุลกากรดังนี้

2.1 เจ้าหน้าที่ศุลกากรของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปมีอำนาจระงับ/ปล่อยสินค้าต้องสงสัย เมื่อพบสินค้าที่สงสัยว่าจะละเมิดตามมาตรา 2 และมีอำนาจตัดสินใจระงับ/ปล่อยสินค้า ภายใน 1 วันทำการ โดยเจ้าหน้าที่จะประสานเจ้าของสิทธิเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในขั้นต้น

2.2 ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ตัดสินใจกักสินค้า หากเป็นกรณี ex-officio action หรือการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ศุลกากรโดยปราศจากการแจ้งจากเจ้าของสิทธิ6 เจ้าหน้าที่จะแจ้งต่อเจ้าของสิทธิ หรือตัวแทนเจ้าของสิทธิ เพื่อตรวจสอบสินค้า (สามารถกักสินค้าภายใน 3 วันทำการ) และหากเป็นกรณีการแจ้งเหตุให้กักสินค้าโดยเจ้าของสิทธิ (application action) เจ้าของสิทธิสามารถยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการกักและตรวจสอบสินค้าต้องสงสัย (สามารถกักสินค้าภายใน 10 วันทำการ)

2.3 เจ้าหน้าที่จะดำเนินตามขั้นตอนการตรวจสอบ โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างของสินค้า (Sampling)7 และส่งไปให้เจ้าของสิทธิวิเคราะห์ตัวอย่างสินค้า และส่งตัวอย่างและผลการวิเคราะห์กลับมายังเจ้าหน้าที่เพื่อวิเคราะห์เชิงเทคนิคอีกครั้ง เจ้าของสิทธิจะแจ้งผลเจ้าหน้าที่ภายใน 10 วัน (หรือ 3 วันสำหรับของกลางที่มีอายุเก็บรักษาสั้น)

2.4 เมื่อการวิเคราะห์ตัวอย่างเสร็จสิ้นและแสดงผลยืนยันว่าละเมิด IPR เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการดำเนินการทำลายของกลาง หากเจ้าของสินค้าคัดค้านการยึดของกลาง สามารถนำเข้ากระบวนการฟ้องร้องคดีได้

2.5 สินค้าที่ละเมิด IPR จะไม่สามารถเข้ามายังเขตแดน ปล่อยให้เครื่องย้ายเสรี ส่งออก re-export นำเข้าในเขตปลอดอากร หรือ ถูกนำออกจากอาณาเขตของด่านศุลกากรของสหภาพยุโรปได้

ความแตกต่างและเข้มข้นของกฎระเบียบใหม่ EU no. 608/2013 คือ

1) ขยายประเภทของสินค้า IPR ต้องสงสัยครอบคลุมไปถึง ชื่อสินค้า การออกแบบแบบผังภูมิเซมิคอนดัคเตอร์ ความหลากหลายทางชีวภาพ และอุปกรณ์/ส่วนประกอบ/สินค้า/โปรแกรมสำหรับใช้สวมสิทธิแหล่งกำเนิด

2) ขยายความหมายของสินค้าละเมิด IPR โดยให้รวมถึงบรรจุภัณฑ์ ฉลาก สติ๊กเกอร์ แผ่นพับ และสิ่งอื่นๆ ที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้า

3) มีการใช้ Custom Action Application Form ร่วมกันของศุลกากรในสหภาพยุโรป และเพิ่มรายละเอียดในแบบฟอร์มให้เจ้าของสิทธิสามารถให้ข้อมูลแก่เจ้าหน้าที่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น10

4) มีการบัญญัติขั้นตอนการทำลายสินค้าต้องสงสัยขนาดเล็ก11 โดยให้อำนาจเจ้าหน้าที่ศุลกากรทำลายสินค้าต้องสงสัยขนาดเล็กได้โดยเจ้าของสินค้าไม่ต้องสำแดงหรือให้ความยินยอม ทั้งนี้ เจ้าของสิทธิสามารถเลือกให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามขั้นตอนนี้โดยระบุไว้ใน Custom Action Application Form ขั้นตอนนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการปราบปรามการละเมิด IPR จากการซื้อขายผ่านอินเตอร์เนต

3. การตรวจสอบสินค้าต้องสงสัยละเมิด GI

สหภาพยุโรปมีการบังคับใช้กฎระเบียบ EU no.1151/2012 เรื่อง คุณภาพของสินค้าเกษตรและอาหาร12 เพื่อบังคับใช้การคุ้มครองสินค้า GI ในสินค้าเกษตรและอาหาร13 โดยให้อำนาจประเทศสมาชิกแต่งตั้งหน่วยงานที่มีอำนาจรับผิดชอบตามกฎหมาย14 และจัดทำการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับสินค้า GI ตั้งแต่ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนสินค้า การคุ้มครอง การควบคุม และการบริหารจัดการอื่นๆ โดยให้สินค้าเป็นไปตามคุณลักษณะและมาตรฐานที่กำหนดไว้15 ตลอดจนยับยั้งไม่ให้เกิดการละเมิดหรือกระทำผิดต่อ GI นอกจากนี้ ยังมีมาตรการการควบคุม เช่น การตรวจสอบ ติดตาม เรียกคืน การจำกัดการจำหน่าย การระงับ หรือ การลงโทษ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยในอาหารและคุ้มครองสวัสดิภาพของคนและสัตว์16 โดยมีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับมาตรการกักสินค้าละเมิด GI ดังนี้ 3.1 ชื่อ GI ได้รับการปกป้องจากการกระทำ ได้แก่

1) การนำชื่อ GI ที่ได้รับความคุ้มครองไปใช้เชิงพาณิชย์ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมกับสินค้าที่ใกล้เคียงกันแต่ไม่ได้มาตรฐาน หรือกับสินค้าที่โฆษณาอ้างอิงชื่อเสียงของ GI ที่ได้รับความคุ้มครอง

2) การใช้โดยมิชอบ ลอกเลียน หรืออ้างอิง แม้ว่าสินค้านั้นจะระบุแหล่งกำเนิดที่แท้จริงก็ตาม หรือนำชื่อ GI ที่ได้รับความคุ้มครองมาแปล ถอดคำอ่าน หรือใช้ถ้อยคำ ประเภท ชนิด สไตล์ วิธี รสชาติ และเหมือนสินค้า GI/ เหมือนกับที่ผลิตในแหล่งสินค้า GI เป็นต้น

3) การแสดงถ้อยคำอื่นๆ ที่อาจเป็นเท็จ สร้างความสับสนเกี่ยวกับแหล่งกำเนิด ธรรมชาติ คุณลักษณะเฉพาะของสินค้า บนหีบห่อภายในและภายนอก หรือวัสดุโฆษณา หรือเอกสารต่างๆ หรือการบรรจุให้บรรจุภัณฑ์ที่สร้างความเข้าใจผิดถึงแหล่งกำเนิดได้

4) การกระทำอื่นใดที่สร้างความสับสนหลงผิดให้กับผู้บริโภคถึงแหล่งกำเนิดที่แท้จริง 3.2 การตรวจสอบสินค้าต้องสงสัยละเมิด GI 17 ใช้ 2 วิธีประกอบกัน คือ

1) การสังเกต Organoleptic หมายถึง ลักษณะทางกายภาพของสินค้าที่ผิดไปจากปกติ โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากร ซึ่งต้องสังเกตจากหลักฐานที่ปรากฏ ดังต่อไปนี้

  • ชื่อที่บ่งชี้แหล่งที่มาของสินค้า ไม่ว่าจะใช้ภาษาใดก็ตาม
  • คำอธิบายสินค้าที่แสดงถึงวัตถุดิบ ไปจนถึงลักษณะทางกายภาพ และ Organoleptic
  • หลักฐานที่ระบุแหล่งที่มาทางภูมิศาสตร์ของสินค้า
  • คำอธิบายวิธีการได้มาของสินค้า ตลอดจนการบรรจุภัณฑ์ ที่แสดงถึงการควบคุมคุณภาพ
  • ข้อมูลที่ระบุความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพ/คุณลักษณะเฉพาะของสินค้ากับแหล่งที่มาทางภูมิศาสตร์
  • ข้อมูลและที่อยู่ของผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองให้ผลิตสินค้า GI

2) การสุ่มและการวิเคราะห์ตัวอย่าง จะดำเนินการตามกฎระเบียบ EC no. 882/2004 เรื่อง official controls performed to ensure the verification of compliance with feed and food law, animal health and animal welfare rules มาตรา 11 เรื่อง วิธีการสุ่มและการวิเคราะห์ตัวอย่าง ทางวิทยาศาสตร์โดยอ้างอิงจาก product specifications 18สำหรับ Product Specification แต่ละชนิดต้องอาศัยข้อมูลคุณลักษณะที่บ่งชี้จุดสังเกตุของสินค้า GI นั้นๆ อาศัยกฎระเบียบ EC no. 110/2008 (spirits) EC no. 1601/91 (aromatized drinks) และ EC no. 1234/2007 19 (ไวน์) และกฎหมายภายในของประเทศสมาชิก ตลอดจนความตกลงที่สหภาพยุโรปทำกับประเทศคู่ค้า

นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังมีการพัฒนาประสิทธิภาพของการดำเนินการของศุลกากร เพื่อต่อต้านการละเมิด IPR โดยมีการกำหนด EU Customs Control plan to combat IPR infringement 2013-2017 ซึ่งประเทศสมาชิกต้องนำแผนการไปปฏิบัติ เช่น พัฒนาการบังคับใช้กฎระเบียบใหม่ด้านศุลกากร เพิ่มการมีส่วนร่วมของศุลกากรเจ้าของสิทธิ และผู้มีส่วนได้เสีย สร้างความเข้มแข็งในหลักเกณฑ์/ขั้นตอน Risk assessment เน้นการตรวจสอบสินค้าในบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก และพุ่งเป้าไปยังสินค้าจากประเทศที่สาม โดยเฉพาะจีนและฮ่องกง การศึกษาแนวโน้มการค้าสินค้าละเมิด IPR และการสะกดรอยกระบวนการละเมิด IPR ระหว่างประเทศ เป็นต้น

4. ความเห็น/ข้อสังเกต

4.1 ปัจจุบันสหภาพยุโรปได้ทบทวนกฎระเบียบเรื่องมาตรการการกักสินค้าละเมิด IPR ณ จุดผ่านแดนใหม่ และการกำหนด EU Customs Control plan to combat IPR infringement 2013-2017 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปราบปรามการละเมิด IPR เนื่องจากอุตสาหกรรมที่ได้รับการคุ้มครอง IPR เป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ซึ่งสหภาพยุโรปมีระบบการคุ้มครอง IPR ที่เข้มข้นสูงกว่ามาตรฐานที่กำหนดในความตกลง TRIPS ประกอบกับการจัดทำ FTA ของสหภาพยุโรปกับประเทศต่างๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้สินค้าผ่านเข้าออกสหภาพยุโรปมากขึ้น

4.2 ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสถิติการถูกกักสินค้าละเมิด IPR ในสหภาพยุโรปสูง อาจถูกจับตามองและมีการสุ่มตรวจสินค้าไทยอย่างเข้มข้นขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระยะเวลาและระบบโลจิสติกส์ของการส่งสินค้าไทยไปยังสหภาพยุโรป

4.3 มาตรการกักสินค้าละเมิด IPR ณ จุดผ่านแดนของสหภาพยุโรป ในขั้นตอนการสุ่มตรวจสินค้าละเมิด GI ไม่ได้แตกต่างจากขั้นตอนการสุ่มตรวจสินค้าละเมิด IPR ชนิดอื่น อย่างไรก็ดี ขั้นตอนการตรวจสอบการละเมิด GI อาศัยฐานข้อมูล product specification ที่ระบุจุดสังเกต Organoleptic และความสัมพันธ์กันระหว่างคุณภาพ/คุณลักษณะเฉพาะของสินค้ากับแหล่งที่มาทางภูมิศาสตร์ที่ชัดเจนง่ายต่อการสังเกต

4.4 ปัจจุบันกรมทรัพย์สินทางปัญญามีการจัดทำคู่มือปฏิบัติงานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ซึ่งได้จดทะเบียน GI ในสหภาพยุโรปสำหรับการให้ความคุ้มครองแล้ว อย่างไรก็ดี ในอนาคต หากไทยมีการขึ้นทะเบียนสินค้า GI เพิ่มขึ้น คู่มือปฏิบัติงานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สินค้าชนิดต่างๆ จะเป็นฐานข้อมูลสำคัญสำหรับตรวจสอบการละเมิด GI

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ