'มาเลเซีย' กับการปรับปรุงกฎระเบียบด้านการลงทุน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 3, 2014 15:00 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

มาเลเซียเป็นหนึ่งในสิบประเทศสมาชิกอาเซียนที่อยู่ในกลุ่มประเทศผู้ก่อตั้งอาเซียน ตั้งอยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตร ประกอบด้วยดินแดนสองส่วน คือ มาเลเซียตะวันตกที่ตั้งอยู่บนคาบสมุทรมลายู (ประกอบด้วย 11 รัฐ คือ ปาหัง สลังงอร์ เนกรีเซมบิลัน มะละกา ยะโฮร์ เปรัค กลันตัน ตรังกานู ปีนัง เคดาห์ และเปอร์ลิส) และมาเลเซียตะวันออกที่ตั้งอยู่บนเกาะบอร์เนียว (ประกอบด้วย 2 รัฐ คือ ซาบาห์และซาราวัค ยังมีเขตการปกครองภายใต้สหพันธรัฐอีก 3 เขต คือ กรุงกัวลาลัมเปอร์ซึ่งเป็นเมืองหลวง เมืองปุตราจายาซึ่งเป็นเมืองราชการ และเกาะลาบวน) มาเลเซียมีประชากรประมาณ 30 ล้านคน โดยประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมดมีเชื้อชาติมาเลย์ อีกหนึ่งในสี่มีเชื้อชาติจีน ที่เหลือเป็นอินเดียและชนพื้นเมือง

มาเลเซียเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ จนเป็นที่คาดหมายว่าเป็นประเทศที่สองของอาเซียนที่จะก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วต่อจากสิงคโปร์ โดยนโยบายเศรษฐกิจของมาเลเซียมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2563 (Vision 2020) ที่เน้นการสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงควบคู่ไปกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นอกจากนี้ มาเลเซียยังได้วางนโยบายเศรษฐกิจสืบต่อจาก Vision 2020 คือนโยบายวิสัยทัศน์แห่งชาติ (National Vision Policy: NVP) ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างมาเลเซียให้เป็น "ประเทศที่มีความยืดหยุ่นคงทนและมีความสามารถในการแข่งขัน" โดยจะลดความสำคัญของการลงทุนที่ทำให้เกิดการเจริญเติบโตที่ไม่ยั่งยืนและไม่มีประสิทธิภาพลง และให้ความสำคัญต่อประเด็นใหม่คือ การเติบโตที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของประสิทธิภาพการผลิตโดยรวม โดยจะเน้นการลงทุนที่มีการค้นคว้าและวิจัยและเทคโนโลยีสูง

ในด้านการลงทุน มาเลเซียประสบความสำเร็จอย่างสูงในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยในช่วงระหว่างปี 2551 - 2555 การลงทุนทางตรงในมาเลเซียเพิ่มสูงขึ้นถึง 58.8% โดยมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไหลเข้าไปสู่มาเลเซียสูงเป็นอันดับสาม เมื่อเทียบกับประเทศสมาชิกอื่นๆในอาเซียน หน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ส่งเสริมการลงทุนของมาเลเซีย คือ Malaysian Investment Development Authority หรือมีชื่อย่อว่า MIDA โดย MIDA มีหน้าที่ส่งเสริมการลงทุนในสาขาการผลิตและสาขาบริการทุกสาขา (ยกเว้นการเงินและ สาธารณูปโภค)

ในปี 2553 MIDA ได้แต่งตั้งคณะกรรมการด้านการลงทุนแห่งชาติ (National Committee on Invesments: NCI) เพื่อทำหน้าที่พิจารณาและอนุมัติใบอนุญาตประกอบการผลิต การได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษี และการได้รับยกเว้นภาษีศุลกากร ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา การอนุมัติในเรื่องเหล่านี้เป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่แตกต่างกันไป แต่ปัจจุบัน NCI มีอำนาจในการอนุมัติใบสมัครการขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีได้ทันที สำหรับใบอนุญาตการประกอบการผลิต (Industrial Coordination Act 1975 กำหนดให้กิจการที่เงินทุนจดทะเบียนตั้งแต่ 2.5 ล้านริงกิตขึ้นไป หรือมีพนักงานเต็มเวลาตั้งแต่ 75 คนขึ้นไป ต้องขอใบอนุญาตประกอบการผลิต) NCI สามารถ ออกใบอนุญาตได้ภายใน 7 วัน ยกเว้นว่าจะเป็นการผลิตที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอ่อนไหว ความมั่นคง ความปลอดภัย สุขอนามัย สิ่งแวดล้อม และที่เกี่ยวข้องกับศาสนา รวมถึงโครงการที่อยู่ในเขตซาบาห์และซาราวัค หรือโครงการที่ต้องขออนุญาตตาม Petroleum Development Act ซึ่ง NCI จะสามารถออกใบอนุญาตได้ภายใน 4 สัปดาห์

กฎระเบียบที่กำกับดูแลการลงทุนในมาเลเซียทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ Promotion of Investments ACT (PIA) และ Industrial Co-ordination Act (ICA) โดย PIA จะกำหนดกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการจัดตั้งธุรกิจในกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางกิจกรรม รวมทั้งการส่งเสริมการส่งออก สำหรับ ICA ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2518 มีวัตถุประสงค์ที่จะรักษาระดับการพัฒนาและการเติบโตในภาคการผลิตของมาเลเซีย และกำหนดให้กิจการการผลิตขนาดใหญ่ต้องขออนุญาตประกอบการ

สภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจของมาเลเซียได้รับการประเมินในเชิงบวกจากหลายองค์กร โดยในปี 2556 ธนาคารโลกจัดให้มาเลเซียอยู่ในอันดับที่ 12 จาก 185 ประเทศ ในแง่ดัชนีการประกอบธุรกิจ (Doing Business Index) ส่วนรายงานการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของ World Economic Forum ในปี 2555-2556 มาเลเซียถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 25 จาก 144 ประเทศ และยังถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 24 จาก 124 ประเทศจากรายงาน Global Enabling Trade Report ปี 2555 ของ World Economic Forum เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้มาเลเซียถูกจัดอยู่ในอันดับต้นๆ ของแหล่งต่างๆ เนื่องมาจากการคุ้มครองนักลงทุนที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูง ต้นทุนในการนำเข้าส่งออกที่ค่อนข้างต่ำ มีตลาดสำหรับสินค้าและบริการที่มีประสิทธิภาพและมีความสามารถในการแข่งขัน มีภาคการเงินที่สนับสนุนการทำธุรกิจเป็นอย่างดี มีโครงสร้างพื้นฐานในการขนส่งและบริการที่เกี่ยวข้องที่มีคุณภาพ รวมทั้งมีกฎหมายเกี่ยวกับการลงทุนที่ค่อนข้างโปร่งใส และไม่เป็นภาระต่อธุรกิจมากเกินไป ธนาคารโลกได้ยกย่องมาเลเซียในการลดระยะเวลาในการออกใบอนุญาตสำหรับการประกอบธุรกิจก่อสร้าง และสำหรับการจดทะเบียนทรัพย์สิน อย่างไรก็ตาม มาเลเซียได้รับการประเมินในแง่ระดับความพร้อมทางเทคโนโลยีที่ค่อนข้างต่ำ โดยปัจจัยที่สำคัญที่นักลงทุนคิดว่าเป็นปัญหาในการลงทุนในมาเลเซีย เช่น ระบบราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพ การฉ้อราษฎร์บังหลวง และปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวกับแรงงาน

ในช่วงที่ผ่านมา มาเลเซียได้มีความพยายามดำเนินการในการปรับปรุงกฎระเบียบเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจให้มีความทันสมัย โดยมีการทบทวนข้อกำหนดในการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจที่เป็นภาระและไม่เหมาะสมในยุคปัจจุบัน ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องถึง 761 ข้อ โดยจากการทบทวนกฎระเบียบ ทำให้ในปี 2555 รัฐบาลมาเลเซียสามารถตัดข้อกำหนดต่างๆ ที่ล้าสมัยออกไปถึง 386 ข้อ และปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็อยู่ในระหว่างพิจารณาส่วนที่เหลือ และคิดว่าในอนาคตจะสามารถดำเนินการได้เพิ่มขึ้น ทำให้ช่วยลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจได้อีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ รัฐบาลมาเลเซียยังอำนวยความสะดวกในการขอใบอนุญาตก่อสร้าง โดยลดขั้นตอนการขออนุญาตจาก 37 เหลือเพียง 10 ขั้นตอน โดยระยะเวลาลดลงจาก 140 วันเหลือเพียง 100 วัน

ในแง่นโยบายการลงทุนจากต่างประเทศ รัฐบาลมาเลเซียให้ความสำคัญกับการลงทุนจากต่างประเทศ โดยสนับสนุนให้เกิดการร่วมทุนระหว่างนักลงทุนต่างชาติกับนักลงทุนมาเลเซีย โดยเฉพาะการลงทุนในภาคการผลิต สำหรับภาคบริการ ในช่วงปี 2552-2555 มีอัตราเติบโตเฉลี่ย 5.9% และในปี 2555 ภาคบริการคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ของ GDP รัฐบาลมาเลเซียมีความพยายามที่จะลดเลิกข้อจำกัดของการลงทุนจากต่างชาติในสาขาต่างๆ โดยเฉพาะในสาขาบริการ โดยในปี 2555 มาเลเซียได้เริ่มเปิดเสรีภาคบริการมากขึ้น โดยผ่อนปรนข้อจำกัดเรื่องสัดส่วนการถือหุ้นในภาคบริการถึง 17 สาขาย่อย ซึ่งอยู่ภายใต้ 6 สาขาบริการ ได้แก่ บริการวิชาชีพ บริการสื่อสาร บริการจัดจำหน่าย บริการการศึกษา บริการสิ่งแวดล้อม และบริการที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพ รวมทั้งอนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นได้ถึง 100% ในสาขาบริการบัญชี โดยรัฐบาลมาเลเซียได้จัดบริการเหล่านี้ในกลุ่มที่ถือเป็นสาขาที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ และจะส่งผลให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ มาเลเซียยังได้ขยายเพดานการถือครองทรัพย์สินของต่างชาติ จากเดิมชาวต่างชาติถือครองทรัพย์สินมูลค่าไม่เกิน 500,000 ริงกิต เป็น 1,000,000 ริงกิต

บทวิเคราะห์ เมื่อพิจารณาปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายด้านการค้าและการลงทุนของมาเลเซีย จะเห็นได้ว่า ไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่มาเลเซียเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ จนเป็นที่คาดหมายว่าเป็นประเทศที่สองของอาเซียนที่จะก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วต่อจากสิงคโปร์ รัฐบาลมาเลเซียเล็งเห็นถึงความสำคัญของการปรับปรุงกฎระเบียบ และลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นในการขออนุญาตลงทุนที่ก่อให้เกิดภาระต่อภาคเอกชน รวมถึงให้ความสำคัญต่อการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ทั้งในแง่การลดเลิกข้อจำกัดต่างๆ ทำให้การลงทุนทางตรงหลั่งไหลเข้าไปในมาเลเซียและได้รับการประเมินจากองค์กรต่างๆ ให้ติดอันดับสูงของประเทศน่าลงทุน ไทยคงต้องมองมาเลเซียและกลับมาวิเคราะห์ถึงนโยบายของเราว่าต้องปรับเปลี่ยนจุดใด เพื่อที่จะสามารถแข่งขันหรือร่วมมือกับมาเลเซียได้ ไม่เช่นนั้นแล้วไทยก็อาจจะถูกประเทศเพื่อนบ้าน ไม่เฉพาะมาเลเซียทิ้งห่างออกไปเรื่อยๆ

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000

โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ